ในขณะที่รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าขับเคลื่อน อุตสาหกรรมฮาลาล โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่การเป็น ฮับฮาลาลระดับภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN Halal Hub ภายในปีพ.ศ. 2571 โดยคาดหวังอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการเติบโตของจีดีพีไทย 1.5% ภายใน 5 ปี ด้าน “มาเลเซีย” ประเทศเพื่อนบ้านทางตอนใต้ของไทย ก็ให้ความสำคัญกับการปลุกปั้นอุตสาหกรรมฮาลาลของตนเองให้มี การเติบโตอย่างยั่งยืน เช่นกัน โดยเดือนมีนาคม 2566 รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศเปิดตัวแผนแม่บทอุตสาหกรรมฮาลาล ค.ศ. 2030 หรือ Halal Industry Master Plan 2030 (HIMP 2030) ที่มีเป้าหมายกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาลมาเลเซียอย่างยั่งยืน พร้อมพัฒนาระบบนิเวศที่มีพลวัตในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในด้านสินค้าและบริการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs
ภายใต้แผนแม่บท HIMP 2030 มาเลเซียตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าของอุตสาหกรรมฮาลาลมาเลเซียเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.1 ของ GDP ภายในปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) และขยับมูลค่าเพิ่มเป็น 113,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)
นิว เสตรทส์ ไทม์ส สื่อใหญ่ของมาเลเซียรายงานว่า ล่าสุดกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ มาเลเซีย ได้หันไปผนึกกำลังกับ รัฐบาลญี่ปุ่น ในการร่วมกันยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล โดยนายอาห์มัด ซาฮิด ฮามิดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาของมาเลเซีย ได้เดินทางเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลาถึง 7 วัน (17-23 ก.พ.) เพื่อเจรจาความร่วมมือและศึกษาดูงานทั้งด้านการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวะและการฝึกอบรมทางเทคนิค และการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล
นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของมาเลเซีย มูลค่าการค้าทวิภาคีญี่ปุ่น-มาเลเซียอยู่ที่ระดับ 34,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของมาเลเซีย
ในปีที่ผ่านมา (2566) ซาฮิดประกาศแผนกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งครอบคลุมถึงแผนสร้างงานใหม่ 25,000 ตำแหน่งในอุตสาหกรรมดังกล่าว และหนึ่งในแผนงาน คือการสนับสนุนการสร้างบุคลากรและบัณฑิตจบใหม่ที่มีทักษะในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมฮาลาลโดยจะดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาและอบรมด้านอาชีวะศึกษา ทักษะที่กล่าวถึงนั้นครอบคลุมด้านการตรวจสอบมาตรฐานฮาลาล และการปฏิบัติทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามหลักการของฮาลาล
"ญี่ปุ่นเองต้องการที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวชักชวนให้ประชาชนของประเทศมุสลิมเข้ามาเที่ยวญี่ปุ่นกันให้มากขึ้น ซึ่งนั่นจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับสินค้าฮาลาล โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งส่วนใหญ่ญี่ปุ่นยังต้องอาศัยการนำเข้า"
เขาตอกย้ำ ความสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะตลาดนำเข้าสินค้าฮาลาล ว่า มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นราว 120,000 คน และความต้องการสินค้าฮาลาลของญี่ปุ่นก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากการพูดคุยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งโอซากา (OCCI) มีชาวญี่ปุ่นหันมานับถือศาสนาอิสลามประมาณปีละ 10,000 คน ถือว่าเป็นการเติบโตที่รวดเร็ว และแนวโน้มดังกล่าวก็ทำให้ญี่ปุ่นเป็นตลาดนำเข้าสินค้าฮาลาลที่มีศักยภาพ
ในการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ รองนายกฯมาเลเซียยังได้จัดเสวนาโต๊ะกลมภายใต้หัวข้อ "Connecting the Halal Ecosystem Between Malaysia and Japan to Enhance Trade, Investment and Quality Jobs." (การเชื่อมโยงระบบนิเวศฮาลาลระหว่างมาเลเซียและญี่ปุ่นเพื่อเสริมสร้างการค้า การลงทุน และการสร้างงานที่มีคุณภาพ)
นายซาฮิดซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งมาเลเซียเปิดเผยว่า อุตสาหกรรมฮาลาลนั้นมีศักยภาพสูงมาก โดยฝ่ายญี่ปุ่นเองก็ต้องการที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวชักชวนให้ประชาชนของประเทศมุสลิมเข้ามาเที่ยวญี่ปุ่นกันให้มากขึ้น ซึ่งนั่นจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับสินค้าฮาลาลโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งส่วนใหญ่ญี่ปุ่นยังต้องอาศัยการนำเข้า
ข้อมูลอ้างอิง