UN แฉแบงก์ต่างชาติใน 7 ประเทศ รวมทั้งไทย เอี่ยวการซื้ออาวุธของกองทัพเมียนมา

28 มิ.ย. 2567 | 07:27 น.

รายงานชิ้นใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ว่า ขณะที่การโจมตีทางทหารยังคงเพิ่มมากขึ้นในเมียนมา  “ประเทศไทย” ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านการธนาคารที่กองทัพเมียนมา หันมานิยมใช้บริการแทนสถาบันการเงินในสิงคโปร์

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิงผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่า ธนาคารนานาชาติ กำลังมีบทบาทสำคัญในสนับสนุน กองทัพเมียนมา ให้สามารถดำเนินการโจมตีอย่างเป็นระบบและรุนแรงต่อประชาชนของตนเอง โดยมี ธนาคารไทย ที่กลายมาเป็นหนึ่งในตัวกลางหลักที่กองทัพเมียนมาใช้ในการซื้ออาวุธและอุปกรณ์ทางทหาร รวมถึงชิ้นส่วนสำหรับเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการสนับสนุนสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานถึงสามปีแล้ว และสร้างความย่อยยับให้กับประเทศ คร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 5,000 คน

รายงานชิ้นใหม่ที่จัดทำโดยทอม แอนดรูว์ส (Tom Andrews) ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ได้รับการเผยแพร่เมื่อวันพุธ (26 มิ.ย.) ระบุว่า ตั้งแต่การยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 กองทัพเมียนมาได้ทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ และกองกำลังประชาชนต่อต้านรัฐบาลทหารทั่วเมียนมา และในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กองทัพได้เผชิญกับการสูญเสียทั้งอาณาเขตและกำลังพลเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากประชาชนทั่วไปและวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความยากจนเพิ่มขึ้นไปอีก กองทัพเมียนมาได้เพิ่มการโจมตีทางอากาศและการโจมตีต่อพลเรือน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน ทำให้มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 3 ล้านคน

แอนดรูว์สกล่าวว่า กองทัพเมียนมาได้เพิ่มการโจมตีทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อเป้าหมายพลเรือนมากขึ้นถึงห้าเท่าในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม ขณะเดียวกันก็พยายามข่มขู่พลเรือนให้หยุดการต่อต้านกองทัพ

"พวกเขาทำเช่นนั้นได้โดยการจัดหาอาวุธจากต่างประเทศ และนั่นเป็นไปได้ด้วยบริการที่พวกเขา (กองทัพ) ได้รับจากธนาคารเหล่านี้"แอนดรูว์สกกล่าวกับ CNN

ที่ผ่านมา แคมเปญการใช้ความรุนแรงอย่างโหดร้ายต่อประชาชนของกองทัพเมียนมา ทำให้ชาติตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อผู้นำทหาร ครอบครัวของพวกเขา รวมทั้งผู้สนับสนุน ตลอดจนรัฐวิสาหกิจ ธนาคาร ไปจนถึงผู้จัดหาเชื้อเพลิงเครื่องบินให้กับกองทัพ

อาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก กองทัพเมียนมาจัดหามาจากต่างประเทศผ่านการทำธุรกรรมกับธนาคารในต่างแดน รวมทั้งไทย

แฉธนาคาร 16 รายใน 7 ประเทศเกี่ยวข้องการจัดหาอาวุธ

รายงานภายใต้ชื่อ "Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar" พบว่ามีธนาคาร 16 แห่งใน 7 ประเทศที่ดำเนินการธุรกรรมที่เชื่อมโยงกับการจัดหาอาวุธของกองทัพเมียนมาในปีที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า อาวุธ เทคโนโลยี อุปกรณ์การผลิต และวัตถุดิบที่กองทัพเมียนมาจัดหามาจากต่างประเทศมีมูลค่าถึง 253 ล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างเดือนเมษายน 2023 ถึงมีนาคม 2024

"โดยการพึ่งพาสถาบันการเงินที่ยินดีทำธุรกิจกับธนาคารของรัฐเมียนมาภายใต้การควบคุมของกองทัพ กองทัพเมียนมาจึงสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็น สำหรับนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ รวมถึงการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือน" รายงานของแอนดรูว์สระบุ

อย่างไรก็ตาม ปริมาณอาวุธและอุปกรณ์ทหารที่กองทัพเมียนมาจัดซื้อผ่านธนาคารต่างประเทศลดลงหนึ่งในสามจากปี 2023 โดยพบว่า การส่งออกจากสิงคโปร์ลดลงอย่างมาก

"ข่าวดีคือ กองทัพเมียนมากำลังถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกมากขึ้น แต่ข่าวร้ายก็คือ พวกเขากำลังหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรและมาตรการอื่นๆ โดยใช้ช่องโหว่ในระบบการคว่ำบาตร เปลี่ยนสถาบันการเงิน และใช้ประโยชน์จากความล้มเหลวของประเทศสมาชิกในการประสานงานและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นรูปธรรม"

รายงานระบุว่า ธนาคารนานาชาติจำเป็นตระหนักรู้ว่า “มีความเป็นไปได้สูง" ที่ธุรกรรมใดๆก็ตามที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐบาลเมียนมา อาจถูกนำไปใช้ในการซื้ออาวุธหรือวัสดุที่ใช้ในสงครามของกองทัพ

"ถ้าคุณต้องการให้แน่ใจว่า สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น ก็อย่าทำธุรกรรมใดๆกับธนาคารของรัฐบาลเมียนมา" รายงานของแอนดรูว์ส ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยยูเอ็นระบุ

สงครามในเมียนมายืดเยื้อมากว่าสามปีหลังรัฐประหาร สร้างความย่อยยับให้กับประเทศและคร่าชีวิตประชาชนกว่า 5,000 คน

ความเชื่อมโยงกับไทย

องค์กรธุรกิจในสิงคโปร์เป็นแหล่งที่มาของอาวุธและอุปกรณ์การทหารที่ใหญ่เป็นอันดับสามของเมียนมา แต่หลังจากการสอบสวนของรัฐบาล การส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังเมียนมาจากบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ก็ลดลงเกือบ 90% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ในปี 2022 ธนาคารในสิงคโปร์อำนวยความสะดวกในการจัดซื้อของกองทัพเมียนมา (ที่ผ่านระบบธนาคาร) มากกว่า 70% แต่ในปี 2023 ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือต่ำกว่า 20%

กองทัพเมียนมามองหาทางเลือกอื่น นอกเหนือจากสิงคโปร์ และแหล่งใหม่ที่พวกเขาพบก็คือ สถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดของเมียนมานั่นเอง

ระหว่างปี 2022 และ 2023 การส่งออกอาวุธและวัสดุทางการทหาร จากองค์กรธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า จาก 60 ล้านดอลลาร์เป็นเกือบ 130 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

"การจัดซื้อของกองทัพเมียนมาหลายรายการที่เคยทำกับบริษัทในสิงคโปร์ รวมถึงชิ้นส่วนสำหรับเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 และ Mi-35 ที่ใช้ในการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือน ตอนนี้ถูกจัดหาจากประเทศไทยแทน" รายงานยังระบุด้วยว่า ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหนึ่งในธนาคารไทยที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนี้

รายงานพบว่า ในปี 2022 ธนาคารไทยพาณิชย์อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเพียงราว ๆ 5 ล้านดอลลาร์ แต่มาในปี 2023 ตัวเลขนี้พุ่งขึ้นเป็นมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์

ในแถลงการณ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า ทางธนาคารมีบริการธุรกรรมระหว่างประเทศ (international transaction services) ระหว่างไทยและเมียนมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสนับสนุนธุรกิจไทยและธุรกิจระหว่างประเทศในการชำระค่าสินค้าและบริการไปยังเมียนมา

ทั้งนี้ ธนาคารระบุว่า ได้ปฏิบัติตามกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการฟอกเงิน และการตรวจสอบภายในพบว่าธุรกรรมของธนาคารกับเมียนมา “ไม่เกี่ยวข้อง” กับการค้าอาวุธ

"SCB ยืนยันความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่อต้านการฟอกเงินและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง" แถลงการณ์ของธนาคารระบุ

ด้านนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวว่า "เราได้เห็นรายงานดังกล่าวแล้วและกำลังตรวจสอบ" นอกจากนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า (ในรายงาน) มีการระบุชื่อของหลายประเทศ ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคที่มีธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ สถาบันทางการเงินของไทยมีแนวทางการดำเนินการเช่นเดียวกับศูนย์กลางทางการเงินอื่น ๆ จึงต้องมีกระบวนการในการสืบหารายละเอียดและข้อเท็จจริงก่อนจะดำเนินการใด ๆ

"สถาบันการเงินของเราปฏิบัติตามมาตรฐานการธนาคารเช่นเดียวกับศูนย์กลางการเงินหลักอื่นๆ ดังนั้นเราจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะพิจารณาขั้นตอนต่อไป” โฆษก กต.ยังกล่าวด้วยว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องเชิงนโยบายซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการมีมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งไทยมีท่าทีในการไม่สนับสนุนการกระทำใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

ยินดีที่ไทยตรวจสอบข้อเท็จจริง 

นายแอนดรูว์ส ผู้เขียนรายงานภายใต้การสนับสนุนของยูเอ็น กล่าวกับ CNN ว่า เขายินดีที่รัฐบาลไทยตัดสินใจ "ตรวจสอบข้อเท็จจริง"

"ผมหวังว่าการสอบสวนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในประเทศไทย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์"

รายงานชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่า การที่สถาบันการเงินต้องรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังและไม่สนับสนุนการทำธุรกรรมที่เป็นอันตรายโดยกองทัพ นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การร่วมมือกัน “คว่ำบาตร” เครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดหาเชื้อเพลิงเครื่องบินให้กับกองทัพเมียนมา และธนาคารเมียนมา อิโคโนมิค แบงก์ (Myanma Economic Bank) ซึ่งเป็นธนาคารหลักของกองทัพเมียนมา อาจมีบทบาทสำคัญในการช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในเมียนมาและช่วยชีวิตคนจำนวนมาก

 

ข้อมูลอ้างอิง