กมธ.การต่างประเทศฯ เสนอ "5 ข้อเรียกร้อง" เพื่อความสมานฉันท์ในเมียนมา

18 เม.ย. 2567 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2567 | 11:00 น.

กมธ.การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ออกแถลงการณ์เรียกร้องเมียนมาปล่อยนักโทษการเมืองเพื่อความสมานฉันท์ พร้อมเสนอไทยเป็นหัวหอกผลักดันการเจรจาสันติภาพเมียนมาอย่างจริงจัง เพิ่มช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และปรับนโยบายแรงงานต่างด้าวให้สอดรับกับสถานการณ์

คำแถลงของ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ซึ่งมี นายนพดล ปัทมะ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ เรื่อง “สถานการณ์ในเมียนมา” เผยแพร่วันนี้ (18 เม.ย.) เรียกร้องให้ เมียนมา ปล่อยนักโทษการเมืองเพื่อความสมานฉันท์และเป็นไปตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน พร้อมเสนอไทยเป็นหัวหอกผลักดันการเจรจาสันติภาพเมียนมาอย่างจริงจัง เพิ่มช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และปรับนโยบายแรงงานต่างด้าวสอดรับกับสถานการณ์ โดยรายละเอียดเนื้อหาของแถลงการณ์ระบุว่า

คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมหารือติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด เห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเป็นลำดับ และอาจมีผลกระทบต่อประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน กรรมาธิการ (กมธ.) ขอแถลงดังนี้

1. เรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

ตามที่มีข่าวปรากฏว่า นางออง ซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา และนายวิน มินต์ อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ถูกย้ายจากเรือนจำไปยังบ้านพัก ซึ่ง กมธ. เห็นว่าเป็นพัฒนาการที่ดี อย่างไรก็ตาม กมธ. ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองรวมทั้ง นางออง ซาน ซูจี และนายวิน มินต์ ตามแนวทางของฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนเพื่อสร้างความสมานฉันท์ในเมียนมา

2. เพิ่มการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา

กมธ. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและอาเซียน เพิ่มการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบให้มากขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือถึงมือประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงเท่าเทียม นอกจากนั้น ควรเพิ่มบทบาทองค์กรเอกชนและเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งควรเปิดรับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากทุกภาคส่วนไปยังผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว

3. ปรับนโยบายแรงงานต่างด้าวให้ทันต่อสถานการณ์

กมธ. เรียกร้องให้ปรับนโยบายด้านแรงงานต่างด้าวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา เนื่องจากคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้อพยพหนีภัยการสู้รบและการเกณฑ์ทหารในเมียนมาข้ามแดนมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยอาจพิจารณาการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งใหม่ เป็นต้น

4. เสนอไทยเป็นหัวหอกผลักดันการเจรจาสันติภาพเมียนมาอย่างจริงจัง

กมธ. เห็นว่าการแก้ปัญหาเมียนมาควรแก้ที่ต้นเหตุ จึงเสนอให้ไทยเป็นหัวหอกผลักดันการเจรจาสันติภาพในเมียนมาอย่างจริงจังต่อเนื่องและเป็นระบบผ่านกลไกทรอยก้าพลัส ร่วมกับอาเซียน จีน อินเดีย เพื่อสร้างสันติภาพ เอกภาพ และเสถียรภาพทางการเมืองในเมียนมาอย่างยั่งยืนต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567 ทางกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ในเมียนมาเช่นกัน กรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับนางออง ซาน ซู จี และนายวิน มิ้นต์ อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ที่ได้รับการย้ายตัวจากเรือนจำไปพำนักยังบ้านพัก มีรายละเอียดเนื้อหา ดังนี้

รัฐบาลไทยยินดีที่ได้รับทราบรายงานข่าวว่า นางออง ซาน ซู จี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา และนายวิน มิ้นต์ อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ได้ถูกย้ายจากเรือนจำไปยังบ้านพัก ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ดีในการตอบสนองความห่วงกังวลของประชาคมระหว่างประเทศ

รัฐบาลไทยหวังที่จะเห็นการดำเนินการในเชิงบวกในลักษณะนี้เพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน