มาเลเซียจ่อผงาดเป็นฮับศูนย์ข้อมูลของอาเซียนและเอเชีย รับอุปสงคฺ์ AI พุ่ง

17 มิ.ย. 2567 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2567 | 12:23 น.

มาเลเซียกำลังผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านศูนย์ข้อมูล (data center hub) ที่ทรงพลังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และทั่วทวีปเอเชีย โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการคลาวด์คอมพิวติ้ง และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประเทศมาเลเซีย ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใน ศูนย์ข้อมูล (data center) มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ รวมถึงจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างกูเกิล (Google) อินวิเดีย (Nvidia) และไมโครซอฟท์ (Microsoft)

นายเจมส์ เมอร์ฟี กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัท ดีซี ไบต์ (DC Byte) ผู้วิเคราะห์ตลาดศูนย์ข้อมูล กล่าวว่า การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในเมืองยะโฮร์บาห์รู ซึ่งอยู่ติดกับประเทศสิงคโปร์

"ดูเหมือนว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมืองยะโฮร์บาห์รูจะแซงหน้าสิงคโปร์ขึ้นเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะเริ่มต้นจากศูนย์เมื่อเพียงสองปีที่แล้วก็ตาม" เขากล่าว

เมืองยะโฮร์บาห์รูได้รับการจัดอันดับให้เป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในดัชนีศูนย์ข้อมูลทั่วโลกประจำปี 2567 ของดีซี ไบต์

รายงานระบุว่า เมืองยะโฮร์บาห์รูมีความจุของศูนย์ข้อมูลรวมทั้งสิ้น 1.6 กิกะวัตต์ ซึ่งรวมโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการที่มีการตกลงกันอย่างเป็นทางการ และโครงการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวางแผน โดยทั่วไปนั้น ความจุของศูนย์ข้อมูลวัดจากปริมาณการใช้ไฟฟ้า

หากความจุของศูนย์ข้อมูลที่วางแผนไว้ทั้งหมดมีการใช้งานทั่วเอเชีย มาเลเซียจะตามหลังเพียงญี่ปุ่นและอินเดียเท่านั้น จากปัจจุบันที่ญี่ปุ่นและสิงคโปร์เป็นผู้นำสองอันดับแรกในภูมิภาค

ศูนย์ข้อมูลเอไอจำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่มาก ใช้พลังงานไฟฟ้ามาก รวมทั้งใช้น้ำปริมาณมากเพื่อการหล่อเย็นให้ระบบ

จุดเด่นของศูนย์ข้อมูลในมาเลเซีย

เดิมทีนั้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานศูนย์ข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ตลาดที่มั่นคงแล้วอย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง อย่างไรก็ตาม รายงานของเอดจ์คอนเนกซ์ (EdgeConneX) ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลระดับโลก ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลทั่วโลก และผลักดันให้เกิดการใช้งานระบบคลาวด์อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ให้บริการคลาวด์ในตลาดเกิดใหม่ เช่น มาเลเซียและอินเดีย มีความต้องการศูนย์ข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“ความต้องการสตรีมวิดีโอที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความต้องการการจัดเก็บข้อมูล และกิจกรรมต่างๆที่เราทำผ่านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือมากขึ้น เหล่านี้หมายความว่า เราจำเป็นต้องมีศูนย์ข้อมูลมากขึ้น” นายเจมส์ เมอร์ฟี จากบริษัท ดีซี ไบต์ ผู้วิเคราะห์ตลาดศูนย์ข้อมูล กล่าว

นอกจากนี้ ความต้องการบริการด้านเอไอที่เพิ่มมากขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เราจำเป็นต้องมีศูนย์ข้อมูลที่มีความจำเพาะเจาะจงมากเป็นพิเศษเพื่อจัดเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลและมีศักยภาพทางการประมวลผลที่มากพอสำหรับการพัฒนาแบบจำลองการใช้บริการเอไอใหม่ๆ แม้ว่าศูนย์ข้อมูลเอไอเหล่านี้ส่วนมากจะตั้งอยู่ในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น แต่เมอร์ฟีก็เชื่อว่า ตลาดเกิดใหม่อย่างมาเลเซียจะมีจุดเด่นที่ดึงดูดการลงทุนเข้ามาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลเอไอจำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่มาก ใช้พลังงานไฟฟ้ามาก รวมทั้งใช้น้ำปริมาณมากเพื่อการหล่อเย็นให้ระบบ ดังนั้น ตลาดเกิดใหม่อย่างมาเลเซียที่ซึ่งต้นทุนค่าพลังงานและราคาที่ดิน ยังถูกกว่าญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งมีทรัพยากรจำกัด ก็จะมีแรงดึงดูดใจมากกว่า

ที่สำคัญคือ รัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านศูนย์ข้อมูลที่ทำให้มาเลเซีย น่าดึงดูดใจในสายตาของนักลงทุน เช่น มาตรการความริเริ่มที่เรียกว่า Green Lane Pathway Initiative ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2566 ช่วยร่นระยะเวลาในกระบวนการขออนุญาตจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเหลือเพียง 12 เดือนเท่านั้น

 

อานิสงส์การลงทุนไหลล้นมาจากสิงคโปร์ 

แต่อีกสิ่งที่เป็นปัจจัยหนุน คือนโยบายของรัฐบสิงคโปร์ที่ทำให้มาเลเซียพลอยฟ้าพลอยฝนได้รับประโยชน์ไปด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากสิงคโปร์มีทรัพยากรบุคคลที่เพียบพร้อม ภาคธุรกิจมีความมั่นใจที่จะลงทุน อีกทั้งยังมีเครือข่ายการเชื่อมสัญญาณระบบใยแก้วที่มีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดคือการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ ทำให้ต้องลดขนาดของศูนย์ข้อมูลลงมา ดังนั้น สมรรถนะที่ล้นเหลือจึงถูกขยับขยายเข้าไปลงทุนในยะโฮร์บาห์รูของมาเลเซียที่มีพรมแดนอยู่ติดกันแทน    

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับนโยบาย เน้นส่งเสริมการเพิ่มสมรรถนะศูนย์ข้อมูล 300 เมกะวัตต์ โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่มีประสิทธิภาพแง่การใช้ทรัพยากร เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้มาตรฐานด้านพลังงานหมุนเวียน นโยบายดังกล่าวจูงใจผู้ลงทุนอย่างไมโครซอฟต์และกูเกิล

“สิงคโปร์เล็กเกินไปสำหรับโครงการศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้มีข้อจำกัดอยู่มากสำหรับการลงทุนที่นั่น” เมอร์ฟีกล่าว

ยะโฮร์บาห์รู ได้อานิสงส์จากการตั้งอยู่ใกล้กับสิงคโปร์

 

เหรียญมีสองด้าน ข้อกังวลที่ต้องคำนึงถึง

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า การเติบโตของศูนย์ข้อมูลเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของมาเลเซีย แต่ก็มีสิ่งที่น่ากังวลตามมา คือการใช้น้ำและไฟฟ้าที่ต้องเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ศูนย์วิจัยของธนาคาร Kenanga Investment Bank ของมาเลเซีย ประมาณการว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของบรรดาศูนย์ข้อมูลในมาเลเซีย จะพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 5 กิกะวัตต์ภายในปีค.ศ.2035 (พ.ศ.2578) ขณะที่ปัจจุบัน มาเลเซียมีความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าตอบสนองความต้องการใช้ทั่วประเทศที่ 27 กิกะวัตต์ (GW)

เดอะ สเตรทไทม์ สื่อท้องถิ่นของมาเลเซียรายงานว่า หน่วยงานในพื้นที่มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น นายโมฮัมหมัด นูราซัม ออสมาน เทศมนตรีเมืองยะโฮร์ บาห์รู กล่าวกับสื่อเมื่อไม่นานมานี้ว่า โครงการลงทุนก่อสร้างศูนย์ข้อมูลต้องไม่สร้างผลกระทบต่อความต้องการใช้ทรัพยากรของคนในพื้นที่ ทั้งนี้ยอมรับว่า การเพิ่มกำลังการผลิตทั้งน้ำและไฟฟ้าเพื่อป้อนความต้องการใช้ ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

ในระหว่างนี้ เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการลงทุน การค้า และกิจการผู้บริโภคของรัฐยะโฮร์ เปิดเผยว่า รัฐบาลท้องถิ่นกำลังเตรียมจัดทำคู่มือแนวทางการใช้พลังงานของศูนย์ข้อมูลออกมาเผยจแพร่เป็นแนวทางสำหรับผู้ลงทุนภายในเดือนมิถุนายนนี้

 

ข้อมูลอ้างอิง