ประวัติ “ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์” ปธน.เยอรมนีคนแรก เยือนไทยในรอบ 22 ปี

24 ม.ค. 2567 | 06:41 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2567 | 07:15 น.

ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 24 - 26 มกราคม 2567 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี โดยการเยือนครั้งนี้เป็นการเยือนระดับประมุขประเทศครั้งแรกในรอบ 22 ปี

 

ประธานาธิบดี ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประมุขแห่งประเทศเยอรมนี เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1956 ที่เมืองเด็ตโมลท์ รัฐนอร์ทไรน์-เวสฟาเลีย ปัจจุบันอายุ 68 ปี บิดาเป็นช่างไม้ มารดาเป็นชาวโปแลนด์ที่อพยพลี้ภัยมายังเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชีวิตวัยเด็กไม่ได้สุขสบายนัก เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมเขาเข้ารับราชการทหารระหว่างปี 1974-1976 ก่อนที่จะออกมาศึกษาต่อด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยกีเซิน (หรือชื่อเต็มของมหาวิทยาลัย คือ Justus Liebig University Giessen) ในรัฐเฮ็สเซิน

หลังจบการศึกษา เขาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายและรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยกีเซิน โดยทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วยกระทั่งคว้าปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์ในปี 1991 หลังจากนั้นก็เริ่มเบนเข็มเข้าสู่เส้นทางการเมืองเพราะอยากช่วยแก้ปัญหาคนเร่ร่อน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในเยอรมนีช่วงเวลานั้น โดยเข้าเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับรัฐบาลท้องถิ่นรัฐโลเวอร์แซกโซนี จากนั้นสองปีต่อมา ก็ได้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีรัฐโลเวอร์แซกโซนี คือนายเกอร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ ซึ่งต่อมานายชโรเดอร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลกลางเยอรมนีในปี 1998-2005 และเป็นหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี หรือ SPD (Sozialdemokratische Partei Deutschlands) ที่เป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน

ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี

ชไตน์ไมเออร์เองก็ได้สังกัดพรรค SPD ด้วย เขาเติบโตทางการเมืองได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 2 สมัย คือระหว่างปี 2005-2009 และปี 2013-2017 และเป็นรองนายกรัฐมนตรีระหว่างปี พ.ศ. 2007 – 2009 ก่อนจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเยอรมนีตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2017 (พ.ศ. 2560) มาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ตำแหน่งประธานาธิบดีของเยอรมนี หรือชื่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า “ประธานาธิบดีสหพันธ์” (Bundespräsident) เป็นประมุขแห่งรัฐของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นตำแหน่งพิธีการและถูกจำกัดบทบาทด้วยองค์ประกอบกฎหมายและจารีตธรรมนูญ มีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 5 ปีและเป็นได้สูงสุด 2 สมัย ส่วนหัวหน้าฝ่ายบริหารนั้นคือนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันคือนายโอลาฟ โชลท์ส จากพรรค SPD เช่นกัน

ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ เป็นประมุขแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีคนแรกที่มาเยือนประเทศไทยในรอบ 22 ปี โดยก่อนหน้านั้น ประมุขเยอรมนีที่มาเยือนประเทศไทยครั้งล่าสุดคือนายโยฮันเนส เรา (Johannes Rau) ในปี 2002 (พ.ศ. 2545)

ประเทศไทยถือเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนลำดับที่ 6 ที่ชไตน์ไมเออร์เคยเดินทางเยือนนับตั้งแต่ที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยสิงคโปร์เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เขาเดินทางเยือนในปี 2017 จากนั้นก็มาเยือนเป็นครั้งที่สองในปี 2022 โดยปีนั้นเขาแวะเยือนอินโดนีเซียด้วย

เยือนกัมพูชาในปี 2566 พบสมเด็จฮุนเซน ซึ่งยังคงเป็นนายกฯกัมพูชาในขณะนั้น

ต่อมาในปี 2023 ดร.ชไตน์ไมเออร์นำคณะเยือนกัมพูชา และมาเลเซีย ส่วนปีนี้ (2024) นอกจากการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค. ในฐานะอาคันตุกะของรัฐบาลแล้ว เขาเพิ่งเยือนกรุงฮานอยและโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 23-24 ม.ค. พร้อมด้วยคณะนักธุรกิจจากหลากหลายอุตสาหกรรมรวมทั้งบริษัท แฮร์เรนคเนคท์ (Herrenknecht) ผู้ผลิตเครื่องจักรกลด้านการขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งมีการลงทุนในโครงการรถไฟใต้ดินของนครโฮจิมินห์ และบริษัทผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานลม (PNE AG) ที่สนใจการทำวินด์ฟาร์มนอกชายฝั่งเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีการลงนามใน MOU ความร่วมมือด้านการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะบุคลากรระหว่างกระทรวงแรงงานเยอรมนีและกระทรวงแรงงานเวียดนามด้วย

ปธน.ชไตน์ไมเออร์ และภริยา ขณะเยือนกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 (ภาพจาก Deutshe Welle)

สำหรับการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนีฯ พร้อมคณะจะเดินทางไปศึกษาดูงานในหลายภาคส่วนที่มีศักยภาพของไทย อาทิ โรงงานผลิตรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด โครงการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบครบวงจร อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาชีวศึกษา