กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดเผยวานนี้ (13 ธ.ค.) ระบุ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 2566 เพื่อเข้าร่วม การประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เป็นการฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN – Japan Commemorative Summit for the 50th Year of ASEAN-Japan Friendship and Cooperation) ตามคำเชิญของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยที่ประชุมฯ จะหารือการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน-ญี่ปุ่น และร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ในอนาคต
ในช่วงการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น การพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รวมทั้งการประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของไทย แบบ One-on-One Meeting
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะร่วมกล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาการลงทุน Thailand – Japan Investment Forum จัดโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเพิ่มพูนการลงทุนระหว่างสองประเทศด้วย
อนึ่ง การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ครั้งนี้ จัดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (วาระปี พ.ศ. 2564-2567) โดยไทยมีบทบาทสำคัญในการประสานงานและผลักดันประเด็นความร่วมมือใหม่ ๆ ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ที่เผชิญร่วมกัน และสนับสนุนญี่ปุ่นให้ขยายบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในไทยและภูมิภาค
ด้านโฆษกรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ เปิดเผยว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นโอกาสในการฉลองวาระ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งมีการเริ่มอย่างไม่เป็นทางการในปี 2516 และในปีนี้ ถือเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น และมีการประกาศตราสัญลักษณ์ทางการและคำขวัญ “Golden Friendship, Golden Opportunities”
โดยนอกจากกรอบการประชุมฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้แสดงวิสัยทัศน์ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย และเป็นประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค นายกรัฐมนตรีตั้งใจจะใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดจากโอกาสการพบปะกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายคิชิดะ ฟูมิโอะ ในส่วนของทางเศรษฐกิจ จะเชิญชวนญี่ปุ่นให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคและไทย โดยเฉพาะการเติบโตสีเขียว การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและดิจิทัล รวมถึงประชาสัมพันธ์นโยบายและโครงการสำคัญของไทย เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) การพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ตลอดจนด้านการเมือง จะโน้มน้าวให้ญี่ปุ่นเพิ่มบทบาทเชิงสร้างสรรค์กับอาเซียนเพื่อลดความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้า และร่วมกันส่งเสริมสภาพแวดล้อม ที่สงบ สันติมีเสถียรภาพ ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในกรอบการค้าการลงทุนที่น่าสนใจ โดยจะได้พบหารือกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization: JETRO) และบริษัทเอกชนสำคัญระดับโลกของญี่ปุ่น โดยแบ่งเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลการเกษตร และธุรกิจการค้า