"ปูติน"เตือน"นาโต-สหรัฐ” อีกก้าวเดียว สงครามโลกครั้งที่ 3

19 มี.ค. 2567 | 00:37 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2567 | 01:09 น.

"ปูติน" ผู้นำรัสเซียที่เพิ่งคว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อสุดสัปดาห์ ได้ครองอำนาจเป็นประธานาธิบดีต่อเนื่องเป็นสมัยที่ห้า ประกาศกร้าวเตือนนาโตและสหรัฐอเมริกาว่า การเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซีย จะทำให้โลกอยู่ห่างจากสงครามโลกครั้งที่สามเพียงก้าวเดียวเท่านั้น

 

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่เพิ่งได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ออกมาเตือนชาติตะวันตกเมื่อวันจันทร์ (18 มี.ค.ตามเวลาท้องถิ่น) เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งโดยตรงระหว่างรัสเซียกับ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา โดยเขาระบุว่า เรื่องนี้อาจนำไปสู่ สงครามโลกครั้งที่สาม ได้ในที่สุด ซึ่งเชื่อว่าไม่มีฝ่ายใดประสงค์ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น

“เห็นได้ชัดว่า เรื่องนี้ทำให้เราอยู่ห่างจากสงครามโลกครั้งที่สามอย่างเต็มรูปแบบเพียงก้าวเดียวเท่านั้น ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้นแน่ๆ” ปูตินกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ (18 มี.ค.) หลังคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งข่าวระบุว่า นี่คือการได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนผู้นำมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของรัสเซียหลังยุคสหภาพโซเวียตล่มสลาย

วลาดิเมียร์ ปูติน

"เรื่องนี้ทำให้เราอยู่ห่างจากสงครามโลกครั้งที่สามอย่างเต็มรูปแบบเพียงก้าวเดียวเท่านั้น ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้นแน่ๆ"

ปูตินกล่าวว่า ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ทหารของนาโตอยู่ในยูเครนแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะสุดท้ายแล้ว พวกเขาจะพากันไปตายที่นั่นเป็นจำนวนมาก   

สงครามในยูเครนทำให้เกิดวิกฤตครั้งรุนแรงที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับบรรดาชาติตะวันตก นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 2505 โดยปูตินมักออกมาเตือนถึงความเสี่ยงในการที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ แต่ก็กล่าวว่า เขาไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสมรภูมิยูเครน

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่า ฝรั่งเศสไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ในการส่งกำลังทหารภาคพื้นดินไปยังยูเครนในอนาคต แม้จะมีประเทศตะวันตกหลายประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งทหารไปช่วยเหลือยูเครน แต่ก็มีบางประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก ที่สนับสนุนการกระทำดังกล่าว

ประธานาธิบดีปูตินได้ตอบคำถามของรอยเตอร์เกี่ยวกับถ้อยแถลงของนายมาครง และความเสี่ยงของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับนาโต ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า "อะไรก็เกิดขึ้นได้ในโลกปัจจุบัน ทุกคนเข้าใจดีว่าสถานการณ์นี้จะทำให้โลกเข้าใกล้สงครามโลกครั้งที่สามอย่างเต็มรูปแบบอีกเพียงก้าวเดียวเท่านั้น

ยูเครนระดมโจมตีด้านชายแดนของรัสเซียก่อนการเลือกตั้ง

ก่อนการเลือกตั้งรัสเซียในวันที่ 15-17 มี.ค. ยูเครนได้เพิ่มการโจมตีรัสเซียโดยกำหนดเป้าหมายไปที่บริเวณชายแดน หรือแม้กระทั่งใช้นักรบรับจ้างเพื่อพยายามรุกคืบเข้าไปในเขตแดนของรัสเซีย

ประธานาธิบดีปูตินตอบคำถามเกี่ยวกับความจำเป็นในการยึดครองภูมิภาคคาร์คิฟของยูเครน โดยกล่าวว่า หากการโจมตียังดำเนินต่อไป รัสเซียก็จำเป็นต้องยึดดินแดนยูเครนมากขึ้นเพื่อใช้เป็น “ดินแดนกันชน” (Buffer Zone) เพื่อปกป้องไม่ให้กองทัพของชาติตะวันตกสามารถเข้าใกล้ดินแดนของรัสเซียแบบประชิด

นอกจากนี้ เขายังกล่าวปฏิเสธความเห็นของทำเนียบขาวที่วิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งล่าสุดว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไร้เสรีภาพและไม่ยุติธรรม โดยโต้ว่าสหรัฐเองก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบของสหรัฐเองก็ล้มเหลว และใช้อำนาจรัฐไล่บี้อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองเช่นกัน

นักวิเคราะห์พากันคาดหมายกันว่า ภายใต้การขับเคลื่อนประเทศของปูตินหลังได้รับชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่จากการเลือกตั้ง จะยิ่งผนึกอำนาจของเขาให้เเข็งเเกร่งขึ้น ความยาวนานของการดำรงอยู่ในอำนาจ ที่มาพร้อมกับการปราบปรามผู้เห็นต่าง ทำให้ปูตินสามารถผลักดันนโยบายได้ด้วยความเด็ดขาด

กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีปูตินและการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

บริน โรเซนเฟลด์ ศาสตรจารย์ด้านการเมืองต่างประเทศของมหาวิทยาลัยคอร์เเนล กล่าวให้ความเห็นกับสำนักข่าวเอพีว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย ไม่ได้สำคัญเท่ากับสิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้น ปูตินมักจะรอเวลาที่จะขับเคลื่อนนโยบายซึ่งไม่เป็นที่นิยมหลังการเลือกตั้ง และในบรรดานโยบายซึ่งไม่เป็นที่นิยมนั้น แผนระดมทหารครั้งใหญ่อีกรอบหนึ่งสำหรับการรบในยูเครน ก็เป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ในภาพใหญ่ รัสเซียน่าจะต้องการทดสอบความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มพันธมิตรโลกตะวันตก ที่เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาเเอตเเลนติกเหนือ หรือนาโต

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อเล็กซานดรา วาครัวซ์ ผู้อำนวยการบริหารของสถาบัน Davis Center for Russian and Eurasian Studies หน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้ความเห็นว่า ในอีกไม่กี่ปีนับจากนี้ รัสเซียน่าจะเดินเกมเพื่อทดสอบว่า ประเทศสมาชิกนาโตจะยังเหนียวแน่นกันอยู่หรือไม่กับบทบัญญัติข้อที่ 5 หรือ Article 5 ที่ระบุว่า หากประเทศสมาชิกนาโตรายใดถูกโจมตี จะถือว่าเป็นการโจมตีต่อทุกประเทศที่เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรนี้

"ปูตินไม่จำเป็นต้องเเข็งเเกร่งกว่าทุกประเทศ ไม่ว่าจะทางกายภาพ หรือทางทหาร เขาเเค่ต้องทำให้คนอื่นอ่อนเเอลง และเเตกแยกมากขึ้น" วาครัวซ์ยังเสริมด้วยว่า แทนที่ปูตินจะกังวลว่าต้องทำตัวให้ดูเเข็งเเกร่ง เขาน่าจะคิดว่า ควรทำอย่างไรให้คนอื่นดูอ่อนเเอลงมากกว่า นอกจากนี้ ยังมองว่า การเดิมเกมของรัสเซียต่อนาโตและสหรัฐฯ อาจมีรูปแบบอื่นๆมากขึ้น เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งไม่ใช่ปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มรูปแบบ