กต.เรียกประชุมทูตไทย-กงสุลใหญ่ทั่วโลก มอบนโยบาย "การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก"

09 พ.ย. 2566 | 23:33 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2566 | 00:35 น.

กต.เรียกประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี 2566 วันที่ 20-24 พ.ย.นี้ เพื่อมอบนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และระดมพลังสมองร่วมวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล รวมถึงการเปิดตลาดใหม่และดึงดูดการลงทุน

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มีกำหนดจัด การประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.2566 โดยกิจกรรมสำคัญของการประชุมฯ ประกอบด้วย

  • การรับมอบนโยบาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” จากนายกรัฐมนตรี และรับมอบนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • การประชุมหารือระหว่างเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ และผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ (กระทรวงพาณิชย์) และ
  • การลงทุน (BOI) เพื่อร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ
  • การระดมสมองระหว่างเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ เพื่อร่วมวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล
  • การประชุมหารือระหว่างเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ กับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทาง การส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในมิติต่าง ๆ
  • การรับฟังข้อมูลและความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาควิชาการและภาคเอกชน ในประเด็น megatrends การเมือง/ภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ การแข่งขันของมหาอำนาจ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายการต่างประเทศ

ปัจจุบัน ไทยมีสำนักงานในต่างประเทศ 97 แห่งทั่วโลก แบ่งเป็นสถานเอกอัครราชทูต 65 แห่ง สถานกงสุลใหญ่ 28 แห่ง คณะผู้แทนถาวรไทยประจำ UN และอาเซียน 3 แห่ง และสำนักงานการค้าเศรษฐกิจไทย 1 แห่ง รวมถึงคณะผู้แทนไทยประจำ WTO ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะมาเข้าร่วมในบางกำหนดการด้วย

ก่อนหน้านี้ ช่วงต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today ระบุว่า รัฐบาลจะใช้ “การทูตเชิงเศรษฐกิจ” เป็นหัวหอกสำคัญในการ สร้างโอกาสดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

โดยแนวทางการทูตเชิงเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะเน้นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเพิ่มอำนาจการต่อรอง และสร้างมูลค่าในความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว พลังงานทดแทน ดิจิทัล เกษตรยั่งยืน เพื่อสร้างงานใหม่ไม่พึ่งพาเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่มีอิทธิพลด้านการเมือง เศรษฐกิจของภูมิภาค

สำหรับประเทศเป้าหมายสำคัญประกอบไปด้วย จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย นอกจากนี้ จะเพิ่มปฏิสัมพันธ์และเพิ่มความสัมพันธ์กับประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยด้วย เช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี เช่นเดียวกับการสร้างสภาพความแวดล้อมกับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนกับต่างประเทศทั้งด้านการผลิต บริการ และการวิจัยและพัฒนา

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรม เริ่มจากไทยจะใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สอดคล้องกับค่านิยมสากล ประชาธิปไตย สิทธิมนุษชนขั้นพื้นฐาน และแสดงความพร้อมที่จะรับผิดชอบเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความท้าทาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

พร้อมกันนี้ ไทยจะใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจเป็นหัวหอกของการทูตยุคใหม่ โดยหาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการ และการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ การให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งทางบีโอไอ มีนโยบายให้วีซ่าระยะยาวไปแล้ว และให้ความสำคัญกับประเด็นใหม่ ๆ เช่น เศรษฐกิจสีน้ำเงินที่เกี่ยวข้องกับทะเล และการกำหนดระเบียบระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ไทยจะเพิ่มความสัมพันธ์กับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลการประกอบธุรกิจและการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสีเขียว และจะเร่งการเจรจาสำคัญๆ เช่น FTA ไทย-อียู ตลอดจนขยายพันธมิตรทางเศรษฐกิจผ่านกรอบความร่วมมือทุกระดับ ทั้งกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) , ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECS) และความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (BRICS) เป็นต้น