สัญญาณเชิงลบเศรษฐกิจจีน การเติบโตต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษท่ามกลางวิกฤตอสังหาฯ

20 ม.ค. 2567 | 17:10 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2567 | 23:46 น.

ปี 2566 เป็นปีที่เศรษฐกิจจีนมีการเติบโตช้าที่สุดปีหนึ่งในรอบกว่า 30 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2533 สถิติของทางการจีนเผยว่า สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคที่ลดลง และความวุ่นวายทางภูมิรัฐศาสตร์โลก

 

สำนักสถิติแห่งชาติของจีน เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ของจีนเมื่อปี 2566 ขยายตัวที่อัตรา 5.2% หรือคิดเป็นมูลค่า 17.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ.1990) หากไม่นับรวมตัวเลขการขยายตัวของจีดีพี 3% เมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่โรคโควิด-19 ระบาดหนัก รัฐบาลจีนนำมาตรการโควิดเป็นศูนย์มาใช้ และมีการล๊อคดาวน์ในหลายพื้นที่

ตัวเลขดังกล่าวแม้จะเป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้ และยังเป็นระดับที่สูงกว่าตัวเลขการขยายตัวของจีดีพีในสหรัฐอเมริกา และยุโรป แต่ก็ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของจีนเอง และสร้างแรงกดดันให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีน ให้จำเป็นต้องเร่งนำมาตรการต่าง ๆมาใช้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และเร่งเพิ่มการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐบาลจีนยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดเมื่อปลายปี 2565 ทางการจีนตั้งเป้าหมายว่า จะเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตรา 5% เมื่อปีที่แล้ว (2566) ซึ่งก็สามารถทำได้ตามเป้า แต่หลังจากนั้น ก็เริ่มชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ที่น่าจับตาคือ ปริมาณการส่งออกของจีนซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ปรับตัวลดลงเมื่อปี 2566 ซึ่งนับเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี  2559 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการที่ประเทศตะวันตกต่าง ๆ ลดการพึ่งพาสินค้าจากจีนด้วยการกระจายห่วงโซ่อุปทานไปยังแหล่งอื่น ๆ ซึ่งล้วนมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเมื่อปีที่ผ่านมาเช่นกัน

ปริมาณการส่งออกของจีน ปรับตัวลดลงเมื่อปี 2566 ซึ่งนับเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

 

ความท้าทายเศรษฐกิจจีน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน นอกรอบการประชุม World Economic Forum (WEF) ครั้งที่ 54 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า สิ่งที่จีนจำเป็นต้องทำคือ ต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง หรือ hard landing โดยเตือนว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในมุมมองของ IMF ความท้าทายในระยะสั้นสำหรับจีน คือ

  • วิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
  • และภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ในระดับสูงมาก

ส่วน ความท้าทายในระยะยาวของจีน คือ

  • การเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากร โดยในปี 2566 จีนมีจำนวนประชากรลดลงเป็นปีที่สองติดต่อกัน สร้างความกังวลว่าจะมีผลกระทบระยะยาวต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  • และภาวะขาดความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

นางกอร์เกียวากล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้ว การปฏิรูปโครงสร้างคือสิ่งที่จีนจำเป็นต้องทำ เพื่อให้จีนยังคงสามารถเปิดกว้างทางเศรษฐกิจได้ต่อไป และเพื่อให้รูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศนั้น มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น

ภาวะขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เกิดขึ้น ถือเป็นความท้าทายในระยะยาว

 

ประชากรลดลงสองปีติดต่อ

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนชี้ว่า ประชากรจีนมีจำนวนลดลงสองปีติดต่อกันในปีที่ผ่านมา (2566) สร้างความกังวลว่าจะมีผลกระทบระยะยาวต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ จำนวนประชากรในจีนลดลง 2,080,000 คน คิดเป็น 0.15% ของประชากรทั้งหมดที่มีจำนวน 1,409 ล้านคนในปี 2566

ตัวเลขดังกล่าวลดลงมากกว่าสถิติในปี 2565 ที่มีจำนวนประชากรลดลง 850,000 คน โดยปี 2565 ถือเป็นปีแรกที่จำนวนประชากรจีนลดลง นับตั้งแต่เหตุทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในปีพ.ศ.2504 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่เหมา เจ๋อตุง เป็นผู้นำสูงสุดของจีน

สถิติชี้ให้เห็นว่า อัตราการตายของจีนในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.6% (11.1 ล้านคน) นับเป็นอัตราการตายที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อปี 2517 แต่ขณะเดียวกัน อัตราการเกิดของจีนกลับน้อยลง โดยมีการเกิดน้อยลง 5.7% (9,020,000 คน)  

ทั้งนี้ อัตราการเกิดที่หดตัวลงมาหลายศตวรรษของจีนนั้นเป็นผลมาจากนโยบายให้ประชาชนมีลูกคนเดียวในช่วงปี 2523-2558 และการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ที่ตามมาด้วยการย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง ซึ่งมีต้นทุนการเลี้ยงลูกที่สูงกว่า

นอกจากนี้ ปัญหาการว่างงานของคนวัยหนุ่มสาวที่สูงเป็นประวัติการณ์ รายได้ของพนักงานออฟฟิศที่ลดลง และวิกฤตการเงินในภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อปี 2566 เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้มีคนจำนวนมากขึ้น ที่ตัดสินใจจะไม่มีลูก

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ก่อให้เกิดความกังวลว่า ประเทศจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา กำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง โดยในระยะยาวจะมีจำนวนผู้บริโภคและแรงงานน้อยลง ในขณะที่มีต้นทุนในการดูแลจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

ในปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ประกาศว่า สตรีต้องสนองรับวัฒนธรรมการแต่งงานและการมีบุตรแบบใหม่ โดยผูกโยงเรื่องดังกล่าวเข้ากับการพัฒนาชาติ ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นเอง ก็ได้ประกาศมาตรการต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีบุตรเช่น การลดหย่อนภาษี เพิ่มวันลาเลี้ยงลูก รวมถึงลดหย่อนค่าบ้าน แต่เนื่องจากปัญหาขาดแคลนงบประมาณ ทำให้หลายนโยบายยังไม่ถูกบังคับใช้