เปิดราคาปีนภูเขาเอเวอเรสต์ ที่เงินสำคัญกว่าชีวิต

15 ก.ย. 2567 | 02:00 น.

ฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.-พ.ย.) เป็นอีกหนึ่งช่วงที่นักปีนเขานิยมมากในเนปาล เพราะอากาศเย็นท้องฟ้าโปร่ง และสามารถชมทิวทัศน์ได้อย่างชัดเจน นักปีนเขาจะได้สัมผัสกับความสวยงามของหิมะที่ปกคลุมยอดเขาและธรรมชาติที่งดงาม

แต่หากพูดถึงยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ไม่มีที่ไหนที่จะโดดเด่นเท่า “เอเวอเรสต์” ยอดเขาที่มีความสูงถึง 8,848 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่จุดแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศเนปาลและทิเบต “เอเวอร์เรสต์” ไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของความสูงเสียดฟ้า แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความท้าทาย ความฝัน และความแข็งแกร่งที่มนุษย์เราพยายามพิชิตมาตลอดหลายทศวรรษ

ฤดูการปีนเขายอดเขาเอเวอเรสต์โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมและตุลาคม เนื่องมีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากที่สุด ซึ่งการปีนเขาเอเวอร์เรสต์ มีจุดเริ่มต้นมีอยู่ 2 เส้นทาง คือแคมป์ฝั่งเนปาล ทางด้านใต้ของเมือง Lukla และเบสแคมป์ ทางด้านเหนือจากฝั่งทิเบต

ซึ่งในปี 2566 เนปาลถูกวิพากวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องของการออกใบอนุญาตให้นักปีนเขาจำนวน 478 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์จนทำให้มีจำนวนยอดผู้เสียชีวิตสูงมาก

ประเทศเนปาล

เนปาลเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังคงเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยประชากร 1 ใน 4 ยังมีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานความยากจน อย่างไรก็ตาม GDP ของเนปาลในปี 2566 เติบโตที่ 1.9% และธนาคารโลกคาดการณ์ว่าปี 2024 จะขยายตัวได้ถึง 3.9% ท่ามกลางความยากลำบาก เนปาลยังคงมีเสน่ห์เฉพาะตัวในเรื่องทัศนียภาพธรรมชาติอันงดงาม ซึ่งเป็นจุดดึงดูดสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของประเทศ

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเนปาลกำลังฟื้นตัวกลับสู่เส้นทางที่สดใสอีกครั้ง ในปี 2566 เนปาลสามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 1,014,876 คน และในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 33.78% ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยว

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเนปาล

ข้อมูลจาก The Nepal Tourism Board (NTB) ระบุว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 เนปาลต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 304,693 คน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ที่มีเพียง 227,755 คน โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากถึง 128,167 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ายอดก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 นับเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวของเนปาล ที่กลับมาเต็มศักยภาพและสร้างความหวังให้กับเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีนาคมเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูกาลท่องเที่ยว ฤดูใบไม้ผลิถือว่าเป็นฤดูที่ดีที่สุดสำหรับการเดินป่าและปีนเขา จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาปีนเขาที่เนปาลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ ยอดเขาเอเวอเรสต์ ที่สามารถดึงรายได้เข้าประเทศได้อย่างมาก

ใบอนุญาตปีนเขา EVERSET

การที่มีนักปีนเขาต่างชาติเข้ามาปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ในจำนวนมาก ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างชัดเจน การใช้จ่ายของนักปีนเขาครอบคลุมตั้งแต่การจัดซื้ออุปกรณ์ การจ้างไกด์ท้องถิ่นหรือชาวเชอร์ปา การจ้างคนขนของ รวมถึงค่าอาหารและที่พัก ซึ่งการใช้จ่ายเหล่านี้หมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นโดยรอบเขาเอเวอเรสต์ได้รับประโยชน์โดยตรง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งการสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน การพัฒนาสาธารณูปโภค และการจ้างงานในพื้นที่

การขอใบอนุญาตปีนเขา ‘Everest’

จากจำนวนการขอใบอนุญาตปีนเขาที่เพิ่มสูงสุดในปี 2566 ทำให้เกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัยบนยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เรียกว่า "การจราจรติดขัด" บนเส้นทางสู่ยอดเขา ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2562 ในฤดูปีนเขาแรกของปี 2566 นักปีนเขาต้องรอใช้เส้นทางเดียวกันเป็นเวลาหลายชั่วโมงในสภาพอากาศที่หนาวจัด ส่งผลให้นักปีนเขาหลายคนเสียชีวิตจากความอ่อนเพลียและการขาดออกซิเจน

นอกจากความเสี่ยงด้านความปลอดภัยแล้ว การที่มีนักปีนเขาจำนวนมากยังทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขยะที่ถูกทิ้งไว้บนยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อธรรมชาติอย่างมาก การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักปีนเขาจึงต้องได้รับการจัดการอย่างรอบคอบ ทั้งในแง่ของความปลอดภัยและการรักษาสิ่งแวดล้อม

ในปี 2557 รัฐบาลเนปาลได้กำหนดนโยบายให้นักปีนเขาทุกคนที่ขึ้นไปเหนือเบสแคมป์ของเอเวอเรสต์ ต้องนำขยะมูลฝอยอย่างน้อย 8 กิโลกรัมกลับลงมาจากภูเขา หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกริบเงินมัดจำจำนวน 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 150,000 บาท อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากการบังคับใช้ไม่เข้มงวดพอและไม่ได้รับความร่วมมือจากนักปีนเขาอย่างเต็มที่ ทำให้ปัญหาขยะบนยอดเขาเอเวอเรสต์ยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทาย

โดยวันที่ 3 พ.ค. 2567 ศาลสูงสุดของเนปาล สั่งให้รัฐบาลจำกัดจำนวนนักปีนเขาที่จะขึ้นไปท่องเที่ยวบนเขาเอเวอเรสต์และยอดเขาอื่น ๆ ในช่วงฤดูปีนเขาตั้งแต่เดือนพ.ค. หลังจากที่ประชาชนเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมและความอันตราย ซึ่งทางรัฐบาลเนปาลเอง ยืนยันที่จะคัดค้าน หากต้องมีการจำกัดจำนวนใบออกอนุญาตปีนเขา

ค่าใช้จ่ายการปีนเขา

ค่าใช้จ่ายการปีนเขา ‘Everest’

อยู่ราวๆ 3-5 ล้านบาท ประมาณราคาคร่าวๆ แบ่งเป็น

  • ค่าใบอนุญาตปีนเขา  
  • ค่าโบนัส summit 
  • ค่าจ้างเชอร์ปา 
  • ค่าออกซิเจน 20 ถัง 
  • ค่าอาหาร
  • ค่าที่พัก 
  • ค่าชุด อุปกรณ์ 
  • ค่าลูกหาบ 
  • ค่าผู้ช่วยเชอร์ปา 
  • ค่าประกัน

ซึ่งราคาจะบวกขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการ แล้วแต่ความสะดวกสบาย เช่น จำนวนลูกหาบหรือจำนวนชาวเชอร์ปา จำนวนถังออกซิเจน ซึ่งจำนวนนี้ก็ยังไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเดินทาง และค่าวีซ่าเข้าประเทศ และในปี 2567 เนปาลออกกฎให้นักปีนเขาใช้ชิปติดตามตัว อีกราคา ประมาณ 500 บาท

การปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่อันตรายที่สุดในโลก การพิชิตยอดเขาแห่งนี้อาจหมายถึงการเสี่ยงชีวิต หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตบนยอดเขา ค่าดำเนินการเพื่อนำร่างผู้เสียชีวิตลงมานั้นสูงมาก ตั้งแต่หลักล้านไปจนถึงหลายสิบล้านบาท ขึ้นอยู่กับระดับความสูงและความยากลำบากในการช่วยเหลือ ส่งผลให้ร่างของนักปีนเขาหลายคนยังคงถูกทิ้งไว้บนภูเขาตลอดไป

นอกจากความกล้าหาญ ความอดทน และการเตรียมตัวที่พร้อมแล้ว เงินทุนก็เป็นปัจจัยสำคัญในการพิชิตยอดเขานี้ อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนก็มีบทบาทสำคัญในการรักษายอดเขาเอเวอเรสต์ให้คงอยู่เป็นจุดหมายปลายทางในฝันของนักเดินทางรุ่นต่อไป การดูแลสิ่งแวดล้อมบนยอดเขาและการรักษาความสะอาดจึงเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่ออนุรักษ์ความงดงามและความท้าทายของยอดเขาแห่งนี้ให้อยู่คู่โลกต่อไป