ระหว่างการปฏิบัติ ภารกิจเยือนประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 21-25 ก.พ. 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาในงาน OAV Stiftungsfest ครั้งที่ 123 จัดโดยสมาคมเอเชียตะวันออกนครเบรเมิน (OAV Bremen) ณ ศาลาว่าการนครเบรเมิน นครเบรเมิน เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ระบุว่า ยินดีที่ ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี มีพัฒนาการอย่างมากในห้วงปีนี้ โดยเห็นได้จากการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีเยอรมนีในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และกำหนดการเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
รองนายกฯ เน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนีใน 3 สาขาหลัก ได้แก่
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ผลักดันการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก พัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยล่าสุด จากการประชุมเจรจา FTA ไทย-อียู รอบสองเมื่อวันที่ 22-26 ม.ค. 2567 ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการแปลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอต่างๆ ด้านการค้าและการลงทุน พร้อมสร้างความเข้าใจในการร่วมกันยกระดับไปสู่หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในอนาคตให้มากขึ้น โดยการประชุมเจรจา FTA ไทย-อียู รอบสามในช่วงเดือนมิ.ย. 2567 ทางอียูจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม เพื่อหารือประเด็นต่างๆ เพิ่มเติม รัฐบาลตั้งเป้าให้การเจรจา FTA สามารถบรรลุข้อสรุปได้ภายในปีหน้า (2568)
สำหรับ OAV Bremen นั้น เป็นสมาคมของนักธุรกิจนครเบรเมิน ซึ่งมุ่งสร้างสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคเอเชีย โดยมีการจัดงาน OAV Stiftungsfest เป็นประจำทุกปี และปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 123 มีประเทศไทยเป็น Focus Country มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 350 คน
สำหรับภารกิจด้านการต่างประเทศของรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ระหว่างเดินทางเยือนกรุงเบอร์ลิน และนครเบรเมิน เยอรมนี ครั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 รองนายกฯ ได้มอบนโยบายให้ทีมประเทศไทยในเยอรมนี และร่วมงานเสวนาของมูลนิธิการเมือง Konrad Adenauer Stiftung (KAS) ที่จัดร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน โดยกล่าวเปิดงานเสวนาในหัวข้อ “Thailand and Germany: Perspectives and Opportunities in the Indo-Pacific” ซึ่งเป็นการส่งเสริมบทบาทด้านการต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
จากนั้น ในวันที่ 23 ก.พ. รองนายกฯ จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองการก่อตั้งสมาคมเอเชียตะวันออกนครเบรเมิน (Ostasiatischer Verein Bremen: OAV Bremen) หรือ OAV Stiftungfest ดังกล่าวข้างต้น งานนี้เป็นการสร้างเสริมความเชื่อมั่นเกี่ยวกับประเทศไทยให้ภาคธุรกิจเยอรมนีในรัฐเบรเมิน โดยเฉพาะด้านยานยนต์ โลจิสติกส์ และการเดินเรือ
นอกจากนี้ ยังเยี่ยมชมโรงงาน Mercedes-Benz ณ นครเบรเมิน ซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์รุ่น C-Class ของโลก เป็นแหล่งผลิตรถยนต์ชนิด Plug-in Hybrid และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตั้งแต่ปี ค.ศ.2019
รองนายกรัฐมนตรีฯ เยี่ยมชมโรงงานประกอบรถยนต์ (assembling shop) เรียนรู้ขั้นตอนการประกอบรถยนต์ การตรวจสอบคุณภาพ และระบบการทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ก่อนรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับภาพรวมและยุทธศาสตร์ของ Mercedes Benz โดยเฉพาะมุมมองต่อประเด็น EV และความยั่งยืน ย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะผลักดันการใช้รถยนต์ EV และพร้อมผลักดันการลงทุนของ Mercedes-Benz ในไทย
รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับนายมิชาเอล ฟรีซ ผู้บริหารของ Mercedes Benz เบรเมิน แสดงความเห็นพ้องต่อความสำคัญในการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงชื่นชมการทำงานและเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะผลักดันการใช้รถยนต์ EV และพร้อมผลักดันการลงทุนของ Mercedes-Benz ในไทย ทั้งในการผลิตและ recycle แบตเตอรี่รถยนต์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่อย่างการขับขี่อัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ต่อไป
การเยือนเยอรมนีในครั้งนี้ เป็นการสานต่อการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเยอรมนี เมื่อวันที่ 24-25 ม.ค.2567 และเตรียมการสำหรับการเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีซึ่งมีกำหนดในช่วงเดือนมีนาคมนี้
หลังกลับจากภารกิจเยือนเยอรมนีครั้งนี้แล้ว รองนายกรัฐมนตรีฯ มีกำหนดเดินทางต่อไปยังประเทศอินเดียระหว่างวันที่ 26-28 ก.พ.เพื่อเป็นประธาน การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย – อินเดีย ครั้งที่ 10 (The 10th Meeting of India-Thailand Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) ร่วมกับ ดร. สุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ในวันที่ 27 ก.พ.2567 ที่กรุงนิวเดลี หลังจากที่มีการประชุม JC ไทย – อินเดีย ครั้งที่ 9 ไปเมื่อเดือนส.ค.2565
การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีไทย – อินเดียให้มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การส่งเสริมการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน อีกทั้งยังเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนมุมมอง ระหว่างประเทศและสถานการณ์ในภูมิภาคที่อยู่ในความสนใจร่วมกันด้วย