สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หุ้นไมโครซอฟท์ พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากความเป็นผู้นำในด้าน เจเนอเรทีฟเอไอ (generative AI) ผ่านการลงทุนในบริษัทโอเพนเอไอ ผู้สร้างแชตจีพีที
หุ้นไมโครซอฟท์ปิดตลาดเมื่อวานนี้ (11 ม.ค.) บวก 0.5% ทำให้มูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.859 ล้านล้านดอลลาร์ หลังพุ่งสูงถึง 2% ในการซื้อขายระหว่างวัน จนมีมูลค่าแตะที่ 2.903 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงสั้น ๆ
ในทางตรงกันข้าม หุ้นแอปเปิ้ล ปิดตลาดติดลบ 0.3% ทำให้บริษัทมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.886 ล้านล้านดอลลาร์ โดยทั้งไมโครซอฟท์และแอปเปิ้ลต่างผลัดกันครองตำแหน่งผู้นำตลาดมาหลายปี
ไมโครซอฟท์ได้นำเทคโนโลยีของโอเพนเอไอมาใช้กับชุดซอฟต์แวร์ด้านการทำงานทั้งหมด ซึ่งกลายเป็นการช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติงของบริษัทฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส ก.ค.-ก.ย.2566
ขณะเดียวกัน แอปเปิ้ลกำลังเผชิญกับปัญหาดีมานด์ลดลง รวมถึงไอโฟนซึ่งเป็นสินค้าที่ทำเงินให้บริษัทมากที่สุด ความต้องการในจีนซึ่งเป็นตลาดหลักลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวช้าจากผลกระทบของโรคโควิด-19 และหัวเว่ยกลับมาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด
"จีนอาจเป็นตัวฉุดผลการดำเนินงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า" บริษัทหลักทรัพย์เรดเบิร์น แอตแลนติกระบุในบันทึกถึงลูกค้าเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (10 ม.ค.) โดยปรับลดคำแนะนำหุ้นแอปเปิ้ลลงเป็น "ถือ"
นักวิเคราะห์อย่างน้อย 3 ราย จาก 41 รายที่ติดตามแอปเปิ้ล ได้ปรับลดระดับคำแนะนำลงนับตั้งแต่ต้นปี 2567
ราคาหุ้นแอปเปิ้ลร่วงลง 3.3% นับตั้งแต่ต้นเดือนม.ค.จนถึงปัจจุบัน ขณะที่หุ้นไมโครซอฟท์กลับเพิ่มขึ้น 1.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน
หุ้นทั้งสองตัวถือว่ามีราคาแพงเมื่อเทียบกับอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (PE) โดยข้อมูลจาก LSEG ระบุว่า หุ้นแอปเปิ้ลซื้อขายกันที่ forward PE 28 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 19 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนไมโครซอฟท์มี forward PE อยู่ที่ประมาณ 31 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ 24 เท่า
ปัจจุบัน วอลล์สตรีทมีมุมมองเชิงบวกต่อไมโครซอฟท์มากกว่า โดยไม่มีคำแนะนำ "ขาย" และเกือบ 90% ของบริษัทหลักทรัพย์ที่ติดตามไมโครซอฟท์แนะนำให้ซื้อหุ้น ขณะที่หุ้นแอปเปิ้ลมีนักวิเคราะห์สองรายแนะนำให้ "ขาย" และมีเพียง 2 ใน 3 ของนักวิเคราะห์ที่ติดตามแอปเปิ้ลเท่านั้นที่แนะนำให้ "ซื้อ"
ข้อมูลอ้างอิง