"ปานปรีย์" มอบนโยบาย "การทูตเชิงรุกในโลกแบ่งขั้ว"

20 พ.ย. 2566 | 04:45 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2566 | 23:47 น.

การประชุมเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ทั่วโลกจาก 97 ประเทศเริ่มขึ้นแล้ววันนี้ (20 พ.ย.) "ปานปรีย์" มอบนโยบาย "การทูตเชิงรุกในโลกแบ่งขั้ว" ย้ำทูตยุคใหม่ต้องทำงานเร็วขึ้น สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม


นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิด การประชุมเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ทั่วโลกจาก 97 ประเทศ ที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ เช้าวันนี้ (20 พ.ย.) ภายใต้หัวข้อ “การทูตเชิงรุกในโลกแบ่งขั้ว” ระบุว่า  การทำงานของเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ในยุคนี้ จะเป็นการทำงานแบบเดิมๆ หรือ business as usual ไม่ได้แล้ว แต่ต้องเป็นการทำงานในเชิงรุก และสามารถตอบโจทย์ผลประโยชน์ของประเทศและคนไทยให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม

ย้ำว่า การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชน และขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

การประชุมเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ทั่วโลกประจำปี 2566 (20-24 พ.ย. 2566)

"ในบริบทภายในประเทศ ประชาชนมีความตื่นตัวและสนใจด้านการต่างประเทศมากขึ้น ทำให้การทำงานของเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ต้องมีความรวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมมีความเชื่อมั่นในความรู้ ความสามารถ และความเป็นมืออาชีพของท่านทูตและกงสุลใหญ่ทุกท่านที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการทูตเชิงรุกของไทย"

ทั้งนี้ การประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี 2566 ที่เริ่มขึ้นในวันนี้ (20 พ.ย.) จะมีไปจนถึงวันที่ 24 พ.ย. 2566 ภายใต้หัวข้อหลัก “การทูตเชิงรุกในโลกแบ่งขั้ว” แต่ในหัวข้อย่อย ก็จะมีการประชุมหารือและระดมพลังสมองในหัวข้อต่างๆ โดยในปีนี้จะมีเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายการพาณิชย์ และผู้ช่วยทูตฝ่ายการลงทุน (BOI) จากทั่วโลกเดินทางมาเข้าร่วมรับมอบนโยบายจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน และภาควิชาการ ในโอกาสนี้ด้วย

ขณะเดียวกัน จะมีการหารือเกี่ยวกับประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัฐบาล เช่น การค้าการลงทุน การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว สิ่งแวดล้อม เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน โครงการแลนด์บริจด์ ซอฟต์พาวเวอร์ และการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งโดย สรุปกิจกรรมสำคัญ จะประกอบด้วย

  •  การรับมอบนโยบายรัฐบาลสำคัญ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” จากนายกรัฐมนตรี
  • การรับมอบนโยบายการต่างประเทศจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  
  • การประชุมกับผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ (กระทรวงพาณิชย์) และผู้ช่วยทูตฝ่ายการลงทุน (BOI) เพื่อร่วมกันกำหนดประเทศเป้าหมายสำคัญสำหรับขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก
  • การประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน เพื่อหารือโอกาสในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

\"ปานปรีย์\" มอบนโยบาย \"การทูตเชิงรุกในโลกแบ่งขั้ว\"

หลังเปิดการประชุมโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในวันที่ 20 พ.ย.แล้ว หลังจากนั้นนับตั้งแต่วันที่ 21 จนถึงวันที่ 24 พ.ย. 2566 ทางเอกอัครราชทูตมี หัวข้อประเด็นน่าสนใจจากประเทศต่างๆ มาพูดคุยกับสื่อด้วย อาทิ  

21 พ.ย.

  • สถานการณ์ในเมียนมา การช่วยเหลือคนไทยในเล้าก์ก่าย
  • การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในจีนตอนใต้
  • สถานการณ์ในอิสราเอล-กาซา และการอพยพคนไทย
  • ศักยภาพ Soft Power ไทยสู่ตลาดโลก
  • ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
  • ครบรอบ 10 ปีไทยทาวน์ซิดนีย์ ความสำเร็จของการส่งเสริม Soft Power ผ่านชุมชนไทย

ช่วงบ่ายนายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายต่อเอกอัคคราชทูต กงสุลใหญ่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ และฝ่ายการลงทุน ปิดท้ายด้วยการประชุมระดมสมองหัวข้อ "การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก:ความท้าทายและโอกาสทางเศรษฐกิจในโลกแบ่งขั้ว

22 พ.ย.

  • การฟื้นฟูตลาดซาอุดีอาระเบีย
  • การรุกตลาดใหม่ในแอฟริกา
  • ความเชื่อมโยง และความร่วมมือในการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
  • การหารือระหว่างเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ กับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน
  • โอกาสของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยในเม็กซิโกและเปรู
  • ความสัมพันธ์ไทย-จีน

23 พ.ย.

  • ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ 
  • Digital Content และการผลักดัน Soft Power ในมาเลเซีย 
  • การค้ามนุษย์ในดูไบและสิ่งที่คนไทยต้องรู้ทัน

ในวันที่ 23 พ.ย. จะมีการนำเสนอประเทศเป้าหมายสำคัญสำหรับการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อนายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 

24 พ.ย.

  • พิธีปิดการประชุม 

ทั้งนี้ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ คือการประชุมในปี 2559 นอกจากนั้น ในครั้งนี้ยังมีผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ (พณ.) และผู้ช่วยทูตฝ่ายการลงทุน (BOI) เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อร่วมกันระดมสมองว่าจะขับเคลื่อนนโยบายอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และประเทศใดมีความสำคัญสำหรับประโยชน์ของประเทศไทยหลังยุคโควิด และท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่แบ่งขั้วกันมากขึ้น อะไรคือจุดแข็งของไทยที่จะพาประเทศไปสู่จุดหมาย และให้การทูตตอบโจทย์ของประเทศและความต้องการของประชาชน

"เราต้องตอบโจทย์ความคาดหวังของประชาชนให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยเหลือประชาชนให้ได้ เห็นตัวอย่างได้ชัดจากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นและกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนคนไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่นที่ซูดาน อิสราเอล และเมียนมา" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว