หลังจากที่ ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ต้องประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ ในเช้ามืดวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ตามเวลาท้องถิ่น ทั้งที่ตนเองได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกดังกล่าวเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ เนื่องจากรัฐสภาเกาหลีใต้ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประธานาธิบดีประกาศใช้ ด้วยคะแนน190 เสียง
ถัดมาในวันเดียวกัน ลี แจ-มยุง (Lee Jae-myung) หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้านออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังรัฐสภาเกาหลีมีมติให้เพิกถอนกฎอัยการศึกซึ่งถูกประกาศโดยประธานาธิบดี ยุน ซุกยอลว่า ส.ส.ฝ่ายค้านเตรียมยื่นถอดถอนประธานาธิบดี ยุน ซุกยอล ออกจากตำแหน่ง จากกรณีใช้อำนาจประกาศกฎอัยการศึก (martial law) ก่อวิกฤตการเมืองครั้งรุนแรงที่สุดของในรอบหลายสิบปี
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.จักรี ไชยพินิจ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผ่านรายการ “ฐานทอล์ค” ออกอากาศทางช่องเนชั่นทีวี22 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.40-11.30 น. เพื่อวิเคราะห์ปรากฏการณ์ และฉายฉากทัศน์ต่อจากนี้
“การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพื่อการจัดการกับปัญหาการเมืองภายใน”
นี่คือสิ่งที่รศ.ดร.จักรี วิเคราะห์ถึงสาเหตุแท้จริงของการประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้ โดยระบุถึงเหตุผล 3 ประเด็น โดยประเด็นแรก สมัยที่ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ชนะการเลือกตั้งในปี 2022 พบว่าการชนะการเลือกตั้ง 48.56% กับ 47.83% นั้นไม่ได้เป็นการชนะขาด สะท้อนว่าเสียงไม่ได้เข้มแข็ง
ประการที่สอง ซึ่งถือเป็นปัญหาอย่างมากคือ ในห้วงเวลาที่ผ่านมามีเรื่องของเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาก ซึ่งเศรษฐกิจจะเป็นตัวนำไปสู่การกระตุ้นให้คนอยากออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองมากยิ่งขึ้น บวกกับข่าวเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น มีเรื่องของสตรีหมายเลขหนึ่งได้รับของขวัญเป็นกระเป๋าแบรนด์เนมชื่อดัง และเรื่องการเข้าไปพัวพันกับการปั่นหุ้น จึงทำให้สถานการณ์ทางการเมืองภายในไม่ค่อยสู้ดี ประชาชนเริ่มตั้งคำถามกับตัวรัฐบาล
ประการสุดท้าย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือการที่ฝ่ายค้านชนะและสามารถคุมที่นั่งส่วนใหญ่ คุมเสียงข้างมากในสภาไว้ได้ จากการเลือกตั้งในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงทำให้ตั้งแต่เมษายนจนถึงปัจจุบัน ฝ่ายรัฐบาลทำอะไรได้ค่อนข้างลำบาก ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งเป็นฝ่ายของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ก็ถูกโหวตไม่ผ่าน หรือที่เห็นได้ชัดเจนก็คือฝ่ายสภามีมติที่จะให้ตัดลดงบประมาณของรัฐบาลลง
สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การที่สื่อสำนักข่าวในต่างประเทศหลายสำนักเรียกรัฐบาลปัจจุบันว่าเป็น "lame duck" ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยก็คือ "เป็ดง่อย" ซึ่งปกติจะใช้คำนี้กับนักการเมืองที่กำลังจะหมดวาระแล้วสั่งการอะไรไม่ได้ แต่รอบนี้สามารถเห็นสัญลักษณ์ของ lame duck มาตั้งแต่จุดเปลี่ยนที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้งในเดือนเมษายนแล้ว
สำหรับฉากทัศน์ต่อจากนี้ เชื่อว่าหากถอดถอนประธานาธิบดีได้เร็ว อาจจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ แต่ถ้าถอดถอนช้าก็จะลากโยงไปสู่เรื่องแรงงาน ที่ทางสมาพันธ์แรงงานของทางเกาหลีมีจุดยืนชัดเจนว่า ถ้าประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ไม่ลาออก เขาอาจจะพิจารณาไปถึงการยกระดับการประท้วงหยุดงานทั้งประเทศ
อีกสัญญาณหนึ่งต้องพิจารณา คือฝั่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหนึ่งในพันธมิตรหลักของเกาหลีใต้ ซึ่งวานนี้โฆษกของทำเนียบขาวพูดชัดเจนมากว่าประชาธิปไตยคือ foundation เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้ แปลว่าถ้าสิ่งที่เป็นพื้นฐานอย่างประชาธิปไตย ผู้นำของเกาหลีใต้ยังไม่สามารถดำเนินการตามนี้ได้ สหรัฐก็อาจจะไม่ได้สนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจต่อไป เพราะจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาด้วย
เกาหลีใต้ได้รับการสนับสนุนจากสิ่งที่เราเรียกว่า Global North ส่วนเกาหลีเหนือได้รับการสนับสนุนจากสิ่งที่เป็น Global South ซึ่งประเทศไทยเองล่าสุดไปเป็นส่วนหนึ่งของ BRICS ซึ่งเป็น Global South แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มี OECD ซึ่งเป็น Global North ด้วย ฉะนั้นระหว่างนี้ถ้าจะทำอย่างไร ในเบื้องต้นประเทศไทยอาจจะมาถูกทางในแง่ที่พยายามบาลานซ์ทั้ง Global North และ Global South เอาไว้
สำหรับประเทศไทยนั้น ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงรัฐบาลไทยในแง่ของเศรษฐกิจ แต่อาจจะเป็นห่วงในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศว่า ที่ผ่านมาจุดยืนของไทยอาจยังไม่ค่อยชัดเจน เพราะมีสิ่งที่ต้องรอต้องตัดสินใจอีกระลอกหนึ่ง