เผยแนวโน้มการลงทุนเอกชนญี่ปุ่นในไทยเริ่มแผ่ว ความสนใจมุ่งเวียดนาม

31 ม.ค. 2567 | 07:05 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2567 | 07:51 น.

หอการค้าญี่ปุ่นฯ เผยผลสำรวจความเห็นบริษัทเอกชนร่วมทุนญี่ปุ่นในไทยช่วงครึ่งหลังของปี 66 พบบริษัทที่คาดจะ "ลงทุนเพิ่ม" ด้านโรงงานและเครื่องจักรในปีนี้ (2567) ลดลงมาอยู่ที่ 24% ขณะที่ความสนใจในการพัฒนาธุรกิจนั้นมุ่งไปที่เวียดนามถึง 48%

 

30 ม.ค. 2567 ในการเผย ผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ของ บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งจัดทำโดย หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) ระหว่างวันที่ 28 พ.ย. ถึง 20 ธ.ค. 2566 โดยมีการส่งแบบสำรวจไปยังบริษัทที่เป็นสมาชิก JCCB จำนวน 1,646 ราย มีการตอบกลับ 539 ราย (32.7%) พบว่า สภาพธุรกิจที่สะท้อนจากค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ หรือ Diffusion Index (DI) ซึ่งเปรียบเทียบสภาพธุรกิจในช่วงระยะเวลา 6 เดือนกับช่วงระยะเวลา 6 เดือนก่อนหน้า พบว่า ดัชนี DI ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ -16 (ตัวเลขคาดการณ์) จากที่เคยอยู่ในระดับ -10 ในช่วงครึ่งแรกของปีเดียวกัน สะท้อนคาดการณ์ที่ว่าสภาพธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปีปรับตัวแย่ลง

นายคุโรดะ จุน ประธานประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพฯ) ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของหอการค้าญี่ปุ่น กล่าวว่า แนวโน้มดังกล่าวเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การบริโภคสินค้าคงทนที่ยังคงซบเซา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว และอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออกลดลงซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินแบบตึงตัว แม้ว่าจะได้รับผลดีอยู่บ้างจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวขาเข้าและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลงก็ตาม

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) แถลงผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งหลังของปี 2566 (30 ม.ค.67)

 

คาดการณ์สภาพธุรกิจปรับตัวดีขึ้นครึ่งแรกปีนี้

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ดีขึ้นสำหรับครึ่งแรกของปี 2567 นี้ โดยบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่น 31% มองว่า สภาพธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น (เมื่อเทียบกับครึ่งหลังของปี 66) โดยคาดว่าดัชนี DI จะปรับตัวดีขึ้นจาก -16 เป็น 10 เนื่องจากผู้ประกอบการคาดหวังต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวขาเข้า จากมาตรการอย่างเช่น “ฟรีวีซ่า”  และผลเชิงบวกของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย เช่น มาตรการกระตุ้นการบริโภครวมทั้งมาตรการด้านภาษี นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออกด้วย

นายคุโรดะ จุน ยังเสริมด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากการที่ไทยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและมีการสนับสนุนด้านการเงินด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการที่ตอบการสำรวจว่า มองสภาพธุรกิจในช่วงครึ่งแรกปีนี้ “ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” นั้นมีสัดส่วน 47% และที่มองมุมลบว่า สภาพธุรกิจจะปรับตัวแย่ลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มี 21%

การลงทุนเพิ่มด้านโรงงานและเครื่องจักร "แผ่วลง"

ผลสำรวจครั้งนี้ สะท้อนแนวโน้มการลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรในปี 2567 ที่ลดลง โดยการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการที่ตอบว่า คาดจะลงทุนเพิ่มนั้น อยู่ที่ 24% ลดลงจาก 30% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

ส่วนที่ระบุว่าจะ “ลงทุนคงที่” นั้นมี 45% เพิ่มขึ้นจากเดิม 41% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ขณะที่บริษัทที่ตอบว่าจะลงทุน “ลดลง” ในปีนี้ มี 15% เพิ่มจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่คำตอบว่าจะลงทุนลดลงมีเพียง 13%

ทั้งนี้ คำตอบของผู้ประกอบการที่ว่าจะลงทุนเพิ่มซึ่งมีสัดส่วนน้อยลงนั้น รวมทั้งการคงที่ของการลงทุนซึ่งเป็นคำตอบของบางบริษัท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนตามที่วางแผนไว้เดิมนั้นได้สำเร็จลุล่วงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในด้านโรงงานหรือด้านบุคลากร

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงสถานการณ์ของบริษัทในการพัฒนาธุรกิจในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น บริษัทส่วนใหญ่ (57%) ระบุว่า “ไม่มีแผนจะพัฒนาธุรกิจ” ขณะที่บางส่วน (32%) ระบุว่า “มีการพัฒนาธุรกิจไปแล้ว” (กรณีมีการพัฒนาหลังปี 2564) และมีอยู่ 9% ที่ระบุว่า “อยู่ระหว่างการพิจารณาการพัฒนาธุรกิจ”

ซึ่งเมื่อสอบถามถึง “จุดหมายปลายทางในการพัฒนาธุรกิจ”

  • ส่วนใหญ่ถึง 48% ตอบว่า ต้องการเข้าไปพัฒนาธุรกิจใน ประเทศเวียดนาม เป็นอันดับแรก
  • รองลงมาคือ อินโดนีเซีย (39%)
  • มีราว 36% ที่มีจุดหมายการพัฒนาธุรกิจในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ประกอบด้วย นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ)
  • ส่วนบริษัทที่มองจุดหมายปลายทางการพัฒนาธุรกิจไปที่ EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) มีราว 26% รองจากอินเดียมีมาเป็นอันดับ 4 (33%)

นอกจากนี้ เมื่อถามถึง “ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในอนาคต” ประเทศเวียดนาม ก็ยังคงมาเป็นอันดับ1 (45%) ตามมาด้วยอินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ในอันดับ2,3,4 และ 5 ใน Top5 ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 5 ประเทศนี้ถือว่าเป็นตลาดส่งออกที่มีอันดับคงที่เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน ขณะที่จีนลดลงจากเดิมอันดับ 7 ไปเป็นอันดับ 9

สิ่งที่อยากเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

ผลสำรวจชี้ว่า ข้อเรียกร้องที่บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยนั้น ได้แก่

  • อันดับแรก การแก้ปัญหากฎระเบียบและการบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีและพิธีศุลกากร
  • อันดับสอง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง
  • อันดับสาม การส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในส่วนของการกระตุ้นการบริโภค
  • อันดับสี่ ขอให้รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน
  • และ อันดับ 5 การบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ

ทั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่นได้ขอบคุณรัฐบาลไทยในส่วนของการปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการลงทุน โดยพวกเขาเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมานั้น มีการปรับปรุงพัฒนาที่ดีขึ้นในหลายด้าน ซึ่งด้านที่บริษัทญี่ปุ่นเห็นว่ามีการปรับปรุงพัฒนามากที่สุด นั้นประกอบด้วย

  • อันดับแรก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งฃ
  • อันดับสอง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร
  • อันดับสาม การปรับปรุงและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตทำงานและวีซ่า
  • อันดับสี่ มาตรการในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย
  • และอันดับห้า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานของภาครัฐ