จากกรณีที่ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้เจรจา กับ นายเจค ซัลลิเวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ โดยหารือแบบปิดที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน โดยอ้างอิงจาก โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ระบุว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสจากรัฐบาลปักกิ่งและวอชิงตัน น่าจะหารือกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ตลอดจนประเด็นไต้หวัน และ “ประเด็นภูมิภาคที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”
ล่าสุด นายหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวเตือนนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ว่า อย่าพยายามจะทำให้ไต้หวันแยกดินแดนเป็นเอกราชจากจีน ระหว่างการหารือเมื่อวันที่ 26-27 ม.ค.ที่กรุงเทพฯ
กระทรวงต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์โดยอ้างคำพูดของนายหวังว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี และไม่ต้องการให้สหรัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับใดๆ กับไต้หวัน
ด้านทำเนียบขาวระบุว่า นายซัลลิแวนได้หารือกับนายหวังเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดข้ามช่องแคบ พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน
นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศจีนเสริมว่า จีนและสหรัฐยังเห็นพ้องที่จะจัดการเจรจาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระหว่างรัฐบาลเป็นครั้งแรกในฤดูใบไม้ผลินี้
การประชุมครั้งนี้นับเป็นการสานต่อความมุ่งมั่นของทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ระหว่างการประชุมสุดยอดที่นครซานฟรานซิสโกในเดือนพ.ย.2566 เพื่อรักษาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และจัดการความสัมพันธ์อย่างมีความรับผิดชอบ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นับเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐและจีนได้พบปะกันแบบตัวต่อตัว หลังจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนการแยกไต้หวันให้เป็นอิสระจากจีน คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันติดต่อกันเป็นสมัยที่ 3
ทั้งนี้ จีนซึ่งมองว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ คัดค้านการติดต่อกันอย่างเป็นทางการในทุกรูปแบบระหว่างไต้หวันกับสหรัฐ และได้ดำเนินการตอบโต้การเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อปี 2565 ด้วยการซ้อมรบทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งรวมถึงการยิงขีปนาวุธและการจำลองปิดล้อมเกาะไต้หวัน เนื่องจากจีนมองว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศเดินทางเยือนไต้หวันเท่ากับเป็นการยอมรับอธิปไตยของไต้หวัน.