เตือนโลกเผชิญภาวะปริมาณน้ำมันขาดแคลนปลายปี 68

06 ก.พ. 2567 | 06:04 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2567 | 06:12 น.

ตลาดน้ำมันโลกจะเผชิญกับการขาดแคลนอุปทานภายในช่วงสิ้นปี 2568 เนื่องจากไม่สามารถหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่มาทดแทนปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่มีอยู่ได้เร็วพอ

 

วิกกี้ ฮอลลับ (Vicki Hollub) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออกซิเด็นทัล (Occidental) ให้สัมภาษณ์สถานี้โทรทัศน์ CNBC วานนี้ (5 ก.พ.) ระบุ ตลาดน้ำมันโลก จะเผชิญกับ การขาดแคลนอุปทาน ภายในสิ้นปี 2568 เนื่องจากโลกไม่สามารถทดแทน ปริมาณสำรองน้ำมันดิบ ได้เร็วเพียงพอ ทั้งนี้ ประมาณ 97% ของน้ำมันที่ผลิตอยู่ในปัจจุบัน มาจากแหล่งที่ถูกค้นพบในศตวรรษที่ 20 แต่ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันร่อยหรอลงเรื่อยๆ โลกมีการพัฒนาแหล่งใหม่ๆมาทดแทนน้ำมันดิบที่ผลิตไปแล้วได้ไม่ถึง 50% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

“ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่อุปทานจะขาดแคลนอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” ฮอลลับกล่าว

สิ่งที่ซีอีโอของบริษัท ออกซิเด็นทัล หรือในชื่อเต็มว่า “ออกซิเด็นทัล ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น” หนึ่งในบริษัทด้านพลังงานชั้นนำของสหรัฐ คาดการณ์นั้น แตกต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้ ตลาดมีอุปทานล้นตลาด (oversupply) ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันลดลงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งในตะวันออกกลางในปัจจุบันก็ตาม

วิกกี้ ฮอลลับ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออกซิเด็นทัล ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น

ฮอลลับกล่าวว่า สหรัฐอเมริกา บราซิล แคนาดา และกายอานา (ประเทศในอเมริกาใต้) ได้เร่งสูบน้ำมันในปริมาณมากเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความต้องการน้ำมันที่ชะลอตัว ขณะเดียวกับที่เศรษฐกิจจีนที่เป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่กำลังอ่อนตัวลง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอุปสงค์และอุปทานจะพลิกกลับภายในสิ้นปี 2568

ตลาดไม่สมดุลในขณะนี้ แต่นี่เป็นปัญหาอุปสงค์ในระยะสั้น” ฮอลลับคาดการณ์ว่า ในระยะยาว ปัญหาจะพลิกไปอยู่ในฝั่งของอุปทานมากกว่า

ทั้งนี้ โอเปก (องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน) คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2568 จากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของจีน ซึ่งแซงหน้าการผลิตของประเทศนอกกลุ่มโอเปกที่คาดว่าจะผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน การคาดการณ์ดังกล่าวนี้ บ่งชี้ถึงภาวะการขาดดุลอุปทาน เว้นเสียแต่ว่าโอเปกจะยกเลิกแผนการลดการผลิตน้ำมันในปัจจุบันและเพิ่มผลผลิตน้ำมันของตนเอง

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) และน้ำมันดิบเบรนท์สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อช่วงสิ้นปี 2566 ปรับลดลงมากกว่า 10% เนื่องจากการผลิตที่สูงเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจที่อ่อนแอในจีนส่งผลกระทบต่อราคา

จนถึงขณะนี้ (ก.พ.2567) ราคาน้ำมันดิบสหรัฐและเกณฑ์มาตรฐานทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% โดย WTI เมื่อวันจันทร์ (5 ก.พ.) อยู่ที่ 72.78 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ 77.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ฮอลลับคาดการณ์ว่า WTI จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2567 นี้