เงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ในเมียนมา

12 พ.ค. 2567 | 20:50 น.

เงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ในเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมาได้มีคำสั่งที่ (4/2024)ให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศเมียนมา เพิ่มเงินทุนสำรองธนาคารขั้นต่ำในรูปของเงินจ๊าด เพิ่มขึ้นอีก 0.25% กล่าวคือจากเดิม ร้อยละ 3.50 เป็นร้อยละ 3.75 แต่เนื่องด้วยในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเวลาที่เมืองเมียวดียังอยู่ในระหว่างชุลมุนวุ่นวายกันอยู่ เราจึงไม่ได้สังเกตเห็นข่าวดังกล่าว 

ซึ่งการขึ้นเงินทุนสำรองธนาคารโดยทั่วไปของทุกประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากทีเดียว เพราะจะส่งผลกระทบถึงกระแสเงินสดภายในประเทศ เพราะนั่นคือการใช้เครื่องมือทางด้านนโยบายการเงินที่สำคัญ ของธนาคารกลางแห่งชาติทั่วไป มักจะใช้เครื่องมือนี้ มาเป็นตัวควบคุมกระแสเงินสดของประเทศ ที่อาจจะส่งผลไปถึงการสร้างเม็ดเงินในตลาด การปล่อยกู้ของธนาคาร และอื่นๆ อีกหลายเรื่องเลยละครับ
              
 

ผมขออนุญาตอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่ายๆ เพื่อให้เพื่อนๆ ทุกท่านได้มองภาพออกได้ไม่ยาก กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของทุกๆประเทศ เขาจะมีหน้าที่ในการสร้างกระแสเงินสด ให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบการเงินของประเทศ ด้วยการรับฝากเงินออมของประชาชนที่มีเงินเหลือฝาก จากนั้นก็จะนำเงินฝากดังกล่าวไปปล่อยให้แก่นักลงทุนหรือประชาชน ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างงาน สร้างธุรกิจฯ สร้างผลกำไร เพื่อเป็นการสร้างเม็ดเงินให้แก่บุคคลทั่วไป ที่เกี่ยวข้องในวงจรของเงินดังกล่าว 

เมื่อผู้คนที่เกี่ยวข้องที่กล่าวมา ได้รับเม็ดเงินที่เกิดจากการสร้างนี้อยู่ในมือ ก็จะนำออกไปจับจ่ายใช้สอย ให้แก่ความเป็นอยู่ของตนเองและบุคคลในครัวเรือน เม็ดเงินดังกล่าวก็จะหลั่งไหลเข้าสู่ระบบตลาด เมื่อเป็นเช่นนี้ เงินก็จะหมุนเวียนครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นกระแสเงินสดไปเรื่อยๆ ยิ่งหมุนก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นลำดับนั่นเอง 
 

ธนาคารกลางแห่งชาติก็จะเข้ามามีบทบาทในการควบคุม ไม่ให้เม็ดเงินตามที่กล่าวมา ได้สร้างความไม่สมดุลของตลาดเงิน เพราะหากกระแสเงินสดในตลาด มีมากเกินไปก็จะทำให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ธนาคารกลางแห่งชาติ (ของไทยเราก็มี ธนาคารแห่งประเทศไทย) จึงต้องเสาะหาเครื่องมือ ในการควบคุมเม็ดเงินดังกล่าว ด้วยการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมี  “เงินสดสำรองธนาคาร” (bank reserves) เข้ามามีบทบาทในการควบคุม ซึ่งเป็นการถือเงินฝากในบัญชีของธนาคารพาณิชย์กับธนาคารกลาง รวมกับเงินตราที่ถืออยู่ในห้องเก็บเงินของธนาคาร ธนาคารกลางบางแห่ง กำหนดการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (reserve requirement) ขั้นต่ำ 

โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ ถือเงินฝากในธนาคาร เทียบเท่ากับร้อยละที่ระบุของความรับผิด หรือถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ อัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัตราเงินสดสำรองที่ต้องดำรง (legal reserve ratio) เป็นอัตราที่ธนาคารกลางแห่งชาติ กำหนดขึ้นเป็นร้อยละของเงินฝาก (ก็ในวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางเมียนมาได้ประกาศขึ้นอัตรานั่นแหละครับ) ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งที่มีเงินฝาก จะต้องดำรงเงินสดสำรอง 

โดยฝากไว้ที่ธนาคารกลางอย่างน้อยที่สุดไม่ต่ำกว่าอัตราที่กำหนด เหตุผลก็เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น การถอนสุทธิขนาดใหญ่ที่ผิดปกติของประชาชน หรือพฤติกรรมการแห่ถอนเงิน ในประเทศเมียนมาช่วงหลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ก็ได้เคยถูกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลแห่กันไปถอนเงิน จนทำให้การดำเนินธุรการของธนาคารพาณิชย์ในเมียนมา ต้องติดๆ ขัดๆ มาแล้วนั่นแหละครับ
             
หันกลับมาดูประเทศเมียนมา ที่มีวัฒนธรรมการเมืองการปกครองที่ไม่เหมือนประเทศทั่วๆ ไป เพราะความเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์พิเศษนี้ ทำให้หลายๆ นโยบายที่ออกมา ตัวผมเองหรือนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปก็คงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เหตุผลกลใดจึงทำให้เขาประกาศใช้นโยบายต่างๆ ได้ หรือเขาน่าจะประกาศนโยบายการเงิน-การคลังอย่างไร? เราก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยครับ ตัวอย่างเช่น นโยบายการเงินที่ประกาศให้ธนาคารต้องเพิ่มเงินทุนสำรองธนาคารในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายการเงินในหลายๆ ชนิด แม้ว่าอาจจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงของธนาคาร ในการป้องกันการถูกโจมตีด้วยวิธีการแห่กันไปถอนเงินได้ 

แต่ที่ผ่านๆ มารัฐบาลก็สามารถใช้การกำหนดจำนวนเงินที่ถูกถอน และจำนวนประชาชนที่เข้าไปถอนเงินในธนาคารพาณิชย์ในแต่ละวัน ซึ่งในช่วงที่หลังการเปลี่ยนแปลงอำนาจใหม่ๆ ก็ได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลไปแล้ว แม้ว่านั่นจะทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในการที่จะฝากเงินไว้ที่ธนาคารก็ตาม หรือแม้กระทั่งจะเกิดการ “ซื้อ-ขายเงินสด” เกิดขึ้น ซึ่งผมก็เคยนำมาเขียนให้อ่านในคอลัมม์นี้ไปแล้ว แต่รัฐบาลเขาก็สามารถดำเนินนโยบาย จนกระทั่งสามารถควบคุมได้อย่างอยู่หมัดไปแล้ว ครั้งนี้การกำหนดนโยบายการเงินเช่นนี้ อาจจะสร้างผลให้กระแสเงินสดในตลาด อาจจะลดลงไปอีก และการปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ให้แก่ประชาชนที่มีความสามารถในการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาก็กู้ยากมากๆๆ อยู่แล้ว ต้องยิ่งยากขึ้นไปอีก 
         
นี่ยังไม่รวมถึงสถานะทางการเงินของประเทศ ที่อาจจะเกิดปัญหาทั้งเงินเฟ้อและเงินฝืดไปในคราวเดียวกัน ซึ่งก็คือการเกิด “หลุมดำทางการเงิน” เข้าไปอีก ซึ่งย่อมส่งผลให้อัตราการจ้างงาน ที่ปัจจุบันนี้ก็มีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ยิ่งเพิ่มมากขึ้น การจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน ก็จะลดลงตามมา การหลั่งไหลออกนอกประเทศของกลุ่มคนวัยทำงาน ก็จะเกิดขึ้นมากขึ้น 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แม้เราจะไม่ใช่ประชาชนชาวเมียนมา และเราก็ไม่มีสิทธิในการไปยุ่งเกี่ยวกับนโยบายของประเทศเขาได้ แต่ในฐานะที่เราต้องทำมาหากินกับการค้า-การขายกับเขา ก็ต้องสนใจจับตามองกันต่อไป ตัวผมเองแม้จะไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งกาจ แต่ก็เคยเรียนเคยสอนเศรษฐศาสตร์มาบ้างหลายปี จึงมีความสนใจเป็นพิเศษนิดนึง แต่ละครั้งที่เขาประกาศนโยบายอะไรออกมา ก็ชอบนำมาคิดต่อว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปนั่นแหละครับ