ความเปิดกว้างของผู้บริโภคชาวไทยในการรับวัฒนธรรมด้านอาหารเข้ามาประยุกต์ปรับแต่งให้เข้ากับรสนิยมและความชื่นชอบของคนไทย ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการและตัวแทนจากภาคการเกษตรของสหรัฐอเมริกาต่างเล็งเห็นศักยภาพที่จะนำผลิตภัณฑ์อาหารเข้ามาขยายตลาดในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง
[caption id="attachment_94284" align="aligncenter" width="336"]
คริสติน สลูป[/caption]
"คริสติน สลูป" ที่ปรึกษาทูตฝ่ายกิจการเกษตร สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า รู้สึกตื่นเต้นกับโอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ ในตลาดไทย โดยที่ผ่านมามองเห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ ซึ่งผลิตภัณฑ์สหรัฐฯ มีชื่อเสียงในเรื่องของความน่าเชื่อถือ ความสะอาด และคุณภาพคงเส้นคงวา
นอกจากนี้ เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ชาวไทยสนใจอาหารจากหลายๆ ชาติ โดยคนไทยสามารถนำอาหารจากประเทศอื่นๆ เข้ามาประยุกต์ให้กลายเป็นของตัวเอง นับว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เองก็มีผลิตภัณฑ์หลากหลายที่ตอบโจทย์ในส่วนนี้และหวังว่าจะสามารถนำเข้ามาสู่ตลาดไทยได้
"ผู้บริโภคชาวไทยเปิดกว้างกับเทรนด์อาหารต่างประเทศใหม่ๆ ถ้าเรามองไปที่วัตถุดิบและส่วนผสมจากสหรัฐฯ เช่น ผลไม้ ถั่ว ซีฟูด แล้วคิดว่าจะนำมาใช้ในสูตรอาหารของตัวเอง หรือนำไปประยุกต์ใหม่ได้อย่างไร นั่นก็จะเป็นการสร้างโอกาสด้วยเช่นเดียวกัน" สลูปกล่าว
ที่ปรึกษาทูตฝ่ายกิจการเกษตรของสหรัฐฯ กล่าวต่อไปว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าสินค้าเกษตรโดยรวมระหว่างไทยและสหรัฐฯ เป็นลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกัน โดย นอกจากสหรัฐฯ จะส่งออกสินค้าอาหาร เช่น เนื้อวัว มันฝรั่ง ผลไม้ ถั่ว และไวน์ เข้ามาในไทยแล้ว ยังส่งออกวัตถุดิบสำหรับเข้ามาใช้ในการแปรรูปต่อไป เช่น ฝ้าย ตลอดจนอาหารสัตว์อีกด้วย
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ส่งออกสินค้าเกษตรเข้ามายังประเทศไทยเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากประเทศไทยเป็นมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทางการสหรัฐฯ คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยมองเห็นโอกาสการเติบโตของผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคและอาหารสำเร็จรูป
ตลาดเบอร์เกอร์โตหนุนโปรดักต์สหรัฐฯ
หนึ่งในตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตเป็นอย่างดีและมีโอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารจากสหรัฐฯ ก็คือ ตลาดเบอร์เกอร์ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท และปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตราว 25% เห็นได้จากการเพิ่มจำนวนของร้านเบอร์เกอร์ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปของร้านอาหาร ฟูดทรัก รวมถึงการนำเชนจากต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย
ด้วยเล็งเห็นศักยภาพที่จะรุกทำตลาดวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ให้กับผู้บริโภคชาวไทย สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยจึงได้จัดการแข่งขัน Great American Burger Competition ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ เพื่อโปรโมตวัตถุดิบหลักสำหรับการทำเบอร์เกอร์ คือ เนื้อวัว ชีส มันฝรั่งแช่แข็ง และวอชิงตันแอปเปิล หลังจากประสบความสำเร็จอย่างดีในการจัดงานครั้งแรกเมื่อปีก่อน
ข้อมูลจากฝ่ายกิจการเกษตร สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยระบุว่า ในปี 2558 ไทยนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 107 ล้านบาท ชีส 166 ล้านบาท และมันฝรั่งแช่แข็งเป็นมูลค่า 573 ล้านบาท
นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนประเทศไทยของคณะกรรมการมันฝรั่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า แนวโน้มการนำเข้ามันฝรั่งแช่แข็งในช่วงที่ผ่านมาเติบโตขึ้นทุกปี เนื่องจากมีการขยายตัวของร้านอาหารประเภทควิกเสิร์ฟและเบอร์เกอร์ทรักมากขึ้น โดยคณะกรรมการมันฝรั่งของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกร ได้ส่งตัวแทนเข้ามาสร้างความเข้าใจทั้งกับซัพพลายเออร์และร้านอาหารต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากมันฝรั่งของสหรัฐฯ ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็คาดว่าจะมีการประชาสัมพันธ์กับผู้บริโภคโดยตรงให้มากขึ้น
นายไกรภพกล่าวอีกว่า ตลาดเอเชียเป็นตลาดที่ผู้ปลูกมันฝรั่งของสหรัฐฯ มองว่าเป็นตลาดที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ เนื่องจากมีการบริโภคมันฝรั่งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้มีการเข้าไปจัดตั้งสำนักงานตามประเทศต่างๆ ของเอเชีย อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน เกาหลีใต้ และล่าสุดคือในประเทศเมียนมา
ด้านนางธีรวี อังกุวรกุล ตัวแทนประเทศไทยของคณะกรรมการวอชิงตันแอปเปิล และคณะกรรมการนมของรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าประเทศไทยนำเข้าแอปเปิลจากรัฐวอชิงตันเป็นอันดับ 9 ของโลก และมีแนวโน้มการเติบโตในระดับเกินกว่า 10% โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้บริโภคให้ความสนใจกับการรักษาสุขภาพ และความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น
แอปเปิลแดงจากวอชิงตันเข้ามาในประเทศไทยมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว และเวลานี้ก็มีสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด ซึ่งทางคณะกรรมการ ได้ช่วยส่งเสริมการทำตลาดในส่วนนี้ด้วยการจัดอีเวนต์ เช่น การทดลองชิมแอปเปิล การทำโรดโชว์ ตลอดจนเดินสายให้ความรู้ตามโรงเรียนถึงประโยชน์ของแอปเปิล เป็นต้น
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ชีสจากรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นเพิ่งจะมีการนำเข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปีก่อน แต่นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ดาวเด่น โดยร้านอาหารต่างๆ มีการนำชีสมาใช้เป็นส่วนประกอบกันอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ยังมองเห็นโอกาสในตลาดเอเชียเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก และยังมีการบริโภคชีสน้อยเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีซูเปอร์มาร์เก็ตมาร์เก็ตบางรายนำชีสจากแคลิฟอร์เนียเข้ามาวางจำหน่าย รวมถึงมีบริษัทที่นำเข้ามาซัพพลายให้กับผู้ประกอบการทางด้านอาหาร ขณะเดียวกันทางสำนักงานจะทำหน้าที่สนับสนุนตลาดในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจนำเข้า
ทั้งนี้ กิจกรรมแข่งขันทำเบอร์เกอร์นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยสร้างการรับรู้ต่อผลิตภัณฑ์อาหารจากสหรัฐฯ ให้กับผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งที่ปรึกษาทูตฝ่ายกิจการเกษตรของสหรัฐฯ กล่าวว่า นอกจากอีเวนต์ดังกล่าวแล้ว ยังมีแผนการที่จะจัดกิจกรรม "Dine Out Bangkok" เป็นการร่วมมือกับร้านอาหารเพื่อจัดกิจกรรมทดลองชิมผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ นอกจากนี้ได้พยายามจับมือกับซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เพื่อโปรโมตอาหารทะเลอีกด้วย
ขณะเดียวกันสำนักงานของฝ่ายการเกษตรของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยมีความสนใจอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยเหลือผู้นำเข้าของไทยที่สนใจมองหาซัพพลายเออร์จากทางสหรัฐฯ อีกทั้งช่วยให้ข้อมูลกับผู้ส่งออกของสหรัฐฯ เกี่ยวกับโอกาสในตลาดไทย "เราพยายามประชาสัมพันธ์ถึงโอกาสของผลิตภัณฑ์สหรัฐฯ ในไทยและจัดทำข้อมูลบนอินเตอร์สำหรับผู้ส่งออกสหรัฐฯ พวกเขาจะได้รับทราบว่าตลาดไทยเป็นตลาดที่ยอดเยี่ยมเพียงใด" สลูปกล่าวปิดท้าย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559