เปิดข้อครหา “Shein” หลังถูกรุมฟ้องหลายข้อหา เลียนแบบ-บังคับข่มขู่

22 ม.ค. 2567 | 23:00 น.

Shein (ชีอิน) แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นสัญชาติจีนยอดนิยม มีสินค้าที่หลากหลายและราคาเข้าถึงได้ ทว่า ถูกหลายแบรนด์ใหญ่ฟ้องร้องไม่ขาดสาย ผู้บริโภคทั่วโลกโบกมือลา ไม่ไปต่อ

KEY

POINTS

  • Shein (ชีอิน) แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นสัญชาติจีนยอดนิยม ถูกหลายแบรนด์ใหญ่ฟ้องร้องไม่ขาดสาย พร้อมข้อครหามากมาย ทำผู้บริโภคทั่วโลกโบกมือลา ไม่ไปต่อ
  • ปมข้อครหา Shein บังคับใช้แรงงานพนักงานเกิน 18 ชม. และต้องผลิตสินค้ากว่าหลายร้อยชิ้นต่อวัน ภายใต้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ต่ำ 
  • Shein ยื่นข้อเสนอขายหุ้น IPO มูลค่ารวม 2.3 ล้านล้านบาท ในสหรัฐฯ แต่ต้องได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยของบริษัทก่อน ถึงจะอนุมัติให้ขายหุ้นต่อสาธารณชน

สำนักข่าว BBC รายงานเกี่ยวกับการถูกฟ้องร้องของแบรนด์ยอดนิยม “Shein (ชีอิน)” แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ของจีน ที่กำลังถูกพิพาทด้วยข้อกล่าวหาลอกเลียนแบบสินค้า จากแบรนด์ใหญ่ในตลาดสายแฟชั่น โดยกรณีล่าสุด Shein ได้ถูกแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Uniqlo (ยูนิโคล่) ฟ้องฐานกล่าวหาว่ากำลังขายของเลียนแบบ หลังเปิดขายกระเป๋าทรงคล้ายคลึงกับกระเป๋าสะพายไหล่รุ่น "Mary Poppins" ที่กำลังเป็นกระแสของยูนิโคล่

ข้อพิพาท “Uniqlo” ฟ้อง “Shein” ฐานลอกเลียนแบบ 

อ้างอิงตามคดีทางกฎหมายที่มีการยื่นฟ้องในโตเกียว Uniqlo อ้างว่ากระเป๋าของ Shein บางใบ "มีลักษณะใกล้เคียง" กับดีไซน์กระเป๋าของแบรนด์ตัวเอง ซึ่งอาจบั่นทอนความมั่นใจในแบรนด์ของลูกค้าได้ โดยกระเป๋าสะพายข้างของ Uniqlo ได้รับความนิยมอย่างมากทางออนไลน์ จากเหล่าติ๊กต๊อกเกอร์ (Tiktokker) ที่ออกมาแสดงให้เห็นว่ากระเป๋าสามารถจุของได้หลายชิ้น ทว่า ทาง Shein ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นจาก BBC ในทันที

โดย Uniqlo ได้เรียกร้องให้ Shein หยุดขายกระเป๋ารุ่นดังกล่าวทันที พร้อมทั้งขอค่าชดเชยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่ง Fast Retailing เจ้าของ Uniqlo ระบุว่า ได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลแขวงโตเกียวเพื่อฟ้องร้อง Shein Japan และบริษัทในเครืออีก 2 แห่งเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

เปิดข้อครหา “Shein” หลังถูกรุมฟ้องหลายข้อหา เลียนแบบ-บังคับข่มขู่

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ “Shein”

Shein ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 ในประเทศจีน โดยมียอดขายพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่เกิดโรคระบาด ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการช้อปปิ้งออนไลน์และกลยุทธ์การตลาดที่เน้นโซเชียลมีเดีย อิงตามเว็บไซต์ของ Shein ระบุว่า บริษัทมีพนักงานเกือบ 10,000 คนทั่วโลก และมีการจำหน่ายสินค้าให้กับหลายประเทศมากกว่า 150 ประเทศ โดยปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ และมีรายงานเผยแพร่ว่ากำลังพิจารณาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในนิวยอร์ก

แต่ก็ยังดึงดูดความขัดแย้งด้วยราคาสินค้าที่ต่ำ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแนวปฏิบัติในการจ้างงานของบริษัท แต่ทาง Shein กล่าวว่า บริษัทมีการผลิตเสื้อผ้าในปริมาณที่น้อย แต่มีประสิทธิภาพมากกว่าและช่วยลดการสิ้นเปลือง ทั้งนี้ ในเรื่องของแนวปฏิบัติในการจ้างงานที่มีประเด็นกันอย่างต่อเนื่องถึงการที่ Shein บังคับใช้แรงงานพนักงานเกิน 18 ชั่วโมง และต้องผลิตสินค้ากว่าหลายร้อยชิ้นต่อวัน ภายใต้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ต่ำ ทว่า ทาง Shein ยืนยันว่า บริษัทไม่มีนโยบายต่อต้านการใช้แรงงานบังคับ (Forced Labour) แต่อย่างใด  

ยังไม่รวมกับข้อกล่าวหาทางออนไลน์ จากเจ้าของธุรกิจรายเล็ก ที่อ้างว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตนถูกลอกเลียนแบบจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ด้านแฟชั่นดังกล่าว พร้อมออกมาแสดงจุดยืนและเจตจำนงให้เคารพนักออกแบบและศิลปิน รวมถึงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น  

"ผู้บริโภค" ออกมาแบน ไม่สนับสนุนสินค้าภายใต้ "Shein"

นอกจากนี้ Shein ยังมีแบรนด์ลูกชื่อว่า "Sheglam (ชีแกลม)" ที่ดำเนินการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ในราคาย่อมเยา แต่ผู้บริโภคจากทั้งไทยและต่างประเทศก็ได้ออกมาแบน Shein เนื่องจากมีข้อครหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานพนักงานเกินความเป็นมนุษย์ ภายใต้ค่าตอบแทนที่ต่ำเตี้ย อีกทั้งยังลอกเลียนแบบผลงานและดีไซน์ของผู้อื่นตั้งแต่แบรนด์เล็กๆ ตลอดจนแบรนด์ใหญ่ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง จึงนำไปสู่การรณรงค์ไม่สนับสนุนสินค้าใดๆ ก็ตามที่อยู่ภายใต้การบริหารของ Shein 

เปิดข้อครหา “Shein” หลังถูกรุมฟ้องหลายข้อหา เลียนแบบ-บังคับข่มขู่

ข้อพิพาท “H&M” ฟ้อง “Shein” ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์

เมื่อช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา Hennes & Mauritz (H&M) แบรนด์เครื่องแต่งกายขึ้นชื่อจากประเทศสวีเดน ได้ออกมาฟ้องร้อง Shein ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ในฮ่องกง ซึ่งจุดประสงค์ของการดำเนินคดีนั้น ได้มุ่งเป้าไปที่การทุเลาภัยคุกคามจากคู่แข่งชาวจีน จึงได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 โดยมี Zoetop Business Co. ซึ่งเป็นนิติบุคคลในฮ่องกง อดีตเจ้าของ Shein เป็นหนึ่งในจำเลย เช่นเดียวกับ Shein Group Ltd. 

สำนักข่าว Bloomberg News รายงานถึงหมายเรียกที่ได้รับล่าสุดจาก H&M ในสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน ที่ออกมาในเดือนกรกฎาคมปี 2564 ว่าด้วยการเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่ระบุรายละเอียด และคำสั่งห้ามไม่ให้ Shein ละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า โดยรายละเอียดการยื่นฟ้อง รวมถึงภาพถ่ายสิ่งของหลายสิบชิ้น ตั้งแต่ชุดว่ายน้ำไปจนถึงเสื้อสเวตเตอร์ที่ H&M ระบุว่าเป็นหลักฐานที่ Shein ขโมยการออกแบบของตนไปนั้น ได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะชนหลังจากการไต่สวนที่ศาลสูงฮ่องกง 

ทาง H&M ยืนยันว่า ได้ยื่นฟ้อง Shein ในฮ่องกง โดยอ้างว่าคู่แข่งฟาสต์แฟชั่นดังกล่าว ได้ละเมิดการออกแบบของเราในหลายกรณี ตามโฆษกของผู้ค้าปลีกแฟชั่นสัญชาติสวีเดน ทั้งนี้ Shein ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่รอดำเนินการ

แม้ว่า Shein จะมีข้อกล่าวหามากมายเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นกับผู้ค้าปลีกออนไลน์ในช่วงสามปีที่ผ่านมา แต่การกระทำของ H&M ในการฟ้องร้องคู่แข่งด้านฟาสต์แฟชั่นถือเป็นกรณีที่ไม่ค่อยพบบ่อยนัก เนื่องด้วยยอดขายของ Shein ในปี 2564 นั้น น้อยกว่าของ H&M อยู่มาก แต่กลับมีการเติบโตของยอดขายที่พุ่งสูงขึ้น

อันได้รับแรงหนุนจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรวดเร็ว และกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลที่แข็งแกร่งบนโซเชียลมีเดีย ที่สามารถดึงดูดความสนใจของบริษัทและนักออกแบบในตลาดตะวันตก รวมถึงสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้

เปิดข้อครหา “Shein” หลังถูกรุมฟ้องหลายข้อหา เลียนแบบ-บังคับข่มขู่

“Shein” ฟ้องร้อง “Temu” ข้อหาละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ แต่ถูกโต้กลับทันควัน

Shein ไม่ได้เป็นฝ่ายรับเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และได้มีการฟ้องร้อง "Temu" ผู้ค้าปลีกออนไลน์ของจีนในสหรัฐฯ ไปเมื่อปีที่แล้ว โดยกล่าวหาว่า Temu ละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ตลอดจนมีแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่เป็นเท็จและหลอกลวง ทั้งนี้ ทาง Temu ได้โต้กลับโดยกล่าวหาว่า Shein ได้ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด โดยใช้การข่มขู่เพื่อหยุดไม่ให้ผู้ผลิตเสื้อผ้าและซัพพลายเออร์มาร่วมงานด้วย และได้มีการยื่นฟ้อง Shein ด้วยข้อกังวลด้านลิขสิทธิ์และเรื่องของการการข่มขู่ซัพพลายเออร์ในรูปแบบมาเฟีย 

สำนักข่าว CNBC รายงานการยื่นฟ้องของ Temu ต่อ Shein โดยบริษัท WhaleCo ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในบอสตัน และดำเนินการในชื่อ Temu ในสหรัฐอเมริกา กล่าวหาว่า Shein แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นสัญชาติจีนได้ละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา และกักขังพ่อค้าของตนอย่างไม่ถูกต้อง ท่ามกลางความเคลื่อนไหวอื่นๆ เพื่อหยุดยั้งการเติบโตของ Temu ในสหรัฐอเมริกา โดยทางโฆษกของ Temu ระบุว่า “เราฟ้อง Shein เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ การกระทำของพวกเขาได้บานปลาย” 

พร้อมขยายความว่าเริ่มมีการกักขังพ่อค้าอย่างผิดกฎหมาย บังคับขอโทรศัพท์มือถือส่วนตัว ขโมยบัญชีผู้ค้าและรหัสผ่าน รวมถึงขโมยความลับทางธุรกิจของ Temu และบังคับให้พ่อค้าออกจากแพลตฟอร์มของ Temu ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุเกินไป ทำให้บริษัทไม่มีทางเลือก นอกจากต้องทำการฟ้องร้อง ทั้งนี้ Shein ก็ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องของความคิดเห็นของ CNBC ในทันทีเช่นเดียวกัน 

ซึ่งทาง Shein เคยยื่นฟ้องร้อง Temu เกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้วครั้งหนึ่ง ในเดือนธันวาคมปี 2565 ขณะที่ทาง Temu ก็ได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องโต้ Shein ด้วยเรื่องข้อกังวลด้านลิขสิทธิ์และการต่อต้านการผูกขาดทางธุรกิจ กลับไปในเดือนกรกฏาคม 2566 ที่ผ่านมา ทว่า ในเดือนตุลาคม 2566 ทั้งสองฝ่ายได้ตัดสินใจยกเลิกการฟ้องร้องกันไป ก่อนที่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทาง Temu จะกลับมาฟ้องร้อง Shein อีกครั้ง ด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการข่มขู่และบังคับให้ผู้ผลิตทำข้อตกลงแบบผูกขาด เมื่อเดอนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

ตามคำฟ้องล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่า นับตั้งแต่ Temu เปิดตัวในสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน 2565 บริษัทก็ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ด้วยเหตุนี้ Temu จึงเป็นเป้าหมายของการมุ่งร้ายและผิดกฎหมาย อันเป็นการดำเนินการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อขัดขวางความสำเร็จของ Temu ที่ดำเนินกิจการโดยมี PDD Holdings ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนเป็นเจ้าของ

ซึ่งสนับสนุน Pinduoduo แอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซในจีน และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในหมู่นักช้อปที่คำนึงถึงเรื่องต้นทุนและราคา โดยภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากเปิดตัวแอปฯ Temu ก็ติดอันดับและขยายไปยังประเทศต่างๆ อย่างรวดเร็ว

เปิดข้อครหา “Shein” หลังถูกรุมฟ้องหลายข้อหา เลียนแบบ-บังคับข่มขู่

Shein ยื่นเสนอขายหุ้นมูลค่ารวมล้านล้านบาทในสหรัฐฯ แต่ยังมีชนักติดหลัง รอการตรวจสอบ 

ล่าสุด หน่วยงานกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตที่ทรงพลังของจีนกำลังดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยของ Shein ที่กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเสนอขายหุ้น IPO มูลค่ารวม 2.3 ล้านล้านบาท แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ ในปี 2567 นี้ รวมถึงทบทวนเรื่องการระบุตำแหน่ง Shein ในฐานะบริษัทจีนอย่างเต็มที่ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่า Shein จะสามารถรับประกันว่าจะไม่มีการรั่วไหลของข้อมูลไปยังต่างประเทศ

นอกจากนี้ Shein ยังคงมีข้อครหาในเรื่องการบังคับใช้แรงงานพนักงานและข้อกล่าวหาอื่นๆ ที่ต้องได้รับการตรวจสอบต่อไป ก่อนที่จะอนุญาตให้ทำการขายหุ้นดังกล่าวต่อสาธารณชน

 

ขอบคุณที่มา : สำนักข่าว BBC  , สำนักข่าว Bloomberg News , สำนักข่าว CNBC