ภาพรวมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นหัวใจขับเคลื่อนทุกสิ่งตั้งแต่สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ไปจนถึงรถยนต์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์
ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีขนาดตลาดอยู่ที่ 527,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และคาดว่าจะสูงกว่า 1.38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2572 (ค.ศ.2029) โดยมี CAGR (อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น) ที่ 12.2% ในช่วงระยะเวลาคาดการณ์
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมนี้ประสบกับวงจรที่เจริญรุ่งเรืองหลายครั้ง โดยมีช่วงของการเติบโตอย่างรวดเร็วตามมาด้วยการตกต่ำอย่างรวดเร็วเช่นกัน หรือที่เรียกว่า boom-and-bust cycles
พลวัตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการ เช่น
การเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้รับแรงผลักดันจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT ซึ่งเป็นการที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต ) การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพิ่มมากขึ้น และความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังมาแรงอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. Ltd. (TSMC), Intel Corporation, Qualcomm Incorporated, SK hynix Inc., Micron Technology, Inc., Nvidia Corporation, Broadcom Inc., AMD, Inc., Texas Instruments Incorporated และ MediaTek Inc.
บริษัทเหล่านี้มีมูลค่าตลาดสูงมาก และครองส่วนแบ่งการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน อาจจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมีผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก
คราวนี้ เรามาดูบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่โดดเด่นในอุตสาหกรรม ว่าแต่ละรายเป็นใครกันบ้าง และมีผลงานอะไรที่ว่าโดดเด่น
ที่กล่าวมา 3 รายข้างต้น คือผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกของโลกตามลำดับ โดย TSMC มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% (ข้อมูล ณ ปี 2566) นอกเหนือจาก 3 รายใหญ่นี้ ก็ยังมีผู้ผลิตรายอื่นๆที่มีความโดดเด่นในตลาดโลก ได้แก่
บริษัทเหล่านี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ มีประวัติที่พิสูจน์แล้วในการผลิตสินค้าคุณภาพสูงและเปี่ยมด้วยนวัตกรรม
เอเชียแปซิฟิก
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลก ภูมิภาคนี้เป็นที่ตั้งของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงบริษัท TSMC จากไต้หวัน ซัมซุง อิเล็คทรอนิคส์ และเอสเค ไฮนิกซ์(SK Hynix) จากเกาหลีใต้
ทั้งนี้ ไต้หวันเป็นผู้เล่นรายหลักในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดย TSMC เป็นโรงหล่อเซมิคอนดักเตอร์อิสระที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทให้ความสำคัญกับฐานลูกค้าในวงกว้างและผลิตชิปให้กับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำหลายราย รวมทั้ง Apple, Qualcomm และ NVIDIA ในขณะเดียวกัน ซัมซุง อิเล็คทรอนิคส์ ของเกาหลีใต้ ก็เป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อันดับสองของโลก และเป็นซัพพลายเออร์ชิปหน่วยความจำรายใหญ่
อเมริกาเหนือ
อเมริกาเหนือเป็นผู้เล่นหลักอีกรายหนึ่งในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยสหรัฐอเมริกาเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก หลายราย รวมทั้ง Intel, Qualcomm และ Advanced Micro Devices (AMD) นี่เป็นเพียงตัวอย่างรายใหญ่ๆ นอกเหนือจากนี้ ยังมีบริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายเล็กรายน้อยอีกเป็นจำนวนมาก ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา
สำหรับอินเทล (Intel) นั้น เป็นหนึ่งในบริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นซัพพลายเออร์ไมโครโปรเซสเซอร์รายใหญ่ ส่วน Qualcomm เป็นซัพพลายเออร์ชิปสำหรับโทรศัพท์มือถือชั้นนำ ในขณะที่ AMD เป็นผู้เล่นหลักในตลาดชิปหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU)
ยุโรป
ยุโรปยังเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีบริษัทต่างๆ เช่น NXP Semiconductors และ ASML Holding ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเนเธอร์แลนด์ ส่วน Infineon Technologies มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศเยอรมนี
NXP Semiconductors นั้นเป็นซัพพลายเออร์ชั้นนำด้านเซมิคอนดักเตอร์สำหรับยานยนต์ ขณะที่ ASML Holding เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของระบบการพิมพ์ที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ส่วน Infineon Technologies เป็นผู้เล่นหลักในตลาดเซมิคอนดักเตอร์กำลัง (power semiconductor) และชิ้นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท
ทั้งนี้ หากแบ่งตามประเทศ หรือเขตเศรษฐกิจ ที่เป็นแหล่งผลิต ปัจจุบัน ไต้หวัน คือผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก ตามมาด้วยเกาหลีใต้ จีน และสหรัฐอเมริกา
ประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่มีความโดดเด่น คือ ญี่ปุ่น เยอรมนี และอิสราเอล
การมาเยือนประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-15 มี.ค.) ของนาง จีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ที่นำคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (PEC) ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนและองค์กรชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษาของประธานาธิบดี” ในการให้ข้อเสนอแนะทางนโยบาย และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน มาด้วยนั้น จุดประกายความหวังสว่างวาบให้กับอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทย เนื่องจากมีการหารือกันถึงแนวทางที่จะขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของไทย รวมทั้งเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด และเศรษฐกิจดิจิทัล
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า แม้ตอนนี้การลงทุนจากสหรัฐในไทยจะอยู่ในอันดับที่ 3 แต่โอกาสที่จะขยับมาเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งนั้นก็มีความเป็นไปได้ เพราะจากการพบกันครั้งนี้ ทางสหรัฐแสดงความตั้งใจที่จะ Supercharge การลงทุนในภูมิภาคนี้ และถ้าทั้งไทยและสหรัฐ รวมถึงอีก 12 ประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งเพิ่งจัดประชุมทางไกลระดับรัฐมนตรีกันเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีไทยและสหรัฐร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุม จะร่วมมือกันในเรื่องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั้งซัพพลายเชน ทุกฝ่ายก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน และการลงทุนของบริษัทเอกชนสหรัฐในไทยก็จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
“ไทยพร้อมรองรับให้ภาคเอกชนสหรัฐฯเข้ามาขยายฐานการผลิตในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เศรษฐกิจสีเขียว การจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ มองว่าสอดคล้องกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน” นายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังการรับรองคณะของรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ
แต่คำมั่นสัญญาของสหรัฐจะแปรเปลี่ยนมาเป็นเม็ดเงินลงทุนที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนเมื่อไหร่และอย่างไรนั้น อาจยังต้องอาศัยเวลา ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศความพร้อมของไทยว่า มีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิต เนื่องจากความพร้อมทางด้านทรัพยากร การจัดตั้งภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอื่น ๆ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นอย่างมาก
จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าระบุว่า ปี 2564 การค้าเซมิคอนดักเตอร์ของไทยมีมูลค่า 28,885 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.1% แบ่งเป็น การส่งออก 11,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.4% และการนำเข้า 17,689 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 24.9%
ส่วนการค้าเซมิคอนดักเตอร์ของไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แผงวงจรไฟฟ้า (IC) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทยในปี 2564 ได้แก่ ฮ่องกง 24.1% รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ส่วนการนำเข้า ได้แก่ ไต้หวัน 26.7% รองลงมาคือ จีน และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ เซมิคอนดักเตอร์ยังมีความสำคัญต่อการส่งออกไทยทางอ้อม เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของไทยมีเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของไทยด้วย