วิกฤตตลาดอสังหาฯจีน เริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลก

11 ก.พ. 2567 | 05:45 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2567 | 05:59 น.

ทุนจีนทยอยขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศในราคาลดกระหน่ำ หวังระดมเงินสดมาประคองธุรกิจและปลดภาระหนี้ที่ทวีความรุนแรง แม้ว่าต้องขายในราคาส่วนลดอย่างมากก็ตาม

 

นักลงทุนชาวจีน และบรรดาเจ้าหนี้ของพวกเขากำลังติดป้าย ขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ถือครองอยู่ทั่วโลก เนื่องจากความจำเป็นใน การระดมเงินสด ท่ามกลาง วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในจีนนั้น สำคัญกว่าความเสี่ยงของการขายอสังหาริมทรัพย์สู่ตลาดที่กำลังตกต่ำ โดยราคาที่พวกเขาได้รับจากการขายจะชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมในวงกว้างกำลังประสบปัญหามากน้อยเพียงใด

แบร์รี สเติร์นลิชต์ ประธานกลุ่มสตาร์วูด แคปิตอลกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ภาวะตกต่ำทั่วโลกอันเกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ทำให้มูลค่าทรัพย์สินเฉพาะอาคารสำนักงานเพียงอย่างเดียวปรับร่วงลงไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ความเสียหายทั้งหมดยังไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากเพิ่งมีการขายทรัพย์สินออกไปเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้ผู้ประเมินมีข้อมูลล่าสุดเพียงเล็กน้อยสำหรับการประเมินสถานการณ์ในภาพรวม

สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังรายงานด้วยว่า ข้อตกลงด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่เสร็จสมบูรณ์ทั่วโลกนั้นร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีในปีที่ผ่านมา (2566) โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าของยังไม่เต็มใจที่จะขายทรัพย์สินในครอบครองด้วยส่วนลดราคาลงอย่างรุนแรงขนาดนั้น

ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ หน่วยงานกำกับดูแลและตลาดรู้สึกกังวลที่อาจจะมีการปกปิด “การขาดทุน” ที่ยังไม่รับรู้ ทำให้เกิดปัญหากับเจ้าของสินทรัพย์ และธนาคารที่ผลักดันให้มีการกู้ยืมในยุคดอกเบี้ยต่ำ

วิกฤตตลาดอสังหาฯจีน เริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลก

หุ้นนิวยอร์ก คอมมิวนิตี แบงคอร์ป ซึ่งเป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับโครงการอสังหาฯต่างๆทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 27 ปีเมื่อวันอังคาร (6 ก.พ.) หลังประกาศปรับลดเงินปันผลและเพิ่มทุนสำรอง ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหา

ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) วิตกว่า ธนาคารในยุโรปดำเนินการล่าช้าเกินไปในการปรับลดมูลค่าเงินกู้ และสำนักงานควบคุมด้านการเงินของอังกฤษจะต้องทำการทบทวนมูลค่าในตลาดเอกชน รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย

ปัจจุบัน อสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศซึ่งอยู่ในมือกลุ่มทุนของจีนเริ่มถูกนำปล่อยขายในตลาดมากขึ้นเพื่อระดมเงินกลับมาชำระหนี้และประคองการดำเนินธุรกิจในจีนเอง ทรัพย์สินในต่างประเทศเหล่านี้ถูกซื้อโดยทุนจีนในช่วงที่การขยายตัวของตลาดอสังหาฯในจีนยังฟูเฟื่องและมีการขยายตัวมานับสิบปีก่อนที่จะมาถึงจุดฟองสบู่ในปัจจุบัน การนำทรัพย์สินออกขายในช่วงเวลานี้ นับว่าจำเป็นสำหรับบางรายแม้ว่าจะต้องขายในราคาต่ำและส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของบริษัทก็ตาม

เหมือนจะเป็นการซ้ำเติม คือมาตรการกำราบการกู้ยืมมากจนเกินไปของรัฐบาลจีน ที่ทำให้บรรดาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า รวมทั้งรายใหญ่ที่เคยอยู่ในแถวหน้าของวงการ ยกตัวอย่างบริษัทในเครือไชน่า อาวหยวน กรุ๊ป จำกัด (China Aoyuan Group Ltd.) จากเมืองกว่างโจว ที่อยู่ระหว่างทำแผนปรับโครงสร้างหนี้มูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์ บริษัทตัดสินใจขายที่ดิน 1 แปลงในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ในราคาลดลงถึง 45% จากราคาที่บริษัทซื้อที่ดินนี้มาในปี 2021  

วิกฤตตลาดอสังหาฯจีน เริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลก

 แน่นอนว่าจีนไม่ได้เป็นเพียงแหล่งที่มาเดียวของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนในหลายประเทศ รวมทั้งเยอรมนีและกลุ่มนอร์ดิก พากันเทขยายอสังหาริมทรัพย์ แม้ต้องตัดใจขายในราคาที่ลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อที่จะครบกำหนดชำระในสหรัฐอเมริกาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การยึดอสังหาริมทรัพย์โดยธนาคารในภูมิภาคและการขายสินทรัพย์บางส่วนออกมา แต่สำหรับจีนนั้น นับเป็นตลาดที่ผู้ขายอาจมีแรงจูงใจในการที่จะเทขายออกมาอย่างรวดเร็วมากที่สุด

ข้อมูลอ้างอิง