"ฐิตินันท์" ตรวจการบ้าน 4 เดือน การทูตสไตล์"เศรษฐา" สอบผ่าน แต่ยังขาดอีกเยอะ

15 ม.ค. 2567 | 05:45 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2567 | 06:15 น.

ตั้งแต่ “เศรษฐา ทวีสิน” ก้าวขึ้นทำเนียบนายกรัฐมนตรี นับ 1 นโยบายต่างประเทศ เดินสายพบปะผู้นำมหาอำนาจ-มหามิตร และนักธุรกิจ-ซีอีโอระดับยักษ์ใหญ่ไปแล้วครึ่งโลก พร้อมแนะนำตัวกับชาวโลกว่า เขาคือ “เซลล์แมนประเทศไทย”

“ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์” แห่งสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจการบ้าน 4 เดือนนโยบายต่างประเทศของ “รัฐบาลเศรษฐา” เดินมาถูกทางหรือไม่ อะไรที่ต้องเติม อะไรที่เป็นจุดแข็ง-ปมด้อย  

ความรู้สึกติดลบ-เดินหน้าทำคะแนน  

“ศ.ดร.ฐิตินันท์” เริ่มต้นว่า ประการแรก ความรู้สึกติดลบของไทย ทำให้นายกฯเศรษฐา ขยันเดินสายไปพบกับผู้นำต่างประเทศมากมาย เป็นการต่างประเทศแบบรอบด้านเชิงรุก เจอใครชวนมาเมืองไทยหมด ให้มาภูเก็ต ให้มาลงทุนในไทย ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี เห็นความจริงจังและตั้งใจ 

หลายภาคส่วนมีความหิวโหยและรู้สึกว่าไทยตกรถไฟ ล้าสมัยตามไม่ทันในการต่างประเทศ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 9 ปีที่ผ่านมาทำความเสียหายมาก เอาแต่การควบคุมความมั่นคงภายในแบบระบบราชการ แต่ละเลยความมั่งคั่งที่ต้องหาจากข้างนอก

ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการ สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เรียกว่าเป็นปมด้อยเผด็จการ เมื่อยึดอำนาจเป็นรัฐบาลเผด็จการ การต่างประเทศจะตกต่ำ เพราะเจอหน้าใครที่ไหนต้องคอยแก้ตัว คอยอธิบายให้เขาฟังว่า ทำไมถึงต้องยึดอำนาจ พบปะผู้นำประเทศอื่นที่ไหนต้องบอกว่า เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญ เมื่อไหร่จะมีเลือกตั้ง”

ถ้าการต่างประเทศไทยเหมือนเกาหลีเหนือ หรือว่าคบหาอยู่แต่กับจีนหรือรัสเซียคงไม่เป็นไร แต่ไทยทำมาหากินค้าขายลงทุน อยู่กับประเทศตะวันตก สหรัฐฯ ยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เลยต้องอธิบายว่ายึดอำนาจทำไม ทำให้มีปมด้อย  

การใช้คุณดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศและคุณดอนก็ไปแต่งตั้งคุณพรพิมล กาญจนลักษณ์ เป็นที่ปรึกษา ทำให้กระทรวงต่างประเทศเอง ขวัญกำลังใจตกต่ำไปด้วย เพราะผู้นำมาจากฝ่ายเผด็จการ ตลอดจนมีข่าวเล็ดรอดว่ามีการแทรกแซงก้าวก่ายการทำงานและการโยกย้ายเจ้าหน้าที่นักการทูต 

“คุณดอนกับคุณพรพิมลมีแนวนโยบายไม่สอดคล้องกับการต่างประเทศของไทยโดยรวม เช่น เมียนมาร์ไปถือหางให้ความช่วยเหลือ ให้พื้นที่ ให้ความสนใจและความชอบธรรมกับรัฐบาลทหาร สวนกระแสโลกและทำลายความน่าเชื่อถือของอาเซียน และลดบทบาทของไทยในอาเซียนด้วย” 

นายเศรษฐา ทวีสิน พบ Mr. Larry Fink CEO กลุ่มบริษัท BlackRock บทบาทไทยในอาเซียนเรียกว่า โดนกลืนไปเลย เรื่องเมียนมาร์ จากที่เคยเป็นพระเอก เคยเป็นตัวนำ ตัวหลัก กลับกลายเป็นว่าไปอยู่คนละข้างกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไปเลือกผิดข้าง ทั้งที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเริ่มยึดพื้นที่ได้มากขึ้น

“ความรู้สึกนี้ จากปมด้อยเผด็จการประยุทธ์ ทำให้นายกฯ เศรษฐา คุณปานปรีย์ องคาพยพการต่างประเทศไทย active มาก กระปรี้กระเปร่า กระตือรือร้น นายกฯ เศรษฐา เข้ามาหลังจากเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จึงเป็น ความรู้สึกว่าประเทศเราติดลบ ทำให้ต้องขยัน ต้องรีบเดินหน้าทำคะแนน”

จุดแข็ง นายกฯ พลเรือน-มาดนักธุรกิจ

“ศ.ดร.ฐิตินันท์” บอกว่า ประการที่สอง ต้องเป็นเซลล์แมน ชวนให้คนมาลงทุน มาท่องเที่ยว เจอใครก็ชวนมาลงทุน ทำให้เกิน active เพื่อที่จะได้เติมให้มันเต็ม เพื่อที่จะได้ลบล้างความรู้สึกติดลบ 

นายเศรษฐาได้เปรียบอยู่ 2 ข้อ หนึ่ง ความเป็นพลเรือน สำคัญมากในการคบหาสมาคมกับประชาคมโลก เป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามง่าย สอง เป็นนักธุรกิจเคยและสนใจยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ พูดภาษาเดียวกันกับผู้นำชาวโลกเขา พูดกันรู้เรื่อง

“นายกฯ เศรษฐาเลย ตั้งตัวเป็นเซลล์แมนของไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยว นักลงทุน เจอนักธุรกิจ บริษัทใหญ่ ๆ บิ๊กเทคทั้งหลาย ทำงานหนัก ขยัน เช่นเรื่องยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวจีน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานล่างขึ้นบน ต้องการเรียกความเชื่อมั่นกลับมา”

ทว่า “ศ.ดร.ฐิตินันท์” มีข้อกังวลทุนใหญ่กินรวบ “ดิจิทัลวอลเลตหมื่นบาท” ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในให้ขยายตัว มีแรงซื้อ เศรษฐกิจไทยจะได้น่าลงทุนและเนื้อหอม เงินดิจิทัลวอลเล็ท 10,000 บาท เป็นสัญลักษณ์และเป็นตัวกระตุ้นด้วย

เงินดิจิทัลมีข้อจำกัด 2-3 ประการ หนึ่ง หนี้ครัวเรือนสูง เกือบจะ 100 % ของจีดีพี แปลว่า คนทั่วไปจะมีหนี้ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หนี้ครัวเรือนจึงเป็นตัวถ่วง ไม่รู้ว่าได้วงเงินไปแล้ว จะไปจับจ่ายใช้สอยขนาดไหนหรือไปหาวิธีจ่ายหนี้เก่า

"ในขณะเดียวกันโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ในช่วง20 ปีที่ผ่านมา มีการกระจุกตัวผูกขาดมากขึ้น ผลประโยชน์ตกไปอยู่กับธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ผลทวีคูณ (Multiplier Effect) ที่รัฐบาลต้องการอาจออกมาน้อยกว่าที่คิด อาจจะหมุนไม่ได้หลายรอบอย่างที่ต้องการเพื่อประโยชน์ของธุรกิจระดับกลางระดับย่อย เพราะทุนใหญ่กินรวบ"

รวมไปถึงการกู้ยืมและสร้างหนี้เพิ่ม เพราะตอนแรกเคยบอกว่าจะนำยอดเงินมาจากงบประมาณ ความจริงรัฐบาลสามารถโยงเรื่องนี้กับความเหลื่อมล้ำได้ด้วย นโยบายนี้ช่วยคนมีรายได้น้อย ถึงแม้ว่าหนี้เพิ่ม แต่ก็อาจจะช่วยเยียวยาฐานล่างของสังคมได้ในระดับ หนึ่ง

ทำไมเศรษฐาต้องเป็น “เซลล์แมน” ? 

“ศ.ดร.ฐิตินันท์” ตอบคำถามถึงข้อกังขา “ผู้นำไทย” ทำไมต้องเป็น “เซลล์แมน” โดยยกตัวอย่างเช่น เวลา โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ไปประชุมที่สหรัฐฯ ลงทุนออกนอกทางบินไปลงเพื่อจะไปเจออีลอน มัสก์ ผู้บริหาร Tesla การที่ผู้นำประเทศ

\"ฐิตินันท์\" ตรวจการบ้าน 4 เดือน การทูตสไตล์\"เศรษฐา\" สอบผ่าน แต่ยังขาดอีกเยอะ

โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาไปประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ เป็นโอกาสสำคัญ โอกาสทางเศรษฐกิจก็ส่วนหนึ่ง แต่เรื่องความมั่นคงก็สำคัญเช่นกัน เพราะสหรัฐฯยังเป็นใหญ่ในโลก จีนก็ใหญ่ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเช่น Belt and Road Initiative แต่จีนก็ต้องดูเรื่องทะเลจีนใต้ เรื่องความมั่นคง 

ดังนั้น สิ่งที่โจโก วิโดโดทำ ผู้นำหลาย ๆ ประเทศทำ ต่างฝ่ายต่างต้องพยายามดึงดูดการลงทุน ทำมาค้าขาย เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจขยายตัว

“สำหรับประเทศไทยหรืออาเซียนโดยรวม เรื่องการค้าการลงทุนเป็นเรี่องใหญ่มาก เพราะไม่ได้มีอำนาจทางทหาร ผู้นำประเทศต้องเป็นเซลล์แมน เป็นการต่างประเทศแบบเซลล์แมน แบบทำมาหากิน ทำมาค้าขาย จึงไม่แปลก”

นายกฯไทยเป็นเซลล์แมนในจังหวะที่เศรษฐกิจโลกผันผวน มีสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ สงครามเทคโนโลยี จังหวะที่ไทยตกรถไฟมาหลายขบวน CPTPP และ FTA ขาดหายไปนาน

"ถ้าไม่เป็นเซลล์แมนแล้วจะเอาอะไรกิน จะทำมาหากินอย่างไร จะไปอยู่จุดไหนในห่วงโซ่ของเศรษฐกิจโลก เราต้องการที่จะขยับขึ้นมาเพื่อไปเสียบเข้ากับห่วงโซ่อุปทานที่พึงปรารถนา”

ตอนนี้เซมิคอนดักเตอร์ก็สายเกินไปแล้ว ช่วง10ปีที่ผ่านมา ผ่านเราไปเวียดนาม ไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่ยังเหลือเป็น data center และ se-mi conductor packaging เศรษฐกิจโลกหมุนเร็วมาก แค่ 10 ปีนวัตกรรมแนวหน้าข้ามหัวเราไป หลายตัว

เอฟทีเอ ยังไปไม่ถึงไหน

“ศ.ดร.ฐิตินันท์” ตั้งคำถาม-เฉลยคำตอบ ว่าแล้วประเทศไทยจะขายอะไร ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเศรษฐา คือ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ โครงการแลนด์บริดจ์ การเจรจาการค้าเสรี (FTA) รัฐบาลเพิ่งเริ่มก็ต้องให้เวลา แต่ตอนนี้เรียกได้ว่า “ยังไปไม่ถึงไหน” 

“เอฟทีเอที่รัฐบาลพูดถึงคือ Thai-EU หรือ Thai-EFTA กลับมาได้รับความสนใจ แต่ยังไม่เป็นรูปธรรม ในกรณี Thai-EU ไทยยังไม่มีร่างนำเสนอของตัวเอง แต่ไปยึด draft ของอียูเป็นหลัก ส่วนเอฟทีเออื่นๆ ไม่ค่อยขยับอะไรมาก น่าจะพิจารณาสมัครเข้า CPTPP พูดง่ายๆ คือ ประเทศไทยยังไม่ได้สร้างความพร้อมทางด้าน strategy และ capacity”

เอฟทีเอต้องเห็นพ้องต้องกัน เพราะจะมีคนเดือดร้อนมาก แรงงาน ทุน ทุนจะเดือดร้อนมาก คู่แข่งเยอะ เรื่อง competition (การแข่งขัน) สำคัญมาก เรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) มาตรฐานแรงงาน เรื่อง sustainability ทรัพย์สินทางปัญญา พื้นที่ในการแข่งขัน ไทยยังไม่มีความพร้อม 

เรื่องเอฟทีเอ ไม่ใช่พูดแล้วจะเกิดขึ้น เอฟทีเอเป็นเรื่องยากมาก (เน้นเสียง) ยกตัวอย่างเช่น การจัดซื้อจัดจ้าง แต่ถ้าทำเอฟทีเอจะเป็นข้อตกลงว่า ต้องมีการแข่งขันอย่างยุติธรรม

“ผมคิดว่าเอฟทีเอจะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจได้ดี ถ้าทำได้จริง เอฟทีเอจะเป็นตัวทะลวงทุนผูกขาด ทำลายเครือข่ายอุปถัมภ์และคอร์รัปชั่นได้”

\"ฐิตินันท์\" ตรวจการบ้าน 4 เดือน การทูตสไตล์\"เศรษฐา\" สอบผ่าน แต่ยังขาดอีกเยอะ

ขณะที่ “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่รัฐบาลพูดถึงคือ “มาร์เก็ตติ้ง” มากกว่า ถ้าเราจะมีซอฟต์พาวเวอร์จริงๆ เราจะต้องมีพาวเวอร์อะไรที่ทำให้โลกข้างนอกอยากเป็นเหมือนเรา เป็นพาวเวอร์ที่มีพลังในการกำหนดโดยที่ไม่ต้องใช้แรงมาก ไม่ใช่กินเหมือนเรา ไม่ใช่เล่นสงกรานต์เหมือนเรา

ต้องลึกกว่านั้น ต้องเป็นค่านิยม ต้องเป็นวิสัย นิสัย ยกตัวอย่างเช่น การใช้ชีวิตแบบสบายๆ อยู่ง่ายกินง่าย การไม่ซีเรียสเอาง่ายๆ นี่คือคุณสมบัติของไทยที่ชาวต่างชาติเขาทึ่งและนับถือ นี่คือสาเหตุสำคัญที่ท่องเที่ยวเราถึงดี 

“สิ่งต่างๆที่รัฐบาลเอามาขายนับว่าดี ดีแล้วที่มีความกระตือรือร้น อยากจะให้มีอะไรมาขาย ไม่ได้อยู่ไปวันๆหนึ่งเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา แบรนดิ้ง มาร์เก็ตติ้งก็นับว่าดี แต่ทำให้สับสนนิดหน่อย แต่ไม่เป็นไร รวม ๆ แล้วดี มีอะไรไปทำมาค้าขาย”

แลนด์บริดจ์ ต้องทำการบ้านอีกเยอะ 

ขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์ ข้อจำกัดมากมาย เรื่องนี้ทำให้ปิดประตูเรื่องการขุดคลองไปเลย ผมว่าดีแล้ว เป็นความพยายามที่น่าสนใจ รัฐบาลอยากจะให้มียุทธศาสตร์ แลนด์บริดจ์ คือ ใช้ทำเล ที่ตั้ง เป็นตัวหากิน ซึ่งภูมิศาสตร์เป็นตัวช่วยเรามาตลอด เราอยู่จุดตรงกลาง เอาแลนด์บริดจ์มาเป็นตัวขาย จะให้มีตัวเชื่อมมหาสมุทร  ในด้านโลจิสติกส์  วิศวกรรมศาสตร์ ในด้านของความเป็นไปได้ทั้งหลายมันยากมาก (เน้นเสียง)

“ไม่ต้องคิดอะไรไกล คิดแบบสามัญสำนึก ใครอยากจะเอาเรือขึ้นมาแล้วมาเทียบท่า แล้วเอาของขึ้น วิ่งบนถนน ไปลงรางรถไฟ เสร็จแล้วเอาของลงเรืออีก ต้นทุนสูงมาก รวมไปถึงค่าประกันด้วย ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเขาอยากจะเดินเรือรอบเดียวจบ แลนด์บริดจ์จะเซฟได้ขนาดไหน บอกว่า 4 %- 6 % แต่เรายังไม่เห็นการศึกษาวิจัยที่น่าเชื่อถือ ต้องทำการบ้านอีกเยอะ”

สำคัญกว่านั้น รัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้ เป็นรัฐมนตรีที่มีมลทินจากเรื่องราวเมื่อ 20 ปีที่แล้วหรือไม่ ผู้นำ ตัวชูโรงเรื่องนี้ นอกจากนายกฯ เรามีรัฐมนตรีที่มีข้อครหาการทุจริตคอร์รัปชั่น 

“ผมไม่เชื่อมั่นเรื่องนี้ ถ้ามีรัฐมนตรีอย่างนี้มา ไม่ทราบว่าจะสนใจยุทธศาสตร์ขนาดไหน ถ้าจะทำแลนด์บริดจ์อย่างเป็นจริงเป็นจังต้องทำการบ้านมากกว่านี้ ต้องมีผู้นำ ตัวชูโรง ผู้จัดแจงที่เอื้อต่อความเชื่อมั่น ไม่ใช่คนที่มีมลทิน มีความเอื้อฉาวในอดีต”

ถ้าหัวชนฝาที่จะขายเรื่องนี้ และมีทีมทำการบ้าน มีข้อมูล วิเคราะห์ วิจัย มาบอกว่า มันลด (ต้นทุน) กี่เปอร์เซ็นต์ และมีหัวหอกที่น่าเชื่อถือและรู้เรื่องก็น่าฟัง แต่การบ้านที่เขาเอามาอ้างผมยังไม่เห็นเลย ยิ่งหัวชนฝา ยิ่งไม่น่าไว้ใจ ถ้ามีหัวหอกที่ดี น่าเชื่อถือ ทำการบ้านมาดี วิเคราะห์มาดี วิจัยดี แล้วหัวชนฝา ก็น่ารับฟัง  

\"ฐิตินันท์\" ตรวจการบ้าน 4 เดือน การทูตสไตล์\"เศรษฐา\" สอบผ่าน แต่ยังขาดอีกเยอะ

ให้คะแนน 4 เดือน นับว่าผ่าน แต่ยังขาดอีกเยอะ

ขณะที่โครงการเขตพัฒนาภาคตะวันออก (EEC) รัฐบาลนี้ไม่ค่อยพูดถึง แต่ไม่ได้ยุบทิ้ง ลองดูไปก่อน ก็ยัง work อยู่ อีอีซียังเป็นที่รองรับการดึงดูดการลงทุนได้ อีอีซีเป็นตัวอำนวยการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะได้อานิสงส์เต็ม ๆ ได้พื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวก อีอีซีเป็นโครงสร้างที่เอื้อต่อการลงทุน ไม่ยุบทิ้งแต่ว่าไม่เอามาเป็นหัวหอกเหมือนซอฟต์พาวเวอร์ แลนด์บริดจ์และเอฟทีเอ

"ยังขาดอีกเยอะ ดีมากที่เขาพยายามทำอะไรต่างๆ การที่นายกฯเศรษฐา ขยันเดินสาย พยายามกระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว ว่องไวดี มาถูกทางแต่ยังขาดอีกเยอะ การทำการบ้าน การมองอะไรที่ทะลุปรุโปร่ง ต้องอาศัยความร่วมมือของระบบราชการด้วย"

รัฐบาลพูดถึง เราต้องมีบทบาทในอาเซียน บทเวทีโลก ซึ่งมันมีความรู้สึกติดลบมานาน ทำได้ขนาดไหน แค่นี้ในช่วง 4 เดือนแรก นับว่าผ่าน

รัฐบาลเศรษฐาได้อานิสงส์จากที่การต่างประเทศตกต่ำ ติดลบมาเยอะ แค่ขยัน กระชับกระเฉง มีทิศทางเดินหน้า ให้มีความรู้สึกว่าเดินหน้าก็ไปได้ดีแล้ว ไม่ว่าจะเดินหน้าได้มากได้น้อย แต่ความรู้สึกได้เดินหน้า

บทบาทในเมียนมาร์ขาดไทยไม่ได้ 

“ศ.ดร.ฐิตินันท์” บอกถึงสิ่งที่รัฐบาลเศรษฐาต้องเติม คือ เนื้อหาต่าง ๆ ให้บูรณาการ หนึ่ง ทำเล ต้องพยายามขับเคลื่อนโดยภูมิศาสตร์ ใช้จุดศูนย์กลางเป็นตัวตั้ง เรื่องเมียนมาร์ไทยเป็นมีพรมแดนยาวสุดและมีบทบาทโดยธรรมชาติ เป็นตัวขับเคลื่อนหลักมาตลอด ร่วมกับอิโดนีเซียและประเทศอื่น แต่ขาดเราไม่ได้ 

“เรื่องเมียนมาร์ เรื่องสำคัญสุดของอาเซียน ดีไม่ดีภายใน 6 เดือนนี้ ทหารอาจจะเอาไม่อยู่ แล้วมันจะโกลาหล เป็นสุญญากาศ เป็นอนาธิปไตย หรืออาจจะเป็นการอมชอมก็ได้”

\"ฐิตินันท์\" ตรวจการบ้าน 4 เดือน การทูตสไตล์\"เศรษฐา\" สอบผ่าน แต่ยังขาดอีกเยอะ

ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจที่หาไม่ได้ คนอื่นไม่มี ไทยกับจีน ไทยกับ สหรัฐฯ ไทยกับอียู ไทยกับอินเดีย ไทยกับออสเตรเลีย คือยุทธศาสตร์ไทย โดยมีเอฟทีเอ ซอฟต์พาวเวอร์ แลนด์บริดจ์ เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อน 

“กับเวียดนามกับจีน เดี๋ยวก็ชื่นมื่น เดี๋ยวก็ระหองระแหง ฟิลิปปินส์กับจีนตอนนี้ระหองระแหงมาก ประเทศอื่น ๆ ไม่ชื่นมื่นกับทุกฝ่าย มีแต่ไทยที่ไปได้กับทุกประเทศ”

ปีนี้ไทยจะเข้าหาต่างประเทศได้มากขึ้น รับไทยได้มากขึ้น สนใจมากขึ้น เพราะตอบโจทย์แล้วเรื่องเป็นประชาธิปไตย ถ้ามีรัฐบาลที่มาจากพลเรือน รัฐบาลที่กระตือรือร้นที่จะทำมาหากิน การค้าการลงทุนจะได้รับการตอบรับที่ดี

ฟื้นฟูความเชื่อมั่น-บทบาทนำบนเวทีโลก 

ข้อสังเกตที่ว่า “รัฐบาลเศรษฐา” ไม่มีอะไรใหม่ สิ่งที่เอาไปขายทั้งโครงการเรือธงอย่างแลนด์บริดจ์-ซอฟต์พาวเวอร์เคยได้ยินมาก่อนสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แต่ “ศ.ดร.ฐิตินันท์” เห็นต่าง  

“คิดว่าใหม่ ถึงแม้ว่าเราเคยได้ยินมาก่อน แค่เอากลับมา มันมีความใหม่ในตัวของมันเอง บวกกับความกระปรี่กระเปร่า ความกระชับกระเฉง active ทำให้รู้สึกว่ามันมี momentum แรงส่ง และไปในทิศทางที่ถูกทาง” 

เอฟทีเอสมัยรัฐบาลประยุทธ์ไม่เดินหน้า อียู-ไทย เอฟทีเอถูกระงับเพราะรัฐประหาร นิ่งเลยเพิ่งจะมารื้อฟื้นกันเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากอียูออกท่าทีใหม่ เพราะจะมีการเลือกตั้งปี 62 

หลังจากนั้นมาอียูเปลี่ยนท่าที เพราะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ช่วงรัฐบาลคสช. 5 ปีทุกอย่างนิ่งเลย แลนด์บริดจ์ก็พูด แต่ว่าไม่เห็นรัฐบาลประยุทธ์ไปขาย การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในกระตุ้นอยู่เรื่อย ๆ แต่เป็นการกระตุ้นแบบไม่ได้เต็ม ๆ กะปริบกะปรอย

\"ฐิตินันท์\" ตรวจการบ้าน 4 เดือน การทูตสไตล์\"เศรษฐา\" สอบผ่าน แต่ยังขาดอีกเยอะ

“การต่างประเทศสมัยรัฐบาลประยุทธ์ลำบาก ไม่ได้พูดลอย ๆ ในอาเซียน ไทยไม่เคยเป็นผู้นำอะไรเลย ไปถือหางผิดข้างด้วยซ้ำ ต้องกลับมาอีกข้างหนึ่งเลย แล้วจะฟื้นฟูความเชื่อมั่น มิเช่นนั้นจะฟื้นฟูบทบาทไทยในเวทีโลกได้อย่างไร”

จุดอ่อน ความขัดแย้งการเมืองภายใน

ส่วน "ข้ออ่อน" ของไทยที่จะทำให้รัฐบาลเศรษฐาสะดุด “ศ.ดร.ฐิตินันท์” มองว่า เป็นเรื่องเดิม ปัญหาการเมืองความขัดแย้งภายใน ความไร้เสถียรภาพเชิงโครงสร้าง ถ้าพรรคฝ่ายค้านถูกยุบ ตุลาการมีคำตัดสินอะไรขึ้นมา การเมืองป่วนได้เสมอ 

“จุดอ่อนของไทยก็คือความขัดแย้งตรงนี้ มาจากความลักลั่น ไม่ลงตัวของสถาบันการเมืองทั้งหลาย เป็นความเปราะบางของประชาธิปไตยไทย ท้ายสุดคิดว่าจะไม่สามารถยึดอำนาจได้อีกหรือ หมายความว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถมีประสบการณ์ยึดอำนาจได้อีกหรือ เป็นไปได้อีก”

ที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ว่า การลงทุนจากต่างประเทศน้อยลง ทุนจากต่างประเทศไหลออกไปเยอะ บริษัทใหญ่ ๆ จะเกร็งเลย หนาวเลย เพราะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อ 

“การมีรัฐบาพลเรือน คุยกันได้ จะวางแผน ลงทุน ความรู้สึกว่าเดินหน้า คุณก็ไปได้ดีแล้ว ไม่ว่าจะเดินหน้าได้มากได้น้อย แต่ความรู้สึกว่ามันได้เดินหน้า”ศ.ดร.ฐิตินันท์ทิ้งท้าย