ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นัดถกประเด็นทวิภาคีในวันที่ 17 พ.ย.นี้ ที่กรุงเทพฯ โดยจะเป็นการประชุมนอกรอบ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 และในบรรยากาศครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น
นายฮิโรคาสึ มัตซูโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยวานนี้ (14 พ.ย.) ว่า นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน จะจัดการประชุมทวิภาคีในวันที่ 17 พ.ย. นอกรอบการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่กรุงเทพฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ
"ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีนจำเป็นต้องดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์และมีเสถียรภาพ เราจัดการประชุมดังกล่าวเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ" นายมัตซูโนะกล่าวและว่า
การประชุมซึ่งเป็นการพบหน้ากันครั้งแรกระหว่างทั้งสองผู้นำ มีขึ้นขณะจีนและญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงวาระครบรอบ 50 ปีของการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน
ทั้งนี้ จีนและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับ
ขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศยังคงมีความบาดหมางในอดีตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และการแข่งขันกันเป็นผู้นำในภูมิภาค
สื่อต่างประเทศระบุว่า ปธน.สี จิ้นผิง เคยพบปะกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นครั้งล่าสุดในเดือน ธ.ค. 2562 เมื่อครั้งที่นายชินโซ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่นในขณะนั้น เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง
การพบกันที่กรุงเทพฯในวันที่ 17 พ.ย.นี้ จะเป็นการพบหน้ากันครั้งแรกของปธน.สี จิ้นผิง และนายฟูมิโอะ คิชิดะ หลังจากที่ฝ่ายหลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม บุคคลทั้งสองเคยคุยกันทางโทรศัพท์ในเดือน ต.ค.2564 หลังจากที่นายคิชิดะชนะการเลือกตั้งมาหมาดๆ แสดงถึงความตั้งใจของญี่ปุ่นและจีนที่พยายามจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
โดยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา จีนและญี่ปุ่นเพิ่งฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปีระหว่างกัน แม้จะมีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับดินแดนหมู่เกาะ “เซ็นกากุ”ที่ต่างฝ่ายอ้างสิทธิ์ (โดยจีนเรียกเกาะดังกล่าวว่า “หมู่เกาะเตี้ยวหยู”) และประเด็นอื่นๆ อยู่ก็ตาม
ทั้งนี้ จีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกกับญี่ปุ่นที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ต่างเป็นคู่ค้าสำคัญของกันและกัน ก่อนโควิด-19 ระบาด ปธน.สี จิ้นผิง เคยมีแผนเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ร้าวฉานอย่างรวดเร็วเมื่อรัฐบาลปักกิ่งเสริมขีดความสามารถทางทหาร และการยิงขีปนาวุธระหว่างซ้อมรบใหญ่ของจีนรอบไต้หวันเมื่อเดือน ส.ค.ที่ไปตกในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น กรณีดังกล่าวทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นประท้วงไปยังจีนเกี่ยวกับการละเมิดน่านฟ้าและน่านน้ำ
นอกจากนี้ จีนและญี่ปุ่นยังต้องเลือกอยู่ฝ่ายที่ตรงข้ามกันเกี่ยวกับประเด็นสงครามในยูเครน โดยญี่ปุ่นสนับสนุนพันธมิตรตะวันตกต่อต้านการรุกรานของรัสเซียอย่างชัดเจน ขณะที่จีน แม้ไม่สนับสนุนรัสเซียโดยตรง แต่ก็หลีกเลี่ยงวิจารณ์และไม่ร่วมประณามรัสเซียที่เปิดฉากรุกรานยูเครน
การพบปะหารือทวิภาคีระหว่างทั้งสองผู้นำในครั้งนี้ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ จึงเป็นความหวังว่าผู้นำจีนและญี่ปุ่นจะนำมาซึ่งข่าวดี และบรรยากาศที่คลี่คลาย รวมทั้งสันติภาพในภูมิภาค