ไทยเนื้อหอม “สุริยะ” ปลื้ม เยอรมนีชวนโรดโชว์ แลนด์บริดจ์ ดึงต่างชาติร่วมทุน

07 พ.ย. 2566 | 08:52 น.
อัพเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2566 | 09:05 น.

“สุริยะ” เผยเยอรมนีตามจีบ ชวนไทยโรดโชว์แลนด์บริดจ์ หวังดึงต่างชาติร่วมทุน ฟากสนข.เผยเตรียมโรดโชว์ต่อ 9 ประเทศ เริ่มพ.ย.66-ม.ค.67 ลุ้นผลศึกษาเสร็จปลายปี 67

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า  H.E. Mr. Ernst Wolfgang Reichel เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยและคณะเข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่ง เบื้องต้นได้มีการหารือในการนำเสนอถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ,โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

  ไทยเนื้อหอม “สุริยะ” ปลื้ม เยอรมนีชวนโรดโชว์ แลนด์บริดจ์ ดึงต่างชาติร่วมทุน

“ทางเยอรมนีมีความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์และจะนำโครงการนี้ไปรายงานต่อรัฐบาลประเทศเยอรมนี เพราะเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยดึงดูดนักลงทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันโครงการฯดังกล่าวถือเป็นที่ยอมรับนักลงทุนต่างประเทศ โดยทางเยอรมนีได้ชักชวนให้ไทยไปโรดโชว์ในประเทศเยอรมนีด้วย” 

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.ยังมีแผนจะไปโรดโชว์ต่างประเทศในแถบทวีปยุโยป,เอเชีย,และตะวันออกกลาง เช่น จีน,เกาหลี,ญี่ปุ่น ,สหรัฐอเมริกา,ฝรั่งเศส,เยอรมนี,สวิสเซอร์แลนด์,ซาอุดิอาระเบีย,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ โดยการโรดโชว์ในครั้งนี้จะมุ่งเน้นที่ผู้ประกอบการสายการเดินเรือขนาดใหญ่,ผู้ประกอบการบริหารจัดการท่าเรือ รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่มีเงินทุนและมีเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาโครงการฯต่อได้ ซึ่งระยะเวลาในการโรดโชว์จะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566-มกราคม 2567 

ไทยเนื้อหอม “สุริยะ” ปลื้ม เยอรมนีชวนโรดโชว์ แลนด์บริดจ์ ดึงต่างชาติร่วมทุน

ขณะเดียวกันโครงการแลนด์บริดจ์ยังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มย่อยที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง  ประกอบด้วย การเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ภายในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ภายในเดือนมีนาคม 2567 เพื่อจัดทำรายงานรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุภาพ (EHIA) คาดว่าผลการศึกษาของโครงการฯจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567  

 

ทั้งนี้หลังจากโรดโชว์เสร็จแล้ว กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเดือนเมษายน-มิถุนายน 2568 จากนั้นจะเสนอ ครม.เห็นชอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลในโครงการภายในเดือนสิงหาคม 2568 และให้เอกชนที่ชนะการประมูลเริ่มก่อสร้างในเดือนกันยายน2568 โดยโครงการนี้จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือนตุลาคม 2573

 

สำหรับผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ เบื้องต้นจะใช้วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท, โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท, โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) รวม 1.4 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท
 

นอกจากนี้ไทยและเยอรมนีมีความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ได้แก่ 1. ความร่วมมือด้านระบบรางภายใต้แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนง (JDI) ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงดิจิทัลและคมนาคมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการดำเนินการร่วมกัน เช่น การจัดตั้งสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย (GTRA) เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาบุคลากรและการวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือด้านระบบรางให้มีความยังยืนและเป็นรูปธรรม 

 

2.โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งและการขนส่งอย่างยั่งยืนอีกหลายโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีกรอบแนวทางพัฒนาด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น Green Transport เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และ PM 2.5 โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในระบบการเดินทางและขนส่งทั้งในรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสารและระบบการขนส่งต่าง ๆ รวมทั้งการบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการจราจร