ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับคำว่า ความคลาดเคลื่อนของค่าเงิน (exchange rate misalignment) ซึ่งหมายถึง ความแตกต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ควรจะเป็น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ค่าเงินที่เป็นอยู่จริงมีความแตกต่างจากค่าเงินที่ควรจะเป็นอย่างไร
โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่นิยามอัตราแลกเปลี่ยน หรือ ค่าเงินที่ควรจะเป็น ก็คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับดุลยภาพ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ที่ว่า ค่าเงินที่เป็นอยู่จริงของประเทศหนึ่งๆ อาจจะมีค่าแพงกว่าค่าเงินที่ควรจะเป็น (exchange rate overvaluation) หรือค่าเงินที่เป็นอยู่จริงมีค่าถูกกว่าค่าเงินที่ควรจะเป็น (exchange rate undervaluation)
ค่าเงินสามารถมีค่าตํ่ากว่าค่าที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุผลที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น การเกิดวิกฤตทางการเมืองในประเทศทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศเกิดความกังวลในการถือครองสินทรัพย์หรือเงินตราของประเทศนั้น ส่งผลให้เกิดการอ่อนค่าของเงินอย่างรวดเร็ว อย่างที่เกิดขึ้นใน บราซิล และ ตุรกีช่วง 2013-2019 เป็นต้น หรือ ในบางกรณีการที่ค่าเงินถูกเกินไปอาจจะเป็นผลจากการแทรก แซงของรัฐบาลหรือธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ เพื่อกดให้ค่าเงินอ่อนลง เช่นกรณีของประเทศจีน
ในทางกลับกัน ค่าเงินของประเทศอาจจะมีค่าสูงเกินไปกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อนักลงทุนจากต่างประเทศต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์และถือเงินสกุลของประเทศนั้นๆ มากขึ้น เช่น กรณีที่ธนาคารกลางของประเทศหนึ่ง เพิ่มอัตราดอกเบี้ย และนักลงทุนต่างชาติต้องการที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศนี้ เนื่องจากเล็งเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น นี่จะส่งผลให้ความต้องการถือเงินของประเทศนี้เพิ่มสูงขึ้น อันนำไปสู่การแข็งค่าขึ้นของเงินในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลในบางประเทศ อาจจะต้องการแทรกแซงเพื่อรักษาระดับค่าเงินให้สูงกว่าที่ควรจะเป็นด้วยเหตุผลบางประการ
ที่ผ่านมามีงานวิจัยเชิงประจักษ์เพื่อศึกษาผลกระทบของการที่ค่าเงินไม่อยู่ในระดับที่ควรจะเป็นว่าจะส่งผล กระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่ข้อสรุปที่ออกมายังไม่ชัดเจน อีกทั้งมีการอภิปรายมากมายถึงข้อดีและข้อเสียของการบิดเบือนค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยน
โดยในกรณีของการรักษาค่าเงินให้อยู่ในระดับตํ่า ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เชื่อกันว่ารัฐบาลจีนนำมาใช้ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 จุดประสงค์ คือ เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศ เนื่องจากการที่ค่าเงินอ่อนลง จะทำให้สินค้าส่งออกมีราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบ นำไปสู่การส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น
อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานในภาคการผลิตของสินค้าที่มีการซื้อขายระหว่างประเทศ หรือ tradable sectors นอกจากนี้ ในทางกลับกัน การที่ค่าเงินถูกจะส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น จึงช่วยปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศจากการแข่งขันจากต่างประเทศและสามารถรักษาระดับการจ้างงานภายในประเทศได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การรักษาค่าเงินให้อยู่ในระดับตํ่า อาจนำมาซึ่งปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่การแข่งขันของตลาดภายในประเทศลดลง ต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการมีอุปสงค์ของแรงงานที่สูงขึ้น (โดยเฉพาะในกรณีของประเทศที่มีอุปทานของแรงงานจำกัด) จะผลักดันให้เกิดการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและส่งทอดไปสู่ราคาสินค้าโดยทั่วไป ความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจนี้อาจส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ถึงแม้การบิดเบือนค่าเงินให้แข็งค่าขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น จะส่งผลเสียต่อการค้าระหว่างประเทศ ทำให้การส่งออกลดลง การนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการขาดดุลการค้า การลงทุนและการจ้างงานในประเทศมีแนวโน้มลดลง
แต่กลับพบว่ารัฐบาลในหลายประเทศพยายามรักษาค่าเงินให้อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งคือ การที่สินค้านำเข้ามีราคาถูกลง จะดีต่อประเทศที่ต้อง พึ่งพาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร ยา หรือ หมวดพลังงาน เป็นต้น
และอาจจะมีส่วนช่วยในการรักษาระดับราคาสินค้าภายในประเทศ ให้ไม่เพิ่มขึ้นสูงเกินไป นอกจากนี้ การบิดเบือนค่าเงินให้แข็งขึ้น ยังอาจช่วยเพิ่มเสถียรภาพทางการเมือง อย่างที่รัฐบาลส่วนใหญ่มีการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือสินค้าจำเป็นที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ
ดังนั้น ถ้าค่าเงินอยู่ในระดับที่อ่อนเกินไป จะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น อันอาจนำมาซึ่งการประท้วงต่อต้านรัฐบาลได้ในที่สุด
ผู้เขียนจึงเกิดความสนใจในการศึกษาผลของการบิดเบือนค่าเงิน ที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงได้ทำการศึกษาประเด็นนี้ โดยใช้ข้อมูลจาก 6 ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย จากปี 1970-2019 และสร้างแบบจำลองทางเศรษฐมิติสำหรับแต่ละประเทศ เพื่อทำการวิเคราะห์การตอบสนองอย่างฉับพลัน (impulse response analysis) ของตัวแปรมหภาคที่สำคัญต่างๆ
จากการศึกษา ผู้เขียนพบว่า ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย การคลาดเคลื่อนของค่าเงิน สามารถมีผลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในลักษณะที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ผลักดันให้เกิดความคลาดเคลื่อนของค่าเงิน ซึ่งโดยทั่วไปพบว่า การที่ค่าเงินอ่อนกว่าที่ควร จะเป็นสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ในระยะสั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ่อนค่าของเงินที่เป็นผลจากการเปิดเสรีการค้าเพิ่มขึ้น การเกิด positive supply shock หรือ การใช้นโยบายการเงินแบบขยายตัว สามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ดีกว่าการบิดเบือนค่าเงินด้วยรูปแบบอื่น
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังแสดงว่า การทำให้ค่าเงินถูกกว่าที่ควรจะเป็น ผ่านทางการแทรกแซงของธนาคารกลาง หรือ ภาครัฐบาลสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ (ถึงแม้จะไม่ดีเท่าที่ควร) แต่ในระยะยาว การบิดเบือนค่าเงินนี้ จะส่งผลกระทบทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ