16 บิ๊กเอกชนพบบริษัทสหรัฐ นายกฯแย้มทุนมะกันเตรียมสร้างศูนย์ข้อมูลในไทย

14 พ.ย. 2566 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2566 | 10:46 น.

นายกฯ นำ 16 บริษัทเอกชนไทยร่วมงานสัมมนา Networking Reception ที่ซานฟรานฯ ในสหรัฐ ประกาศไทยพร้อมขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ย้ำบรรยากาศเอื้อต่อการลงทุน แย้มทุนใหญ่สหรัฐเตรียมเข้ามาสร้างศูนย์ข้อมูล(data center)ในไทย

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำ คณะผู้บริหารบริษัทเอกชนไทย 16 ราย เข้าร่วม งาน Networking Reception ที่โรงแรม Ritz-Carlton เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วานนี้ (13 พ.ย.ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) โดยในงานดังกล่าว มีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และบริษัทสหรัฐจากกว่า 9 สาขา อาทิ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ การเงิน และ ไบโอเทคโนโลยี เป็นต้น เข้าร่วมด้วย

นายกฯชูจุดแข็งไทยดึงดูดการลงทุน

นายกฯ กล่าวปาฐกถาเปิดงานว่า ประเทศไทยเปิดกว้างและพร้อมเปิดรับภาคธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ การเดินทางเข้าร่วมประชุมเอเปคที่ซานฟรานซิสโก จึงได้นำภาคเอกชนชั้นนำของไทยที่ต้องการพบปะกับภาคเอกชนสหรัฐมาร่วมด้วย เชื่อว่ากิจกรรมนี้จะเปรียบเสมือน “สะพานเชื่อมต่อ” เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะผู้บริหารบริษัทเอกชนไทย 16 ราย เข้าร่วม งาน Networking Reception ที่นครซานฟรานซิสโก

ทั้งนี้ ไทยและสหรัฐอเมริกา เป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดมาอย่างยาวนานในหลายระดับและหลายมิติ ทั้งความสัมพันธ์ทางการทูต เศรษฐกิจ และการลงทุน โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ ซึ่ง ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ การค้าทวิภาคีไทย-สหรัฐมีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของไทย

ขณะที่ด้านการลงทุน จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แสดงให้เห็นว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา สหรัฐเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับสามของไทย ด้วยเงินลงทุนรวม 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อต้นปีนี้ (2566)ไทยได้ต้อนรับคณะผู้แทนจาก Trade Winds ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำปีของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่นำนักธุรกิจอเมริกันมาเยือนต่างประเทศ โดยในปีนี้ สหรัฐเลือกจัดกิจกรรมในประเทศไทย มีบริษัทในสหรัฐมากกว่า 100 แห่งที่เป็นตัวแทนของ 20 ภาคส่วน มาสร้างเครือข่ายธุรกิจ จับคู่ทางธุรกิจ และพบปะหารือกับผู้แทนรัฐบาลและภาคเอกชนของไทย

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (2566) การค้าทวิภาคีไทย-สหรัฐมีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สถิติเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่แข็งแกร่งระหว่างไทยและสหรัฐ

นายกฯ ได้ใช้โอกาสนี้ กล่าวย้ำว่า ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุนและมีศักยภาพการเติบโตสูงมากในเอเชีย ด้วยแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจมหภาคที่ดี เสถียรภาพทางการเมือง การบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ และสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการลงทุน ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายสำคัญ และเปิดโอกาสสำหรับภาคเอกชนสหรัฐ ดังนี้

ด้านการลงทุน ไทยมีนโยบายผลักดันประเทศสู่ “เศรษฐกิจใหม่ (New Economy)” ที่มีทั้งนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และครอบคลุมทุกภาคส่วน ซึ่งใน 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยมุ่งส่งเสริมการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) BCG (2) อุตสาหกรรมยานยนต์ (3) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (4) อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ (5) การเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค

“เป้าหมายเหล่านี้จะสร้างโอกาสให้นักลงทุนสหรัฐในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและบริการสำหรับการดำเนินธุรกิจในเอเชีย และทั่วโลก” นายกฯ กล่าว

ด้านความยั่งยืน รัฐบาลมุ่งมั่นสร้างการเติบโตสีเขียวและยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 ซึ่งความพยายามดังกล่าวสอดคล้องกับปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ผู้นำเอเปคได้รับรองไว้เมื่อปี 2022 กับธีมการประชุมเอเปคของสหรัฐในปีนี้ คือ “การสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน” (Creating a Resilient and Sustainable Future for All)

ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ จุดแข็งของไทยคือการเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ในอาเซียน และใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก ซึ่งจากพื้นฐานที่มั่นคงนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยเป้าหมาย the 30@30 เพื่อผลิตรถยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicles : ZEVs) อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการ EV แห่งชาติได้อนุมัติมาตรการส่งเสริม EV 3.5 (ปี 2024-2027) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรม EV ทั้งระบบ นโยบาย EV ของไทยดึงดูดการลงทุนเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบและสถานีชาร์จ ไทยเป็นประเทศที่ใช้รถ EV สูงที่สุดในอาเซียน โดยมีจำนวน BEV ที่จดทะเบียนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่ประมาณ 68,000 คัน

ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักดีถึงความสำคัญของห่วงโซ่อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความยืดหยุ่น เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จึงเป็นเหตุผลให้ไทยยังคงรักษาสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เอื้ออำนวยและปราศจากความเสี่ยง พร้อมด้วยอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี และแรงงานที่มีทักษะสูง รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความสามารถทางดิจิทัลอีกด้วย  

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้โครงการ Digital Wallet จะวางรากฐาน สําหรับระบบการชําระเงิน blockchain ทั่วประเทศและเปิดโอกาสรับการลงทุนจากต่างประเทศใน FinTech

ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศไทยยังได้จัดตั้ง HQ Biz Portal เป็นศูนย์บริการครบวงจร (One-stop-service) เพื่ออำนวยความสะดวก ดูแลการทำงานให้บริษัทที่ต้องการจัดตั้งสํานักงานใหญ่ประจําภูมิภาคในประเทศไทย อีกทั้งรัฐบาลยังได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Projects) ปรับปรุงความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่และเพื่อให้มั่นใจถึงความยืดหยุ่นทางธุรกิจ 

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Mega Project มูลค่า 28,000ล้านดอลลาร์ ที่จะช่วยให้ตระหนักถึงวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งการพาณิชย์และโลจิสติกส์ และอีกจุดมุ่งหมายของรัฐบาลคือ การเพิ่มความสะดวกในการทําธุรกิจในประเทศไทย (ease of doing business) การให้วีซ่าพํานักระยะยาว (Long-Term Resident Visa) อํานวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติได้พักอาศัยและทํางานในประเทศไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น

นายกฯยังได้ย้ำถึงแนวทางการทำงานที่เคยให้ไว้เมื่อครั้งเข้าร่วมการประชุม UNGA ที่นิวยอร์ก ว่า “What should have been done --- I will get it done” รัฐบาลมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ในการสร้างธุรกิจ และโอกาสการลงทุนใหม่ๆ พร้อมกับบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออํานวย โดยพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนประสบความสำเร็จในการลงทุนและทำธุรกิจในประเทศไทย

"ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะนโยบายหลักของรัฐบาลตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศให้รับทราบว่าประเทศไทยเปิดกว้างรับนักลงทุนแล้ว"

มั่นใจการลงทุนหลั่งไหล ดึงทุนใหญ่สร้างศูนย์ข้อมูล

ภายในงานเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า มีความมั่นใจการลงทุนในไทยกำลังจะเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถดึงเอกชนรายใหญ่ของสหรัฐเตรียมเข้ามาสร้างศูนย์ข้อมูล (data center)ในไทย ซึ่งเกี่ยวกับกิจกรรมพบหารือระหว่างภาคเอกชนไทยและภาคเอกชนสหรัฐครั้งนี้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยสาระสำคัญเพิ่มเติมว่า

  • นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนภาคเอกชนกล่าวข้อเสนอแนะให้กับนายกรัฐมนตรี โดยอยากให้นำนโยบายประเทศที่ประสบความสำเร็จ อาทิ สิงคโปร์ ดูไบ เวียดนาม และอินโดนีเซียมาเป็นแนวทาง โดยเสนอให้รัฐบาล ปรับนโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้ทำศูนย์รวมบริการแบบครบวงจร หรือ all services center โดยเน้นย้ำธุรกิจประเภทเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อดึงดูดนักลงทุน และให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ 
  • เกี่ยวกับข้อเสนอแนะดังกล่าว นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับการนำนโยบายของประเทศที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้ แต่ก็เห็นว่าประเทศไทยมีข้อจำกัด เพราะบางนโยบายต้องใช้เงิน และ 8-9 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ทำให้เสียโอกาสด้านการลงทุน ซึ่งจะเห็นว่าการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาเพียงเรื่องค่าแรง แต่เป็นเพราะไทยไม่มีความตกลง FTA ใหม่ๆ ด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลนี้มีการผลักดันการเจรจาความตกลง FTA อย่างจริงจัง
  • นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะนโยบายหลักของรัฐบาลตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศให้รับทราบว่าประเทศไทยเปิดกว้างรับนักลงทุนแล้ว เช่น ในวันนี้มีการหารือกับบริษัท Microsoft ซึ่งจะมีข่าวดีในเร็วๆนี้ โดยจะมีเอกชนรายใหญ่เข้ามาสร้าง Data Center ในไทย นอกจากนี้ ยังย้ำว่าจะเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนและยืนยันว่า ประเทศไทยพร้อมรับนักลงทุนจากทั่วโลก ด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่นและการอำนวยความสะดวกกับนักลงทุนในทุกด้าน

ท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอของเอกชนในทุกๆด้าน ยืนยันรัฐบาลไม่มีนโยบายขายฝันกับนักลงทุน และเห็นด้วยว่าเรื่องนโยบายเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

“หากพิจารณาในแง่การแข่งขันกัน ประเทศไทยไม่แพ้ใครในภูมิภาค แต่ขอให้เจรจาความตกลง และลงนามในข้อตกลง FTA ให้ได้ เพราะเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และระบบการดูแลสุขภาพของไทยดีกว่า ซึ่งนโยบายเหล่านี้เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน”

พร้อมกันนี้ ยืนยันรัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยอะไรทำได้ จะทำก่อน เชื่อว่าภายในระยะเวลาอันใกล้นี้จะได้เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น

สำหรับผู้บริหารบริษัทเอกชนไทยที่ร่วมคณะนายกรัฐมนตรีไปด้วยนั้น ได้แก่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาเครือเจริญโภคภัณฑ์ , นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จํากัด (มหาชน) , นายพงศภัค นครศรี กรรมการบริหาร บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด

นายสุภรัฐ จิราธิวัฒน์ บริษัท Central Group , นายบุญชัย โอภาสเอี่ยมลิขิต ประธานธุรกิจ-สหรัฐอเมริกา , นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) , นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และนายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการกลุ่มทรูดิจิทัล เป็นต้น