ในปีนี้ โลกต้องเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ภัยธรรมชาตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบางพื้นที่ แต่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั่วโลก ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียใต้และยุโรปกลาง กำลังเผชิญหน้ากับอุทกภัย พายุฝนฟ้าคะนอง และดินถล่มที่สร้างความเสียหายร้ายแรง ขณะเดียวกันหลายประเทศในโลกกำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติอย่าง "ภัยแล้งและไฟป่า" ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ไปจนถึงแอฟริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย หลายประเทศต้องรับมือกับการขาดแคลนน้ำ ความแห้งแล้งทำให้ทรัพยากรสำคัญ เช่น น้ำสำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรมพลังงานที่ลดลงจนถึงขั้นวิกฤติ
สาเหตุหลักที่ทำให้ภัยธรรมชาติเหล่านี้รุนแรงขึ้น ไม่ได้เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามปกติเท่านั้น แต่ยังเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน การสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น วงจรน้ำฝนที่เคยสม่ำเสมอในอดีตเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้บางพื้นที่ต้องเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป ขณะที่บางพื้นที่กลับประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง
ในประเทศไทย ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกรที่ต้องเผชิญกับปัญหาผลผลิตที่ลดลง ขณะเดียวกันหลายพื้นที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาน้ำเค็มที่แทรกตัวเข้ามาในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้น้ำที่มีอยู่ไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่
จากข้อมูลพบว่า 7 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด เสี่ยงต่อภัยจากความร้อน และจังหวัดนครราชสีมายังมีความเสี่ยงสูงสุดทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม
สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรง โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ถือเป็นหนึ่งในแหล่งเกษตรกรรมใหญ่ของประเทศ ความแห้งแล้งที่รุนแรงได้ทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักๆ ลดลงอย่างมาก โดยในเดือนกรกฎาคม 2567 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำโอโรวิลล์ (Oroville Reservoir) ลดลงไปถึง 30% จากระดับปกติ ส่งผลให้รัฐบาลต้องบังคับใช้นโยบายประหยัดน้ำอย่างเข้มงวด
จากข้อมูลของ U.S. Drought Monitor (USDM) เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ภัยแล้งระดับปานกลางถึงขั้นวิกฤตครอบคลุมพื้นที่ 28.8% ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงเปอร์โตริโก ระดับภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุด (ภัยแล้งขั้นรุนแรงถึงพิเศษ) เพิ่มเป็น 2.0%
ในปีนี้ ทวีปอเมริกาใต้เผชิญภัยแล้งหนัก และมีการบันทึกจำนวนจุดความร้อนจากไฟป่ามากกว่า 346,000 จุด ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดที่เคยมีมา หลายประเทศเช่น บราซิลและโบลิเวียต้องระดมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงหลายพันนายเพื่อเข้าต่อสู้กับไฟป่าที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงประสบปัญหาจากสภาพอากาศสุดขั้วที่ทำให้สถานการณ์ยากลำบากขึ้น ควันไฟจากไฟป่าเหล่านี้ได้ปกคลุมท้องฟ้าในหลายเมือง รวมถึงเซาเปาโลและลาปาซ ส่งผลให้คุณภาพอากาศย่ำแย่และทัศนวิสัยลดลง
บราซิลกำลังเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี โดยพื้นที่กว่า 59% ของประเทศกำลังอยู่ในภาวะแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อเมืองมากกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ พื้นที่ตอนเหนือของบราซิลที่พึ่งพาแม่น้ำเป็นเส้นทางหลักกำลังประสบปัญหาเนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำอเมซอนลดลงอย่างมาก ทำให้การคมนาคมและการขนส่งสินค้าชะงัก ขณะที่ในภาคตะวันตกตอนกลาง ไฟป่าที่ลุกไหม้อย่างหนักได้ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญ เช่น พื้นที่ปันตานัล และสร้างควันหนาทึบที่ปกคลุมเมืองใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบราซิลเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก การขาดแคลนน้ำทำให้ผลผลิตลดลงกว่า 40% ในหลายพื้นที่
ความแห้งแล้งนี้เชื่อมโยงกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ป่าแอมะซอนซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญของโลกกำลังถูกคุกคามจากไฟป่า ขณะที่พื้นที่การเกษตรที่ขยายตัวได้เร่งการทำลายป่าไปพร้อมกัน ผลกระทบจากระดับน้ำที่ลดลงทำให้ชุมชนในเมืองต่างๆ อย่างมานาคาปูรูต้องเผชิญกับความท้าทายในการเข้าถึงอาหาร น้ำ และสินค้าจำเป็น เนื่องจากเส้นทางขนส่งทางน้ำหลักๆ ถูกตัดขาด
สถานการณ์ไฟป่ารุนแรงในปีนี้มีการปะทุของไฟป่ากว่า 50,000 ครั้งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคแอมะซอน เซอร์ราโด และปันตานัล ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอน เจ้าหน้าที่ของบราซิลได้พยายามต่อสู้กับไฟป่าและจัดการกับปัญหานี้ แต่ความรุนแรงของไฟป่ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเหล่านี้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อทั้งผู้อยู่อาศัยและระบบนิเวศที่สำคัญที่สุดในโลก
อินเดียกำลังเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งรุนแรง โดยมีพื้นที่ถึง 26% ของประเทศได้รับผลกระทบ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากปีก่อน ทั้งยังมีพื้นที่ 9% ที่ประสบกับภัยแล้งขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะในรัฐกรณาฏกะที่สถานการณ์อยู่ในระดับวิกฤติแล้ว ความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นทำให้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบสภาพอากาศ อาจนำไปสู่ฝนตกหนัก น้ำท่วม หรือแม้แต่ภัยแล้งยาวนานที่รุนแรงขึ้นในอนาคต
เดือนแรกของฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ส่งผลให้เกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วมหรือทั้งสองอย่างสำหรับภูมิภาคต่างๆ ของอินเดีย ซึ่งเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงของมรสุมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน
ในขณะที่ในหลายพื้นที่ของจีนกำลังเผชิญกับผลกระทบจากพายุ อีกหลายพื้นที่ก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงเช่นกัน โดยเฉพาะในมณฑลเสฉวนและยูนนาน ที่เป็นแหล่งผลิตพลังงานจากเขื่อนน้ำขนาดใหญ่ แต่ในปีนี้มีปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ลดลงกว่า 40% ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำต้องหยุดชะงักลงบางส่วน รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น
ในทวีปแอฟริกาเคนยากำลังเผชิญกับภัยแล้งอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในภูมิภาคเช่น Turkana และภาคเหนือของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนหลายล้านคน โดยจำนวนประชากรที่ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐบาลและองค์กรบรรเทาภัยพิบัติเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 ล้านคน
นอกจากนี้ การปศุสัตว์ที่ใช้เป็นแหล่งอาหารได้รับความเสียหายอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร ประชากรจำนวนมากต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความขาดแคลนน้ำทำให้เกิดปัญหาการขาดสารอาหาร และการอพยพย้ายถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล
ในปี 2567 แม็กซิโกเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของประชาชนหลายล้านคน ภัยแล้งที่ยาวนานนี้ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการเกษตรกรรมและเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตการเกษตรที่สำคัญซึ่งมีผลผลิตตกต่ำและขาดแคลนสินค้าทางการเกษตร
นอกจากภัยแล้งแล้ว ยังมีคลื่นความร้อนที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก การขาดแคลนน้ำทำให้เกิดปัญหาน้ำไม่เพียงพอในทั้งเมืองและชนบท ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนและกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา รัฐบาลแม็กซิโกได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อจัดการกับวิกฤติครั้งนี้ เช่น การรณรงค์ประหยัดน้ำและสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบ แต่การแก้ไขปัญหานี้ยังคงเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง
ออสเตรเลียต้องรับมือกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี โดยเฉพาะในรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่การขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม พื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ลดลงมากกว่า 35% จากปีก่อน ซึ่งทำให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
แอฟริกาตอนใต้ประสบภัยแล้งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ส่งผลให้แซมเบีย มาลาวี และซิมบับเว ต้องประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติ ความแห้งแล้งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเอลนีโญ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศโลก ทำให้เกิดอุณหภูมิตามฤดูกาลที่รุนแรง ปริมาณน้ำฝนหรือความแห้งแล้ง และส่งผลกระทบต่อผลผลิตพืชผล ประมาณ 70% ของประชากรแอฟริกาตอนใต้ที่อาศัยการเกษตรแบบใช้ฝนไม่มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวเนื่องจากไม่มีฝนตกตามฤดูกาล
ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ไม่ได้เกิดจากความแปรปรวนของธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์มีส่วนในการเร่งให้รุนแรงขึ้น ก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในชั้นบรรยากาศทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้วงจรน้ำฝนผิดปกติในหลายภูมิภาค
ภาคการเกษตรทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การขาดแคลนน้ำในพื้นที่เพาะปลูกส่งผลให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร แต่ยังทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน
หลายประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อรับมือกับภัยแล้ง เช่น การใช้เทคโนโลยีการอนุรักษ์น้ำ และการจัดสรรทรัพยากรอย่างยั่งยืนมากขึ้น การเตรียมพร้อมสำหรับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญในยุคที่สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
"ภัยแล้ง" เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อ้างอิง: