รัฐบาลของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แจ้งต่อรัฐสภาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า จะเลิกจ้างพนักงานที่เหลือเกือบทั้งหมดของ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ (USAID) และจะปิดหน่วยงานนี้ลง แม้ว่าทรัมป์จะเพิ่งให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
โดย ทรัมป์กล่าวว่า เขาได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในเมียนมาเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหว และสหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือ
ผู้เชี่ยวชาญด้านความช่วยเหลือมนุษยธรรมหลายรายแสดงความกังวลต่อการตัดงบและลดขนาดองค์กรของ USAID ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างอิทธิพลของสหรัฐฯ ทั่วโลกและช่วยชีวิตผู้คนมานานกว่า 60 ปี โดยเฉพาะในการประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว
พนักงานหลายพันคนของ USAID รวมถึงเจ้าหน้าที่บริการต่างประเทศที่ประจำอยู่ในหน่วยงาน ได้รับแจ้งผ่านบันทึกภายในว่า ตำแหน่งงานทั้งหมดที่ไม่ถูกกฎหมายบังคับให้มี จะถูกยกเลิกในเดือนกรกฎาคมและกันยายน
บันทึกดังกล่าวซึ่งรอยเตอร์ตรวจสอบแล้ว ถูกส่งโดย เจเรมี ลูวิน รองผู้อำนวยการรักษาการของ USAID และสมาชิกของหน่วยงาน “Department of Government Efficiency” (DOGE) ที่มีหน้าที่ตัดงบและปรับโครงสร้างภาครัฐ ซึ่งบริหารโดย อีลอน มัสก์ เพิ่งเป็นผู้นำการปรับลดรอบแรกของ USAID เมื่อเดือนก่อน
ในการแจ้งต่อรัฐสภา กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า โครงการ USAID ทั่วโลกจะถูกปิด และหน้าที่ที่เหลือของหน่วยงานจะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงฯ
การตัดงบและพนักงานของ USAID ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับความพยายามช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั่วโลก โดยการแจ้งเตือนล่าสุดเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่แผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศไทยและเมียนมา ส่งผลให้มีอาคารถล่มและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่ USAID เคยมีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยลักษณะนี้
จำนวนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่ข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคมจากกลุ่มเคลื่อนไหว Stand Up for Aid ระบุว่า มีพนักงานของรัฐบาลกลางใน USAID ที่ยังทำงานอยู่จำนวน 869 คน ขณะที่อีก 3,848 คนอยู่ในสถานะลาหยุดโดยได้รับค่าจ้าง
แหล่งข่าวระบุว่า การเลิกจ้างยังรวมถึงเจ้าหน้าที่บริการต่างประเทศจำนวนหลายพันคนที่ประจำอยู่ในหน่วยงาน USAID ทั่วโลกด้วย
ในบันทึกของลูวิน ระบุว่า พนักงานของ USAID ทั่วโลกจะได้รับอีเมลแจ้งการเลิกจ้างภายในเวลาไม่นาน โดยให้เลือกว่าจะถูกปลดออกในวันที่ 1 กรกฎาคม หรือ 2 กันยายน
ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า กระทรวงการต่างประเทศจะรับช่วงภารกิจที่เหลือของ USAID ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยชีวิตและการให้ความช่วยเหลือเชิงยุทธศาสตร์ แต่ระบุชัดว่า พนักงาน USAID จะไม่ได้รับการโอนย้ายเข้ากระทรวงโดยอัตโนมัติ แต่ต้องผ่านกระบวนการสรรหาที่แยกและเป็นอิสระ
เมื่อเดือนมกราคม ทรัมป์ออกคำสั่งระงับความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯ ทั้งหมดเป็นเวลา 90 วัน พร้อมสั่งให้ทบทวนว่า โครงการต่างๆ สอดคล้องกับนโยบายของเขาหรือไม่ โดยอ้างโดยไม่มีหลักฐานว่า มัสก์พบการทุจริตในหน่วยงาน ซึ่งกล่าวหาว่าบริหารโดยกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายซ้าย
มัสก์และ DOGE เข้าควบคุมระบบการเงินและอีเมลของ USAID ระงับการชำระเงินจำนวนมาก และแจ้งพนักงานจำนวนมากว่าอยู่ในสถานะลาหยุด
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ มัสก์โพสต์ใน X (Twitter) ว่าเขาได้ใช้เวลาทั้งสุดสัปดาห์ป้อน USAID เข้าเครื่องบดไม้
ในวันศุกร์ รัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์โก รูบิโอ แถลงว่า กระทรวงฯ ได้แจ้งต่อรัฐสภาถึงความตั้งใจที่จะปรับโครงสร้าง USAID
เรากำลังปรับทิศทางความช่วยเหลือต่างประเทศให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และพลเมืองของเราอย่างชัดเจน
การตัดงานที่เหลืออยู่ของ USAID ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยธรรมจำนวนมากแสดงความกังวล โดยระบุว่า การเลิกจ้างและการตัดงบประมาณจะทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาและไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เจเรมี โคนินไดค์ อดีตเจ้าหน้าที่ USAID และประธานองค์กร Refugees International โพสต์บน X ว่า นี่คือ การละทิ้งบทบาทความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ บนเวทีโลกอย่างสิ้นเชิงการเลิกจ้างเหล่านี้เท่ากับเป็นการตัดทีมสุดท้ายที่เคยสามารถระดมกำลังเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่เมียนมา
แทมมี บรูซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงใน USAID จะไม่กระทบต่อความสามารถของรัฐบาลในการส่งทีมรับมือภัยพิบัติ DART (Disaster Assistance Response Team) แต่ไม่สามารถระบุกรอบเวลาได้
อดีตหัวหน้าทีมรับมือภัยพิบัติของ USAID ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า การตัดงบประมาณและบุคลากรของรัฐบาลทรัมป์ครั้งใหญ่ได้ตัดความสามารถของหน่วยงานในการส่งทีมช่วยเหลือไปยังไทยและเมียนมา ส่งผลให้จีนและประเทศคู่แข่งอื่นๆ เข้ามาแทนที่
ฉันคิดว่าอีกไม่นานจะเห็นทีมจากจีนเดินทางมาถึง ถ้ายังไม่มาแล้วล่ะก็ ทีมจากตุรกี รัสเซีย อินเดียก็น่าจะเริ่มเข้ามาในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในไทยและเมียนมา แต่สหรัฐฯ จะไม่อยู่ตรงนั้น ซาราห์ ชาร์ลส์ อดีตรองผู้บริหาร USAID ฝ่ายงานด้านมนุษยธรรม (ดำรงตำแหน่งจนถึงกุมภาพันธ์ 2024) กล่าว
นอกจากนี้ยังระบุว่า สัญญากับทีมค้นหาและกู้ภัยในเมืองจากลอสแอนเจลิส เวอร์จิเนียที่เคยถูกยกเลิก ได้รับการเปิดใช้งานใหม่แล้ว แต่สัญญากับผู้ให้บริการขนส่งเชิงพาณิชย์สำหรับขนย้ายทีมเหล่านี้ยังคงถูกตัดอยู่ และองค์กรไม่แสวงหากำไรที่เคยให้บริการฉุกเฉินด้านน้ำ สุขาภิบาล และการแพทย์หลายแห่งก็ได้เลิกจ้างพนักงานหรือไม่มีงบประมาณเหลือจากการระงับความช่วยเหลือของทรัมป์