นักเศรษฐศาสตร์ฮาร์วาร์ดเตือน ปี 67 โลกยังเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

18 ม.ค. 2567 | 05:08 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2567 | 05:58 น.

"เคนเนธ โรกัฟฟ์" นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าวเตือนในเวที WEF 2024 ที่ดาวอส ระบุโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงสูงที่อาจทำให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงได้ในปีนี้ โดยความเป็นไปได้นั้นสูงถึง 25%

ศาสตราจารย์ เคนเนธ โรกัฟฟ์ (Kenneth Rogoff) นักเศรษฐศาสตร์ และประธาน สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ “ยาฮู ไฟแนนซ์” วานนี้ (17 ม.ค.) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ว่าโลกยังมีความเสี่ยงจะเผชิญกับ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง (deep recession) ในปีนี้ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้กับตลาดการเงินทั่วโลก

ในช่วงสัปดาห์แห่ง การประชุมเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ประจำปี 2024 (World Economic Forum: WEF 2024) ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. ไปจนถึง 19 ม.ค.นี้ ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทางผู้จัดงานได้เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์สถาบันต่างๆ เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ซึ่งมากกว่าครึ่งของหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบคำถามการสำรวจระบุว่า พวกเขาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตราชะลอลงในปีนี้ ท่ามกลางบริบทที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่อัตราสูง ขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกทวีความรุนแรงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และทำให้มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่โลกอาจต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ศ.เคนเนธ โรกัฟฟ์ ขณะให้สัมภาษณ์รายการยาฮู ไฟแนนซ์ ในระหว่างห้วงการประชุม WEF 2024 ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์

ปีนี้เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยหลายครั้งหรือไม่นั้น คำตอบขึ้นอยู่กับว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นหรือไม่

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวและความคาดหวังของนักลงทุนที่ว่าปีนี้ เฟดอาจเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลงมา ศาสตราจารย์ เคนเนธ โรกัฟฟ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้ความเห็นว่า

โดยส่วนตัวเขามองว่า ปีนี้เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยหลายครั้งหรือไม่นั้น คำตอบขึ้นอยู่กับว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าเกิดขึ้น ก็คงมีการลดดอกเบี้ยลงมากกว่า 1 ครั้ง แต่ถ้าหากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า soft-landing ก็แน่นอนว่า คงไม่ได้เห็นการลดดอกเบี้ยหลายครั้งนัก

ที่ผ่านมา เขาเองได้พูดเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว และขอย้ำว่า ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดิน (super low interest rates) อย่างที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2564 (ค.ศ.2012-2021) ซึ่งเป็นยุค 10 ปีที่อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0% นั้น คงไม่ได้เห็นอีกในปีนี้ รวมทั้งในระยะอีกหลายปีข้างหน้า

ก่อนหน้านี้ บรรดานักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปี 2567 นี้ ถึง 6 ครั้งด้วยกัน ซึ่ง ศ.โรกัฟฟ์ ไม่ได้ปฏิเสธ แต่กล่าวว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยลงอย่างมากเท่านั้น แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐเพียงแค่ชะลอตัว หรือเป็น soft-landing การลดดอกเบี้ยถึง 6 ครั้งที่ว่า ก็คงไม่เกิดขึ้น หากจะมีการปรับลด ก็คงจะเพียง 2 หรือ 3 ครั้ง  

นอกจากนี้ ศ.โรกัฟฟ์ ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังคาดการณ์ว่า ถ้าหากตั้งสมมุติฐานว่า สหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบถอยลึกขึ้นมาจริงๆ (deep recession) ซึ่งเป็นการถดถอยอย่างรุนแรง และความเป็นไปได้ก็ยังคงมีอยู่ “โดยส่วนตัวผมคิดว่าโอกาสที่มันอาจเกิดขึ้นคือ 25% แต่จะเกิดขึ้นอย่างไรนั้น ผมไม่ทราบ และถ้าเกิดเศรษฐกิจถดถอยแรงขึ้นมาจริงๆ เฟดคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหลายครั้ง อาจต้องลดถึง 15 ครั้งด้วยซ้ำ ไม่ใช่ 6 ครั้ง (อย่างที่นักลงทุนคาดการณ์กันไว้)”  

นักเศรษฐศาสตร์ฮาร์วาร์ดเตือน ปี 67 โลกยังเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐเกิดถดถอยแรงขึ้นมาจริงๆ เฟดคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหลายครั้ง อาจต้องลดถึง 15 ครั้งด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่ 6 

ศาสตราจารย์โรกัฟฟ์ เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการจากทั่วโลกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานประชุม WEF 2024 ที่เมืองดาวอส ให้ความเห็นว่า เขาค่อนข้างจะมองในแง่ลบเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ เพราะหลายคนมองว่า ปี 2567 ทุกอย่างจะดำเนินไปได้ดีและเป็นปกติ เช่น IMF ที่ออกมาคาดการณ์ว่า ปีนี้โลกจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง (deep downturn)  แต่เขามองแย้งว่า ขณะนี้หลายเรื่อง "ไม่ปกติ" ดังนั้น ปีนี้เศรษฐกิจโลกจึงยังเสี่ยงที่อาจต้องเจอภาวะถดถอยแรง

“ผมกล่าวได้เลยว่า ปีนี้ (เศรษฐกิจโลก) คงไม่ดีเท่าปี 2566 ซึ่งดีเกินคาด แต่ถึงอย่างไร ปีนี้ก็คงไม่ถึงกับย่ำแย่มาก เพราะเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป”

ส่วนสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังคงมีความขัดแย้ง-แบ่งขั้วอย่างมากนั้น เขามองว่าจะยังคงทวีความแตกแยกอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตนี้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว จะทำให้เกิดภาวะความผันผวนขึ้นหลายอย่าง รวมทั้งความผันผวนของเงินเฟ้อ            

“เรากำลังอยู่ในภาวะสงครามเย็นครั้งที่สอง (Cold War II) ที่อาจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้โลกไร้เสถียรภาพได้อย่างมาก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1970”

นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟท่านนี้ กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่า ปีนี้จะเป็นปีที่เลวร้าย เพราะจริงๆแล้ว มันยังอาจเป็นปีที่ดีปีหนึ่งได้ เพียงแต่ว่า ปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ต้องเฝ้าระวังนั้น ยังมีอยู่มากดังกล่าวมา   

ข้อมูลอ้างอิง