มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 กับสุดยอดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

02 ก.ค. 2567 | 23:00 น.

ฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2024 ที่กรุงปารีส ระหว่างวันที่ 26 ก.ค. ถึง 11 ส.ค. ที่กำลังจะมาถึง กล่าวกันว่าโอลิมปิกปีนี้ จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการแข่งขันกีฬาที่สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับ "เศรษฐกิจหมุนเวียน" เอาไว้ในทุกมิติ

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2024 ที่ กรุงปารีส ประเทศ ฝรั่งเศส ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 11 สิงหาคมนี้ จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้การจัดงานกีฬาโอลิมปิก โดยมีการสอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน การลดใช้ทรัพยากร หรือใช้แล้วต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon-neutral ) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เอาไว้ในทุกกระบวนการ ของการจัดงาน

ทั้งนี้ ผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2024 หรือปารีสเกม มีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิ (ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์) ให้เป็นศูนย์ เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อสภาพภูมิอากาศโลก โดยตั้งเป้าว่า จะพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับการจัดโอลิมปิก 3 ครั้งก่อนหน้า คือที่ลอนดอน (ปี 2012) รีโอ เดอ จาเนโร (ปี 2016) และโตเกียว (ปี 2020) ซึ่งแต่ละครั้งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 3.5 ล้านตัน นับว่ามากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอินเดียและเยอรมนีทั้งปีรวมกัน

ทางผู้จัดจึงได้นำกฎเกณฑ์ ARO  (Annualized Rate of Occurrence) มาใช้ ประกอบด้วยแนวปฏิบัติที่เน้นการ "หลีกเลี่ยง ลด และ ชดเชย" นอกจากนี้ ในแง่ของการใช้พลังงาน การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีนี้ จะใช้พลังงานหมุนเวียนที่ถือเป็นพลังงานสะอาด 100% โดยเป็นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมาจากกังหันลมบนชายฝั่งนอร์มังดี และแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาสถานที่จัดงานในกรุงปารีส

และเพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด ในการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ ทางผู้จัดจะพยายามใช้อาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสนามแข่งขันที่มีอยู่เดิมให้มากที่สุด และปลูกสร้างของใหม่ให้น้อยที่สุด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

มีการติดตั้งอัฒจันทร์ชั่วคราวในสนามกีฬา ซึ่งเมื่อใช้เสร็จแล้วก็สามารถรื้อถอนไปติดตั้งที่อื่นได้ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป (ภาพรอยเตอร์)

รายงานข่าวระบุว่า ทางฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ มีการสร้างสนามแข่งขันใหม่สำหรับใช้แข่งขันกีฬาทางน้ำและบาสเก็ตบอลเท่านั้น นอกจากนี้ ก็มีการติดตั้งอัฒจันทร์ "ชั่วคราว" ในสนามกีฬาบางแห่ง ซึ่งเมื่อใช้เสร็จแล้ว ก็สามารถรื้อถอนไปติดตั้งที่อื่นได้ใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป ถือเป็นการให้ชีวิตใหม่กับวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เมื่อมีการนำมาใช้แล้วจะไม่เกิดการสูญเปล่า แต่จะพยายามนำไปใช้ประโยชน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่การคัดสรรซัพพลายเออร์ที่จะนำเสนอสินค้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน เช่น เก้าอี้ผู้ชม อุปกรณ์การกีฬา เต็นท์ เครื่องใช้ในหอพักนักกีฬา ทั้งหมดทั้งมวลต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดซื้ออย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible Purchasing Strategy เช่น สินค้าที่จะมานำเสนอให้ผู้จัด ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่ดี เน้นอายุการใช้งานที่ยาวนาน ต้องมีระบบตรวจสอบการผลิตที่ดี มีใบรับรอง มีข้อเสนอว่าจะบริหารจัดการอย่างไรเมื่อสินค้านั้นหมดอายุการใช้งานแล้ว รวมถึงการออกแบบให้เปลืองหีบห่อน้อยที่สุดหรือไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์เลยยิ่งดี เป็นต้น

นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ยังเน้น "การเช่า" แทน "การซื้อ" รวมทั้งการใช้งานร่วมกัน (pooling) ด้วยแนวคิดนี้ ผู้จัดกล่าวว่า ปารีสเกมสามารถลดจำนวนเฟอร์นิเจอร์และป้ายต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ จาก 800,000 ชิ้น เหลือเพียง 600,000 ชิ้นเท่านั้น ส่วนอุปกรณ์กีฬาที่ต้องใช้ในการแข่งขันราว 2 ล้านชิ้น ทางผู้จัดจะใช้วิธีเช่าใช้เอาราว 3 ใน 4 ของทั้งหมด ส่วนอุปกรณ์ประเภทเครื่องรับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และพรินเตอร์ จะเช่าเอาราว 75%

นี่คือการจัดการแข่งขันกีฬาที่สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับ "เศรษฐกิจหมุนเวียน" เอาไว้ในทุกมิติ

ส่วนการใช้ภาชนะหรือเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหารหรือเครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเลยนั้น ทางผู้จัดจะลดลง 50% โดยหันไปใช้ภาชนะที่สามารถใช้ได้ใหม่หรือใช้ได้หลายครั้ง และสามารถนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ ทางบริษัท โคคา-โคล่า ซึ่งเป็นสปอนเซอร์เครื่องดื่ม ตกลงที่จะติดตั้งหัวจ่ายน้ำอัดลมให้นักกีฬาและผู้ร่วมงาน สามารถนำแก้ว ขวด หรือกระติกมาบรรจุ เพื่อลดการใช้ภาชนะพลาสติก

แนวคิดการใช้ทรัพยากรต่างๆอย่างคุ้มค่า ยังรวมไปถึงเรื่องอาหารการกิน โดยอาหารของนักกีฬาจะถูกจัดเตรียมแตกต่างออกไปจากที่เคยเป็นมา โดยจะมีแหล่งวัตถุดิบอาหารจากฟาร์มท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นผู้จัดหาเนื้อและพืชผักที่ปลอดสารร้อยละ 80 ของอาหารทั้งหมดมาเสิร์ฟเป็น 13 ล้านมื้ออาหารให้กับนักกีฬา

นอกจากนี้ ทางกรุงปารีสยังได้เพิ่มเลนจักรยานใหม่ความยาว 800 ไมล์ และปลูกต้นไม้ใหม่อีกกว่า 300,000 ต้น ซึ่งจะคงอยู่คู่นครปารีสต่อไปอีกยาวนานหลังจากที่มหกรรมโอลิมปิก 2024 ครั้งนี้ปิดฉากลง