นายกฯ ปรับทัศนคติทูตฯ ลุยเศรษฐกิจเชิงรุก ช่วยดึงนักลงทุน

21 พ.ย. 2566 | 09:39 น.
อัพเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2566 | 10:19 น.

นายกฯ มอบนโยบาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ย้ำการทูตยุคใหม่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และกรอบงาน ขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศสู่ยุคใหม่ เป็น “การต่างประเทศที่คนไทยจับต้องได้” สร้างประโยชน์ให้ประชาชน และสร้างอิทธิพลของไทยในเวทีโลก

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวมอบนโยบาย ใน การประชุมเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ และฝ่ายส่งเสริมการลงทุน ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” วันนี้ (21 พ.ย.) ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยเนื้อหาสาระสำคัญนั้นระบุว่า เป็นที่น่ายินดีต่อการจัดการประชุมฯ ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ “ทีมประเทศไทย” (Team Thailand) ทั้งภายในประเทศและที่ประจำการอยู่ต่างประเทศ ทั้งนักการทูตประจำประเทศต่าง ๆ นักการทูตที่มีความเชี่ยวชาญ (Specialist) เช่น ทูตเกษตร ทูตพาณิชย์ และหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบเฉพาะ เช่น BOI ได้มาร่วมกันกำหนดแนวทางและกลยุทธ์ขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศสู่ยุคใหม่ ให้เป็นการทูตที่จับต้องได้ “เป็นการต่างประเทศที่กินได้” สร้างความกินดีอยู่ดี โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแนายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบาย ในการประชุมเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ และฝ่ายส่งเสริมการลงทุน ประจำปี 2566

 

ปรับกรอบแนวคิดเพื่อการทูตเชิงรุก

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปรับกรอบการคิดและแนวทางการทำงาน โดยเริ่มจากการตั้งคำถามชวนคิดว่า ประชาชนและภาคธุรกิจต้องการเห็นอะไรในการต่างประเทศ และมีผลตอบรับ (Feedback) อย่างไร รวมทั้งให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (customer-centric) มีแนวความรู้สึกทางธุรกิจ Business sense และมีความรู้สึกถึงความเร่งด่วน Sense of urgency

และเพื่อตอบคำถามนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) ในการทำงาน ให้ความสำคัญกับ “ทำไม” (Why) มากขึ้น ต้องตอบให้ได้ว่า “ทำไปทำไม” และ “ผลกระทบ (Impact) คืออะไร”

พร้อมเปลี่ยนวิธีการคิดจาก “ทำไมถึงทำไม่ได้” เป็น “ทำยังไงถึงจะทำได้” และ “ทำยังไงถึงจะสำเร็จ” เพื่อให้รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่เน้นประชาชนทุกคนเป็นศูนย์กลาง (Customer-centric government) โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอกรอบการทำงานและวางกลยุทธ์ ซึ่งได้จากการเรียนรู้การทำงานกับระบบราชการ และประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจของนายกรัฐมนตรี โดยแบ่งกรอบงานเป็น 2 ส่วน ตามวาระการประชุม ดังนี้ 

ส่วนแรก งานที่เกี่ยวข้องกับการเป็นทูตเศรษฐกิจ ส่งเสริมทั้งการค้าขาย และการลงทุน รัฐบาลมีนโยบายหลักที่มุ่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน โดยอาศัยภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อน ขณะที่รัฐบาลมีบทบาทในการสนับสนุน และเอื้อให้การค้าต่างประเทศและการลงทุนเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เช่น การนำสินค้าไทยไปขายในต่างแดน การทำให้ดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of doing business) ดีขึ้น รวมถึงการเร่งการเจรจา FTAs ให้สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

นายกฯมุ่งหวังให้ทีมประเทศไทย เป็นตัวกลางในการประสานงานกับภาคเอกชนให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ เป็นที่ปรึกษา และชี้ให้เห็นโอกาสของประเทศไทยในวิกฤต

โดยนายกรัฐมนตรีมุ่งหวังให้ทีมประเทศไทย เป็นตัวกลางในการประสานงานกับภาคเอกชนให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ เป็นที่ปรึกษา ช่วยชี้แนะตลาด ปัจจัยสำคัญ สื่อสารให้ข้อมูลประเด็นทางเศรษฐกิจ และชี้ให้เห็นโอกาสของประเทศไทยในวิกฤต ทำงานเชิงรุกเพื่อทำให้ภาคธุรกิจไทยสามารถรับมือได้ทัน ตลอดจนเป็นผู้ประสานงานเชิญชวนให้คนมาท่องเที่ยว ทำธุรกิจในประเทศไทย และช่วยเหลือด้านข้อมูล 

นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำจุดยืนของไทยในความเป็นกลางที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย แต่ไม่ไร้จุดมุ่งหมาย โดยต้องทำความเข้าใจพลวัตของแต่ละประเทศ เพื่อเข้าใจประเด็นสำคัญเร่งด่วน และนำมาปรับใช้กับวิธีการวางตัว วางจุดยืนของประเทศให้เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ เป็นข้อมูลที่จะชี้โอกาสสำหรับการค้าและการลงทุน ซึ่งคือ “การต่างประเทศที่คนไทยสามารถจับต้องได้”

สำหรับการลงทุน ต้องดูการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign direct investment: FDI) ทั้งการลงทุนจากต่างประเทศในไทย และการลงทุนของไทยในต่างประเทศ โดยการลงทุนจากต่างประเทศในไทย ใน Mega Project เช่น Landbridge ซึ่งเป็นโครงการที่ดึงดูดสายตาประชาคมโลก ทีมประเทศไทยต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลได้ รับจากส่วนกลางไปเป็น Salesman ของประเทศ นำ Soft Power ไปขยายต่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งสินค้าและบริการ อาทิ งานเชียงราย Biennale ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดเทศกาลในภูมิภาค รวมทั้งในส่วนการพานักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ต้องนำดอก ผล กลับเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่สามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้ ในการเข้าร่วมการประชุม APEC ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้พาบริษัทไทยไปเจอกับบริษัทต่างชาติ เพื่อให้สามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ทีมประเทศไทยช่วยกันคิด วางแผนการทำงานร่วมกันให้ครอบคลุมทั้งการค้าขายทั้งนำเข้าและส่งออก และการลงทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศ เป็นฟันเฟืองของ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” 

ส่วนที่สอง บทบาทที่เกี่ยวข้องกับเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี และการช่วยเหลือคนไทยและธุรกิจไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเกียรติภูมิของประเทศและการดูแลพระเกียรติของราชวงศ์ ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อเกียรติภูมิของประเทศชาติ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึง การสร้างวัฒนธรรมใหม่ มองเกียรติและศักดิ์ศรี คือการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพในหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทั้งเรื่องการประสานภาครัฐ และการสร้างความสัมพันธ์กับนานาชาติที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน

พร้อมกันนี้ ยังได้ย้ำถึงภารกิจที่ยิ่งใหญ่ คือการให้การช่วยเหลือ ประสานงานให้หน่วยงานราชการ คณะผู้แทนไทย สามารถบรรลุวัตถุประสงค์กลับมาให้กับประเทศ ให้คนไทย และขอให้หนักแน่นในหน้าที่นี้ เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ดีเป็นนักการทูตมืออาชีพ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการทำงานร่วมกันในฐานะทีมประเทศไทย โดยรวมหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และการสนับสนุนร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในความรู้และความสามารถของทุกคนซึ่งถือเป็นทีมประเทศไทยของรัฐบาล ดำเนินการทูตแบบใหม่ ด้วยเป้าหมายของการเจริญเติบโต ซึ่งจะทำให้ไทยมีอิทธิพล มีเกียรติและศักดิ์ศรีในเวทีโลกมากขึ้น