ชาร์ลี แคมป์เบลล์ ผู้สื่อข่าวของสื่อใหญ่ ไทม์แมกกาซีน เปิดประเด็นก่อนเลยว่า การเข้าสัมภาษณ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย ช่างแตกต่างไปจาก “ขนบ” เดิมๆที่ยากยิ่งสำหรับผู้สื่อข่าวหรือใครก็ตามที่จะขึ้นไปบนชั้นสองของทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นที่ทำงานของนายกฯ จะเรียกว่าเป็นพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาดเลยก็ว่าได้ แต่นายกฯเศรษฐา อดีตนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เจ้าของบุคลิกสบายๆ เข้ากับคนได้ง่าย ก็เข้ามาลบล้างขนบที่ว่า โดยเขาได้รับอนุญาตขึ้นไปสัมภาษณ์บนห้องทำงานที่ชั้นสองเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
เศรษฐาในวัย 62 ปี เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2566 จนถึงตอนนี้เขาเดินทางเยือนต่างประเทศเพื่อปฏิบัติราชการมากกว่า 10 ประเทศแล้ว รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รวมทั้งเวที World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อชักชวนบริษัทต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย
รอบๆห้องประชุมขนาดเล็กที่ใช้เป็นสถานที่สัมภาษณ์ มีไวท์บอร์ดขีดๆเขียนๆนโยบายและเป้าหมาย ซึ่งเท่าที่เห็นก็มี โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต ศูนย์กลางการบินแห่งชาติ เหมืองแร่โปแตช และเทสลา ความพยายามเริ่มเห็นผลบ้างแล้ว ตัวเลขการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI) ในไตรมาสสุดท้ายของปี 66 ซึ่งเขาเข้ามารับตำแหน่งแล้วนั้น เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในเดือนพ.ย. 66 มีการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอมะซอน เว็บ เซอร์วิส กูเกิล และไมโครซอฟต์ คิดเป็นมูลค่ารวม 8,300 ล้านดอลลาร์ และด้วยเสน่ห์แบบนักขายใจดี “ผมอยากจะบอกโลกว่า ประเทศไทยนั้นเปิดกว้างต้อนรับธุรกิจอีกครั้งแล้ว” แคมป์เบลล์ฉายภาพนายกรัฐมนตรีของไทย
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทย ดินแดนที่ได้ชื่อว่าสยามเมืองยิ้ม ตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งทางการเมืองที่แสนขมขื่นชวนให้ยิ้มไม่ออก ทำให้กองทัพต้องอ้างเหตุเข้าทำการปฏิวัติยึดอำนาจในปี 2557 พร้อมเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อรับประกันบทบาทในเชิงชี้นำของกองทัพ ซึ่งเมื่อเศรษฐาเข้ามาก็มีการโยกย้ายนายพลที่มีบทบาทในรัฐประหารดังกล่าว แต่ในช่วงทศวรรษที่ไทยตกอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลกึ่งๆรัฐบาลใต้อำนาจทหาร เศรษฐกิจของไทยซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ซบเซา ขณะที่ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมในสังคมเพิ่มสูงขึ้น
ตามข้อมูลของ Credit Suisse Global Wealth Databook ในปี 2561 ชี้ว่า กลุ่มคนที่รวยที่สุดที่มีเพียง 1% ของประเทศไทยนั้น ควบคุมความมั่งคั่งของประเทศถึง 66.9% ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจของประเทศประมาณ 26.5% เท่านั้นที่อยู่ในมือกลุ่มคนร่ำรวยที่สุด
ในเวลาเดียวกัน คนหนุ่มสาวหลายพันคนออกมาเดินขบวนบนท้องถนนของไทยในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องให้กองทัพและสถาบันหยุดแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตย โดยพวกเขาชูสามนิ้วแสดงสัญลักษณ์เหมือนในภาพยนตร์ Hunger Games เพื่อเป็นสัญญาณแสดง ความไม่พอใจต่อสุญญากาศทางประชาธิปไตยและความผิดพลาดทางการคลัง
ความขัดแย้งทางการเมืองทำประเทศล้าหลัง
การเติบโตของ GDP ของประเทศไทย ซึ่งมีประชากรราว 70 ล้านคน มีอัตราเฉลี่ยต่ำกว่า 2% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีการเติบโตของ GDP มากกว่าไทยสองเท่าหรือสามเท่า ซ้ำยังช่วงชิงการลงทุนต่างชาติ (FDI) ไปจากประเทศไทยอีกด้วย
หันมามองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นหัวจักรหลักสร้างรายได้เข้าประเทศ ก็โดนโควิด-19 ที่แพร่ระบาดหนักโจมตีจนอ่วม นักท่องเที่ยวต่างชาติหายวูบ และจนถึงขณะนี้นักท่องเที่ยวก็ยังกลับมาที่ระดับเพียง 70% ของสถิติสูงสุดที่เคยทำไว้ในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด
“ประเทศไทยล้าหลังอย่างแท้จริงในแง่ของการฟื้นตัวจากโรคระบาด” แกเร็ธ เลเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชีย จากบริษัทวิจัย Capital Economics กล่าว และว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชียแล้ว ไทยอยู่ในสถานะที่ย่ำแย่กว่าอย่างเห็นได้ชัด
เศรษฐายอมรับอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเดิมพันของประเทศไทย เขาย้ำว่า ไทยกำลังตกอยู่ในภาวะ “วิกฤตเศรษฐกิจ” ซึ่งจำเป็นต้องเร่งจัดการในทันที สิ่งที่เขาลงมือทำไปแล้วคือ การลดภาษีเชื้อเพลิง ประกาศพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปีสำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหา ส่วนที่ยังคงเป็นแผนอยู่คือ การเปิดโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลที่จะมอบเงิน 10,000 บาทให้กับผู้ใหญ่ชาวไทยทุกคน เป้าหมายเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ ในภาคการท่องเที่ยว เขายังยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย โดยมีแผนจะขยายมาตรการเดียวกันนี้ไปยังประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ
นอกเหนือไปจากนี้ เขายังต้องการเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ การดูแลสุขภาพ และการเงิน ในขณะเดียวกันก็ต้องการยกสถานะและชื่อเสียงของประเทศไทยในเวทีโลก โดยเมื่อเร็วๆนี้ ในเดือนมกราคม ไทยได้ต้อนรับนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และนายหวาง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีน โดยทั้งคู่ได้มาพบปะหารือประเด็นที่ละเอียดอ่อนกันในประเทศไทย นายกฯเศรษฐา กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เขาหวังว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของอเมริกาในเอเชีย และมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งกับจีน จะสามารถทำหน้าที่เป็น “สะพาน” และเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับทั้งสองฝ่าย
“ผมอยากเห็นประเทศไทยฉายแสง และยกระดับชื่อเสียงในเวทีนานาชาติ"
แต่หนทางข้างหน้าเห็นได้ชัดว่ายังคงมืดมัว ไทม์รายงานว่า เพราะพรรคเพื่อไทยของนายกฯ เศรษฐาไม่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่มาเป็นอันดับที่สองตามหลังพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายสุดโต่งมากกว่า โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิรูปกองทัพ สถาบัน และกลุ่มบริษัทรายใหญ่
ถึงแม้จะได้ 151 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่งในสภา แต่ด้าวไกลก็ถูกสกัดดาวรุ่งโดยวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยกองทัพ เพื่อไทยจึงต้องหันไปรวมกลุ่มพันธมิตรการเมืองนับสิบพรรค เพื่อให้สามารถก่อตั้งรัฐบาลโดยมีเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมการสนับสนุนจากวุฒิสภา
ประเด็นที่ดูจะเป็นเรื่องย้อนแย้งก็คือ เศรษฐากำลังต่อสู้เพื่อแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่พรรคเพื่อไทยต้องร่วมมือกับกลุ่มอำนาจเดียวกันกับที่เป็นกลุ่มขัดขวางการปฏิรูป และเมื่อพิจารณาจากภาวะย่ำแย่ของเศรษฐกิจไทยและเส้นทางสู่อำนาจที่มีแต่ความวุ่นวายของเขา เศรษฐาจึงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักที่จะต้องสร้างผลงานที่ชัดเจนและรวดเร็ว ไม่ใช่ว่าเขาเลือกที่จะให้เป็นเช่นนั้น
“ความกดดันไม่ได้เกิดจากการชนะเลือกตั้งเป็นอันดับสอง แต่มาจากความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาความยากจน ยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทย นี่คือความกดดันที่ผมต้องเผชิญอยู่ทุกๆวัน” เศรษฐากล่าวกับไทม์
ก่อนหน้านี้อาจมีไม่กี่คนที่คิดว่าเศรษฐาจะมีอนาคตที่รุ่งโรจน์ทางการเมืองรออยู่ เขาเป็นอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแสนสิริ ยักษ์ใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่เพิ่งเข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยในปี 2565 และไม่เคยรับตำแหน่งใดๆทางการเมือง กระทั่งพอได้เป็น ก็เป็นนายกรัฐมนตรีเลย
เศรษฐาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นก็ไปศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิร์สต์ และคว้าปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์
ผู้สื่อข่าวของนิตยสารไทม์ตั้งข้อสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีของไทยมีชื่อเล่นว่า “นิด” แปลว่า “ตัวเล็กๆ” ในภาษาไทย ซึ่งช่างตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงที่ว่า เขามีความสูงถึง 6 ฟุต 3 นิ้ว ฉับไว กระตือรือร้น และใจร้อน
เศรษฐาทำอะไรเร็วเสมอ เขาเป็นนายกฯคนที่สองของไทยที่มีห้องพักอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อที่ว่าจะไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางฝ่าการจรจาจรที่ติดขัดของกรุงเทพมหานคร และที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้คือบนเตียงนายกฯมีตุ๊กตาที่มีคนให้มาเป็นของขวัญ ตุ๊กตาตัวนี้จำลองมาจากตัวจริงของนายกฯเศรษฐา คือมันใส่ถุงเท้าสีสันสดใส
ด้านหนึ่งของห้องพักมีราวแขวนชุดสูทและชุดที่เป็นทางการ อีกด้านเป็นเครื่องออกกำลังกาย มีโต๊ะทำงานตัวใหญ่สำหรับผู้ช่วยนายกฯ นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์พกพา
“ผมสามารถเรียกประชุมช่วงเช้าตรู่และช่วงดึกได้ ซึ่งมันเยี่ยมมาก” นายกฯเศรษฐา กล่าวถึงการมาพักที่ทำเนียบฯ ซึ่งนอกจากทำงานได้สะดวกและไม่เสียเวลาแล้ว ยังลดการเดินทางของนายกฯซึ่งมักจะมีรถมอเตอร์ไซค์นำขบวนซึ่งอาจมีผลต่อการจราจร
เศรษฐาไม่ใช่นักธุรกิจคนแรกที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง และพยายามนำพลวัตขององค์กรธุรกิจมาใช้กับการขับเคลื่อนรัฐบาล แม้สุดท้ายจะพบว่า มันมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สำหรับเศรษฐานั้นเพียงแค่เดือนเศษๆหลังเข้ารับตำแหน่งก็ต้องเจอะเจอเหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 คร่าชีวิตแรงงานไทยไป 39 คน และถูกจับเป็นตัวประกันอีก 32 คน รัฐบาลไทยพยายามเจรจาจนสามารถได้ตัวประกันคืนมาเกือบหมดแล้ว เหลืออยู่เพียง 8 คนในเวลานี้ เศรษฐายอมรับถึงช่วงเวลาปวดใจที่ต้องรับฟังข่าวแรงงานไทยเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เพิ่มขึ้นทีละคนๆ จนเขารู้สึกว่าเมื่อไหร่มันถึงจะยุติเสียที
มาถึงตอนนี้ โฟกัสหลักในการทำงานของเขาคือการผลักดันประเทศให้เดินไปข้างหน้า นอกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เศรษฐายังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังด้วย แต่ตอนนี้ ประเทศไทยยังไม่ผ่านร่างงบประมาณแห่งชาติ ความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้เขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก การผลักดันโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลทำให้เขาต้องมีปัญหากับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยฝ่ายธปท.เกรงว่า โครงการแจกเงินสด 15,000 ล้านดอลลาร์ของรัฐบาล จะกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
“การเป็นซีอีโอของบริษัทเอกชน ผมรู้ดีว่าอำนาจนั้นมีอยู่จำกัด แต่สิ่งที่ผมแปลกใจมากที่สุด คือการขาดอำนาจของนายกรัฐมนตรี”
แย่ไปกว่านั้น คือการกลับมาของนายทักษิณ ชินวัตร บุคคลสำคัญทางการเมืองไทยและผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อไทย อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 74 ปี กลับมารับโทษหลังหนีคดีอยู่ในต่างประเทศกว่า 15 ปี ทักษิณกลับสู่ประเทศไทยในวันเดียวกับที่เศรษฐาได้รับการโหวตรับรองชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย
ทักษิณถูกจับกุมทันทีที่สนามบินและถูกตัดสินจำคุก 8 ปีในความผิดฐานคอร์รัปชันและใช้อำนาจโดยมิชอบก่อนจะได้รับพระราชทานลดโทษเหลือ 1 ปี และภายในวันนั้นเขาก็ถูกย้ายตัวจากห้องขังไปยังห้องชุดของโรงพยาบาลตำรวจก่อนจะได้รับการพักโทษ สามารถกลับไปพักที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา
หลายฝ่ายเชื่อว่า การกลับมาของทักษิณเป็นไปตามข้อตกลงลับระหว่างพรรคเพื่อไทยกับกองทัพและสถาบัน สร้างความเดือดดาลให้กับทั้งชาวไทยหัวก้าวหน้าที่หวังเห็นการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งผู้ที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด นพ.เหวง โตจิราการ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ถึงกับออกมากล่าวว่า “เพื่อไทยทรยศต่อคนไทย” ขณะที่ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักต่อสู้ต่อต้านการคอร์รัปชัน กล่าวว่า นายเศรษฐาเป็นแค่หุ่นเชิดที่ขยับซ้าย-ขวา ตามการกดปุ่มรีโหมตควบคุมของนายทักษิณ แต่นายเศรษฐาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวตลอดมา
นายกฯเศรษฐา ยืนกรานในประเด็นที่ว่า อะไรคือสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจล้วนๆ นั่นคือการดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเข้ามา ส่งเสริมการค้า และกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ บางเรื่องอาจถูกขึ้นหิ้งไว้ก่อน เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร รวมทั้งการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงเพื่อร่วมขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลก็พยายามผลักดันบางเรื่อง เช่นการสมรสเท่าเทียมเพื่อเปิดโอกาสดึงดูดเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวจากคนกลุ่ม LGBTQ
นอกจากนี้ เขายังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังรามือเกี่ยวกับการผลักดันช่วยเหลือผู้ชุมนุมวัยหนุ่มสาวเกือบ 2,000 คนในช่วงปี 2563-2564 ที่กำลังถูกดำเนินคดี โดยส่วนหนึ่งโดนข้อหาเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112
เศรษฐาเดินหน้านโยบายต่างประเทศที่เปิดกว้างเพื่อดึงดูดการลงทุน ในเดือนตุลาคม 2566 เขาได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ที่กรุงปักกิ่ง เป้าหมายเพื่อเชิญชวนการลงทุนจากจีนสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะในโครงการแลนด์บริดจ์มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะเชื่อมโยงทะเลฝั่งอันดามันเข้ากับฝั่งอ่าวไทย แม้ว่าจีนจะมีปัญหากับหลายประเทศในอาเซียน แต่สำหรับนายกฯเศรษฐาเขามองว่า ผู้นำจีนดูจะสนใจทำการค้ามากกว่าทำสงคราม
และสำหรับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่ได้พบกับนายกฯเศรษฐาในเดือนตุลาคม 2566 เขาก็เอ่ยปากเชิญให้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเช่นกัน แม้ว่าผู้นำรัสเซียจะมีหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศอยู่ก็ตาม นอกจากนี้ ความใกล้ชิดระหว่างผู้นำไทยและรัสเซีย ก็เป็นสิ่งที่สร้างความห่วงกังวลให้สหรัฐอเมริกาที่มองรัสเซียเป็นฝ่ายตรงข้ามในช่วงเวลานี้
นายกฯเศรษฐากล่าวว่า ไม่ต้องการแทรกแซงเรื่องภายในประเทศของรัสเซีย ประเด็นที่ดูจะสำคัญมากกว่าสำหรับประเทศไทย คือนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่นำเงินเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยจำนวนมากกว่าปีละ 1 ล้านคน เขาเสนอให้ผู้ถือหนังสือเดินทางรัสเซียทุกคนสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า และพำนักได้นานถึง 90 วัน ซึ่งมากกว่าระยะเวลาที่ให้กับชาวอเมริกันถึง 3 เท่า
“เศรษฐาจะทำทุกวิถีทางที่จะสามารถทำได้ เพื่อดึงดูดต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวหรือเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการองค์กร Human Rights Watch ประจำภาคพื้นเอเชียกล่าว
ไทม์ยังรายงานต่อไปว่า ขณะที่เศรษฐาเดินทางไปทั่วโลกเพื่อชักชวน-จูงใจบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย นักลงทุนส่วนหนึ่งรู้ดีว่า หลายธุรกิจในไทยนั้นยังถูกครอบงำ-ผูกขาด โดยกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่จำนวนไม่กี่รายภายในประเทศ ยกตัวอย่าง การขายเบียร์ในไทย รายเล็กรายย่อยถูกสกัดเส้นทางเติบโตไว้ด้วยกฎหมายโบราณที่มีมายาวนานหลายสิบปีแล้ว ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เอื้อประโยชน์และให้ความคุ้มครองแก่กลุ่มบริษัทใหญ่เพียงสองราย ที่ผูกขาดตลาดถึง 90% มูลค่าตลาดราว 8,000 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาล และได้รับสัมปทานดำเนินการร้านปลอดภาษีในสนามบินแต่เพียงรายเดียวในสนามบินหลักของกรุงเทพมหานครมาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว ทำให้เกิดอาณาจักรธุรกิจครอบครัวที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่เริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย
ศาสตราจารย์ ดันแคน แมคคาร์โก ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศไทย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า มีบริษัทข้ามชาติจำนวนมากต้องการเข้าสู่ภาคโทรคมนาคม ค้าปลีก และเครื่องดื่มในไทย แต่พวกเขารู้ดีว่า ภาคธุรกิจเหล่านี้ มีกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ของไทยเองยึดครองอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่
แม้ว่าแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยจะให้คำมั่นว่า จะลดทอนอำนาจของบรรดากลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ แต่เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ได้รับการรับรองชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย นายเศรษฐาก็เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดโดยกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เขาเองยืนยันว่า ไทยยังมีพื้นที่สำหรับการขยายตัวของภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นของไทยเองหรือบริษัทต่างชาติ ที่จะเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งตลาด แต่คนไทยจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วยกับความเห็นข้างต้นนี้
หนึ่งในหลักฐานก็คือ 14 ล้านเสียงที่ลงคะแนนให้กับพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายชัดเจนว่า ไทยจะต้องกระจายอำนาจและสลายการครอบงำตลาด
การลบล้างขนบเกี่ยวกับการอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวและคนนอก ขึ้นบนชั้นสองของทำเนียบรัฐบาลอาจเป็นเรื่องง่าย และทำได้ทันทีสำหรับนายกฯเศรษฐา แต่เรื่องที่ยากกว่าและคนไทยต้องการจะเห็นจริงๆ คือการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนแม้ว่าจะต้องงัดข้อกับคนร่ำรวยที่เป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และ ที่สำคัญกว่านั้นคือ การตัดสินใจ “ปฏิรูปขนานใหญ่” ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ข้อมูลอ้างอิง