ส่งออกผวา ค่าระวางเรือ-ราคาน้ำมันโลกพุ่งรอบใหม่ รับจีนเปิด รง.หลังตรุษจีน

04 ก.พ. 2567 | 08:24 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2567 | 08:46 น.

สรท.ห่วงสถานการณ์ในตะวันออกกลางเพิ่มอุณหภูมิเดือด จับตาดันค่าระวางเรือ-ราคาน้ำมันโลกพุ่งรอบใหม่ หลังจีนกลับมาเปิดโรงงานผลิตหลังตรุษจีน แนะผู้ประกอบการเพิ่มส่งออกสินค้าไปตลาดอาเซียนและจีนลดเสี่ยง ตลาดยุโรป-ตะวันออกกลางวูบ พร้อมรัดเข็มขัดลดต้นทุน

KEY

POINTS

  • สถานการณ์สงคราม และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเพิ่มความกังวลฉุดส่งออกไทยและการค้าโลกชะลอตัวรอบใหม่
  • จับตาทิศทางค่าระวางเรือ และราคาพลังงานของโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังจีนจะกลับมาเปิดโรงงานผลิตหลังเทศกาลตรุษจีน
  • ข้อเสนอแนะการปรับตัวผู้ส่งออกไทยในการหาตลาดเสริม จากตลาดยุโรปและตะวันออกกลางมีความเสี่ยงผลกระทบจากสงคราม

 

สถานการณ์ในทะเลแดงยังไม่น่าไว้วางใจ จากที่กลุ่มฮูตียังเปิดปฏิบัติการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าต่อเนื่อง ดันค่าระวางเรือ บวกค่าธรรมเนียมพิเศษ(เซอร์ชาร์จ) ต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าจากเอเชียไปยุโรปมีต้นทุนพุ่งขึ้นจากเดิม 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับปลายปีที่ผ่านมา จากเรือสินค้าสัดส่วนมากกว่า 50% ที่เคยใช้เส้นทางผ่านทะเลแดง ต้องไปวิ่งอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทางตอนใต้ของแอฟริกาใต้ ทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น จากใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้น

ขณะที่เป็นช่วงพีคซีซั่น จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอันดับ 1 ของโลก มีความต้องการเรือและพื้นที่ระวางเรือในการขนส่งสินค้าเพื่อส่งมอบสินค้าก่อนช่วงตรุษจีนเพิ่มขึ้น ก่อนปิดโรงงานผลิตเพื่อหยุดยาวในช่วงการเฉลิมฉลอง

ล่าสุดสถานการณ์สุ่มเสี่ยงขยายวง เมื่อสหรัฐเปิดปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายพร้อมกันครั้งใหญ่กว่า 85 จุด ในอิรักและซีเรีย เมื่อวันที่ 3 ก.พ. อ้างเหตุผลเพื่อเอาคืนกลุ่มติดอาวุธที่คาดว่าได้รับการหนุนหลังจากกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน (ไออาร์จีซี) ที่ยิงโดรนถล่มสหรัฐ ทำให้มีทหารอเมริกันเสียชีวิต โดยสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 40 คน หลังสหรัฐเปิดปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศจะยังเดินหน้าโจมตีตามขั้นตอนต่อไป

ส่งออกผวา ค่าระวางเรือ-ราคาน้ำมันโลกพุ่งรอบใหม่ รับจีนเปิด รง.หลังตรุษจีน

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) มองเป็นปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เพราะเหตุการณ์ขยายวงมากขึ้น และมีความตึงเตรียดในหลายคู่ของโลก ตัวอย่าง คู่กรณีเดิมเป็นอิสราเอล-ฮามาส เพิ่มเป็นอิสราเอล-ฮามาส+ฮูตี เวลานี้เป็นอิสราเอล-ฮามาส-ฮูตี+ อิหร่าน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการขยายในเรื่องของคู่กรณีมากขึ้นเรื่อย ๆ และพื้นที่ที่ขัดแย้งก็เริ่มเปิดกันมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

“เส้นทางทะเลแดงในระยะ 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุการณ์ทำให้ค่าระวังเรือบวกเซอร์ชาร์จต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นถึง 4-5 เท่า สำหรับเส้นทางเดินเรือที่จะไปยุโรปและไปทางด้านแอฟริกาเหนือ เมดิเตอร์เรเนียน กลุ่มนี้โดนหมด ทั้งนี้สินค้าจากจีนไปประเทศอื่นเขายอมจ่ายแพงขึ้น แต่สำหรับเราถ้าจะไปแย่งพื้นที่เรือก็ต้องจ่ายแพง

ซึ่งในบางจุดที่ไป มีข่าวว่าค่าระวางเรือบวกเซอร์ชาร์จต่าง ๆ ไปถึง 10,000 เหรียญต่อตู้ (40 ฟุต) แล้ว ถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ อาจมีความเป็นไปได้ถ้าไม่ได้เป็นลูกค้าประจำของสายเดินเครือ และต้องไปแย่งพื้นที่กับผู้ส่งออกอื่นที่เป็นลูกค้าประจำและมีความตกลงกันไว้ ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด”

ประธาน สรท. กล่าวอีกว่า จากค่าระวางเรือและค่าเซอร์จชาร์จที่เพิ่มขึ้นจากสงคราม ทำให้มีต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสุงขึ้นมาก แต่มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากที่สินค้าส่งออกของไทยจะปรับราคาขึ้นเพราะสินค้าที่ส่งมอบส่วนใหญ่ ผู้ผลิตของไทยได้มีการเจรจาในเรื่องราคากับลูกค้าก่อนมีคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์) ก่อนหน้านี้ 1-2 เดือน

ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์และทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ค่าใช้จ่ายจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ลูกค้าปลายทางรับภาระของค่าใช้จ่ายเรื่องค่าระวางเรือ(ส่งออกแบบ FOB) ตรงนี้ผู้ส่งออกอย่าพึ่งดีใจเพราะท้ายที่สุดลูกค้าก็จะกลับมาเจรจาต่อรองราคาในออร์เดอร์ถัดไปอย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่ 2 หากผู้ส่งออกไทยรับผิดชอบเรื่องค่าระวางเรือ (ส่งออกแบบ CIF) ก็ต้องรับภาระในส่วนนี้ไปเต็ม ๆ

“ถ้าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและยังขยายตัวกันอย่างนี้ยาวไปถึงเดือนมีนาคม สิ่งที่จะมีผลกระทบอันที่ 1 ก็คือ ต้นทุนสินค้าที่จะไปปลายทางจะเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 2. จะเห็นได้ว่า ซัพพลายเชนตอนนี้เริ่มมีติดขัด เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งมากขึ้น 15-30 วัน ดังนั้นระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อเรื่องของการผลิตและการส่งมอบสินค้า และ 3. ความเชื่อมั่นและความระมัดระวังในการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าจะมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดตะวันออกกลางที่เป็นหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ตลาดส่งออกของไทยในปี 2567 ที่คาดจะขยายตัวได้มากก็จะเกิดความไม่แน่นอน”

ทั้งนี้สหภาพยุโรป(อียู)เป็นตลาดส่งออกของไทยสัดส่วนประมาณ 7-8% ของการส่งออกไทยโดยรวม และตะวันออกกลางสัดส่วนประมาณ 4%  หากการส่งออกไปยังสองภูมิภาคนี้ที่มีสัดส่วนรวมประมาณ 12% มีปัญหา ห่วงจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปยังภูมิภาคอื่นในเรื่องซัพพลายเชนดิสรัปชั่น ทำให้โลกป่วนหรือป่วยรอบใหม่ได้

เมื่อถามว่าในสถานการณ์อย่างนี้ผู้ส่งออกไทยควรจะรับมืออย่างไร นายชัยชาญให้ข้อเสนอแนะดังนี้ 1.สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อย่าชะล่าใจ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้จะต้องเร่งหาตลาดอื่นมาเสริม ถ้าถามว่าตลาดไหน มองว่าเป็นตลาดอาเซียนและจีน ที่ยังเป็นที่พึ่งของไทยได้ 2. เรื่องของการลดต้นทุน หากหลังตรุษจีนแล้วสถานการณ์สงครามยังไม่ดีขึ้นและยังยืดเยื้อต่อไปเป็นอีก 2 เดือน สิ่งที่ตามมาคือค่าน้ำมัน

“แน่นอน ณ ตอนนี้ ความต้องการของน้ำมันยังไม่ค่อยมากเพราะจีนปิดโรงงานในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่พอจีนสตาร์ทเดินเครื่องผลิตอีกครั้งหลังตรุษจีนในปลายเดือนกุมภาพันธ์ จะทำให้มีความต้องการใช้พลังงานและน้ำมันเพิ่มขึ้น หากสถานการณ์ยังตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ  ราคาน้ำมันจะมีความอ่อนไหวในทิศทางที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าที่จะสูงขึ้นนอกจากค่าระวางเรือ ซึ่งผู้ประกอบการของไทยต้องวางแผนรับมือให้ดี” นายชัยชาญ กล่าว