วิกฤติการเมืองในเกาหลีใต้ยังคงดุเดือด ประธานาธิบดี "ยุน ซอกยอล" ถูกตั้งข้อหาก่อกบฏหลังจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า สำนักงานสอบสวนแห่งชาติ ประเทศเกาหลีใต้ ได้เริ่มกระบวนการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประธานาธิบดี เสนาธิการทหารบก และรัฐมนตรีมหาดไทย ท่ามกลางแรงกดดันจากพรรคฝ่ายค้านและประชาชนที่เห็นพ้องว่าการประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ สำนักงานอัยการกรุงโซลยังได้ออกคำสั่งห้ามอดีตรัฐมนตรีกลาโหมเดินทางออกนอกประเทศ โดยถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการออกคำสั่งทางทหารในช่วงดังกล่าว
ด้านฝ่ายค้านนำโดย พรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี (DPK) ได้ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล พร้อมเตรียมอภิปรายในวันนี้ (7 ธันวาคม 2567)โดยมีแผนลงมติในช่วงค่ำ การถอดถอนครั้งนี้ต้องการเสียงสนับสนุนถึง 200 เสียงจากทั้งหมด 300 เสียงในสภา
แม้ว่าฝ่ายค้านและพรรคขนาดเล็กจะมีเสียงรวมกัน 192 เสียง แต่ยังคงขาดอีก 8 เสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (PPP) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ได้ประกาศว่าจะพยายามรวมเสียงภายในพรรคไม่ให้มีการแตกแถว แม้จะมีสมาชิกบางส่วนที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี
ผู้นำพรรครัฐบาล ฮัน ดงฮุน หัวหน้าพรรคพลังประชาชน (PPP) ซึ่งเป็นพรรคของประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล เองได้เสนอว่าควรระงับการทำหน้าที่ของประธานาธิบดีโดยทันที พร้อมเตือนว่าการดำรงตำแหน่งต่ออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของประเทศ
นอกเหนือจากแรงกดดันในสภา ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากยังคงออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก โดยมีการชูป้ายและตะโกนเรียกเขาว่า "ผู้นำรัฐประหาร" เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อผู้นำ รวมถึงความไม่ไว้วางใจต่อการใช้อำนาจในช่วงวิกฤติ
บรรยากาศความขัดแย้งและการประท้วงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจนำไปสู่ความไม่สงบเพิ่มเติมในสังคม ซึ่งยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ กรณีดังกล่าวถือเป็นวิกฤติที่สำคัญที่สุดของเกาหลีใต้ในรอบหลายปี การประกาศกฎอัยการศึกครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปีและข้อกล่าวหาก่อกบฏต่อผู้นำประเทศทำให้เกิดคำถามถึงการบริหารงานและการใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตย หากกระบวนการถอดถอนประสบความสำเร็จ จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโครงสร้างทางการเมืองของประเทศ และอาจส่งผลต่อทิศทางการเมืองในระยะยาวของเกาหลีใต้ แต่หากการถอดถอนล้มเหลว ความตึงเครียดทางการเมืองอาจทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก