“ปานปรีย์” เยือนหลวงพระบาง ร่วมเวทีประชุม AMM Retreat ครั้งแรก 28-29 ม.ค.นี้

27 ม.ค. 2567 | 17:30 น.

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AMM Retreat) ที่เมืองหลวงพระบาง วันที่ 28-29 มกราคมนี้ ประเดิมภารกิจเวทีการประชุมอาเซียนปี 2567 ที่มีลาวเป็นประธาน

 

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางเยือน เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างวันที่ 28-29มกราคม 2567 เพื่อเข้าร่วม การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat: AMM Retreat) ตามคำเชิญของนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ภายหลังที่ สปป.ลาว เข้ารับหน้าที่ประธานอาเซียนปี 2567 ต่อจากอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ การประชุม AMM Retreat เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรกของปี โดยจะหารือเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินการของอาเซียนตลอดปี 2567 ภายใต้แนวคิดหลักการเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว คือ “ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience” และติดตามผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อปี 2566

นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศและในภูมิภาคที่มีผลกระทบต่ออาเซียน เช่น สถานการณ์ในเมียนมา เพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียน ซึ่งจำเป็นในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ร่วมกันต่อไป  

สปป.ลาว เป็นประธานอาเซียนในปีนี้

“การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรกของการเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว โดย สปป.ลาว จะแจ้งประเด็นสำคัญที่จะผลักดันในการเป็นประธานอาเซียนในปี 2567 ภายใต้แนวคิดหลัก ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience และเป็นโอกาสให้ทุกประเทศหารือเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินการของอาเซียนตลอดปี 2567”

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ยังระบุในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์เมื่อวันศุกร์ (26 ม.ค.) ด้วยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะหารือประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน อาทิ

  • ASEAN Vision 2045
  • สถานการณ์ในเมียนมา
  • และบทบาทการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

ทั้งนี้ ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีท่าทีร่วมกันกับ สปป. ลาว ในหลายประเด็น จะสนับสนุนการทำหน้าที่ประธานของ สปป.ลาว รวมทั้งผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของไทยและอยู่ในความสนใจร่วมกันอย่างเต็มที่

โจทย์หินของลาว ในฐานะประธานอาเซียน 2567 

ด้านสำนักข่าวเอพีรายงานว่า กรณี สปป. ลาว ขึ้นรับประธานของอาเซียนในปีนี้ จะเจอโจทย์หินนานัปการ ทั้งประเด็นรอยร้าวระหว่างจีนและชาติอาเซียนบางประเทศในทะเลจีนใต้รวมทั้งวิกฤตสู้รบในเมียนมา โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า ลาวมีช่องทางที่จะสร้างบทบาทในฐานะประธานอาเซียน แต่ความสนิทสนมกับจีนอาจจะเป็นตัวแปรที่สำคัญในเรื่องนี้

28-29 ม.ค.2567 เมืองหลวงพระบางของสปป. ลาว จะเป็นสถานที่รับรองรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หลังจากที่ลาวรับไม้ต่อการเป็นประธานเวียนของอาเซียนมาจากอินโดนีเซีย

นักวิเคราะห์มองว่า การขึ้นมาเป็นประธานอาเซียนของลาว ซึ่งเป็นชาติสมาชิกที่มีขนาดเล็กและยากจนที่สุดในอาเซียน อาจไม่ค่อยเอื้ออำนวยนักในแง่การคลี่คลายปัญหาที่มีความร้อนแรงเหล่านี้

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว (ขวา) รับไม้ต่อการเป็นประธานเวียนของอาเซียนจากประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

นายชาเฟียห์ มูฮิบัต ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ศึกษาด้านยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ ( Centre for Strategic and International Studies) ในประเทศอินโดนีเซีย กล่าวกับเอพีว่า ในปีที่แล้ว (2566) อินโดนีเซียเอง ก็ไม่มีความคืบหน้ามากเท่าที่คาดหวังกันในการคลี่คลายประเด็นเมียนมาและข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และเมื่อตำแหน่งประธานอาเซียนเลื่อนจากอินโดนีเซียมายังลาว เขาก็เลยมีความคาดหวังค่อนข้างต่ำ ในแง่ที่ว่าลาวจะทำอะไรได้จริงๆจังๆ บ้าง

ยกตัวอย่างประเด็นเมียนมา มูฮิบัตกล่าวว่า นับตั้งแต่ฝ่ายกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2564 อาเซียนก็ตอบสนองด้วยการมีฉันทามติ 5 ข้อ เป็นแนวทางสู่สันติภาพที่ประกอบด้วยการหยุดยิงชั่วคราวทันที การให้ตัวแทนอาเซียนเป็นตัวกลางในการพูดคุยระหว่างคู่กรณี และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่รัฐบาลทหารเมียนมาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับฉันทามติ 5 ข้อดังกล่าว นอกจากนี้ ความพยายามของอินโดนีเซียในการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเมียนมาถึง 180 ครั้งที่ผ่านมา ก็ไม่ได้นำไปสู่มรรคผลอะไร ในขณะที่การสู้รบก็ยิ่งดุเดือดมากขึ้น

ขณะที่ มูฮัมหมัด ไฟซาล จากสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ แห่ง S. Rajaratnam School of International Studies ในประเทศสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า จริง ๆ แล้วอาเซียนมีแต้มต่อที่น้อยมากในเรื่องเมียนมา เขามองว่า เมียนมาไม่ได้ใส่ใจอาเซียนเลย รวมทั้งฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงที่อินโดนีเซียดำรงตำแหน่งประธาน ได้มีการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนพิเศษของอาเซียนไว้ และยังมี กลไก 3 ประสาน หรือ “ทรอยกา” ที่มีสมาชิกมาจากชาติอาเซียนที่เพิ่งลงจากตำแหน่งประธาน ประธานปีปัจจุบัน และประธานในปีหน้าของอาเซียน มาทำงานร่วมกันให้เกิดความต่อเนื่องในประเด็นเมียนมา ซึ่งนักการทูตของลาวก็ได้เดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ระดับผู้นำของเมียนมามาแล้ว

“ลาวสามารถใช้กลไกทรอยกาเพื่อเสริมแรงการทำงาน(ในประเด็นเมียนมา) ซึ่งดีกว่าที่จะดำเนินการอะไรเพียงลำพัง” ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อดีตเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศลาว ที่ปัจจุบันทำงานให้กับศูนย์ Asia-Pacific Center for Security Studies ในรัฐฮาวาย ให้ความเห็นกับเอพี

ปัจจุบัน รัฐบาลทหารเมียนมากำลังรับมือกับการโจมตีจากกลุ่มพันธมิตรต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงกองกำลังติดอาวุธในหลายพื้นที่อิทธิพลของชนกลุ่มน้อย ขณะที่จีนก็ถูกมองว่าให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรเหล่านี้โดยอ้อมๆ เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ แต่อีกทางหนึ่งรัฐบาลปักกิ่งก็มีอิทธิพลกับกองทัพเมียนมาด้วยเช่นกัน

และเมื่อพูดถึงอิทธิพลจีนในภูมิภาคนี้แล้ว ในแง่ความสัมพันธ์กับจีน ลาวถือว่าเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกอาเซียนที่มี “สายสัมพันธ์แนบแน่น” กับรัฐบาลปักกิ่ง จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า จีนที่ย้ำจุดยืนไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นๆ จะถูกเมียนมา หรือลาว ดึงเข้ามามีบทบาทใดๆหรือไม่

นอกจากนี้ จีนยังมีการขยายอิทธิพลในพื้นที่ทะเลจีนใต้ จนทำให้สมาชิกอาเซียนที่อ้างสิทธิ์ในพื้นที่อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน กลายเป็นคู่พิพาทของจีน ในน่านน้ำที่สำคัญที่สุดสำหรับการค้าโลกแห่งหนึ่ง ล่าสุดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จีนย้ำว่าจะยังใช้มาตรการทางทหารกดดันฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นคู่กรณีในทะเลจีนใต้ต่อไป หลังมีการกระทบกระทั่งกันในน่านน้ำ โดยจีนใช้เลเซอร์และปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงใส่เรือยามชายฝั่งและเรือเสบียงของฟิลิปปินส์ ทำให้ฟิลิปปินส์ตอบโต้ด้วยการประท้วงทางการทูต ขณะเดียวกัน ยังแสดงความน้อยใจที่สมาชิกชาติอื่นๆในอาเซียนไม่สนับสนุนฟิลิปปินส์ในประเด็นนี้มากพอ

“คาดว่าคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ทะเลจีนใต้ในปีที่ลาวเป็นประธานอาเซียน เนื่องจากลาวเองติดหนี้จีนจำนวนมากจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบรถไฟความเร็วสูง” ไฟซาล จาก S.Rajaratnam School of International Studies ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ ในประเทศสิงคโปร์ ให้ความเห็น และว่า ลาวจะตกอยู่ใต้แรงกดดันอย่างหนักจากจีน เพราะต้องพึ่งพาจีนแทบทุกด้าน เขาเชื่อว่า ลาวในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ คงจะพยายามคงไว้ซึ่งสภาวะดั้งเดิม ดำรงรักษาสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และไม่ทำอะไรเพิ่มมากนัก