ธุรกิจครอบครัวรู้ดีว่าพนักงานที่ดีที่สุดที่ควรจะจ้างเข้ามาทำงานก็คือสมาชิกในครอบครัวนั่นเอง มีเหตุผลดีๆ มากมายในการทำงานร่วมกับสมาชิกในครอบครัว อาทิ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ สามารถไว้ใจได้ รู้ทักษะและความสามารถ เป็นต้น แต่อีกมุมหนึ่งก็มีปัญหามากเช่นกันในการทำงานกับสมาชิกครอบครัว
แล้วส่งผลกระทบเลวร้ายต่อทั้งธุรกิจและครอบครัวเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสับสนในบทบาทหน้าที่ การปล่อยให้อารมณ์เหนือเหตุผล หรือการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันเองในครอบครัว ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหาย จึงต้องมีการกำหนดสิ่งสำคัญ 8 ข้อ ดังนี้
กำหนดลักษณะงาน (Job Description) ให้ชัดเจน ในธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก ปกติแล้วทุกคนจะสวมหมวกหลายใบ ดังนั้นจึงควรจะมีการกำหนดบทบาทหลักของทุกคนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการขาย การบริหาร หรือการจัดการด้านการเงิน เป็นต้น และหากกำลังเตรียมความพร้อมให้กับคนรุ่นต่อไป อาจจำเป็นต้องจัดให้มีการหมุนเวียนงานเป็นครั้งคราว โดยให้แต่ละคนมีหน้าที่ความรับผิดชอบ คำบรรยายลักษณะงาน และตำแหน่งงานที่ชัดเจน
กำหนดเวลาทำงานที่ชัดเจน บ่อยๆ ที่ภรรยาต้องไปรับลูกจากโรงเรียนเวลาบ่าย 3 โมง ขณะที่สามีก็ออกไปเล่นกอล์ฟกับเพื่อนๆ สัปดาห์ละ 2 วัน หรือพี่สาวกำลังจะหยุดงานเพื่อพาคุณพ่อคุณของเราไปท่องเที่ยวต่างประเทศ แน่นอนว่าสิ่งที่ยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งในการทำงานกับครอบครัวคือ ความยืดหยุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเวลาทำงานและวันหยุดได้ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความขุ่นเคืองใดๆที่อาจเกิดขึ้น ควรมีการหารือเกี่ยวกับเวลาทำงานและวันพักร้อนให้เรียบร้อยก่อนที่จะเริ่มทำงานด้วยกัน
กำหนดข้อตกลงการจ่ายค่าตอบแทน เงินเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนเสมอ โดยเฉพาะระหว่างญาติพี่น้อง การไม่พูดคุยอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายเงินกับสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานร่วมกัน จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในการทำงานที่ตึงเครียดตลอดชีวิต ดังนั้นจึงควรคุยเรื่องค่าตอบแทนให้ดีก่อนเริ่มทำงานด้วยกัน โดยต้องมีความชัดเจนว่าเมื่อไหร่ที่สามารถเจรจาต่อรองเงินเดือนและโบนัสใหม่ได้
กำหนดสิ่งต่างๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าคำลักษณะงาน เวลาทำงาน และค่าตอบแทน ต้องแน่ใจว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้าใจตรงกัน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่ผิดพลาดและความขัดแย้ง คือการเขียนสิ่งต่างๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนั่นเอง
กำหนดสถานที่ทำงาน แน่ใจหรือว่าต้องการทำงานอยู่ที่บ้านกับคู่สมรสของตน คุณสามารถแชร์ออฟฟิศกับพี่ชาย ลูกชาย หรือคุณแม่ ได้ตลอด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้จริงหรือ มีข้อแนะนำสำหรับเรื่องนี้ว่าบางครั้งวิธีที่ดีที่สุดในการทำงานกับสมาชิกในครอบครัวคือต้องมี “การเว้นระยะห่างทางสังคม” บ้าง อย่างน้อยก็ในเรื่องของสถานที่ทำงาน
กำหนดแนวทางการตัดสินใจ การมีหลักและกระบวนการตัดสินใจที่ชัดเจนและยุติธรรมสามารถช่วยหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาทและความรู้สึกแย่ๆ ในหมู่สมาชิกในครอบครัวได้มาก ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องตัดสินใจทุกเรื่องโดยอาศัยฉันทามติหรือโดยการลงคะแนน เพราะในฐานะเจ้าของคุณอาจต้องการเก็บการตัดสินใจที่สำคัญอย่างยิ่งไว้ทำด้วยตัวเอง เพียงแต่ควรมีความชัดเจนเกี่ยวกับประเภทของการตัดสินใจที่ผู้อื่นสามารถทำได้ จากนั้นก็ปล่อยให้พวกเขาตัดสินใจไป
กำหนดวิธีการให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) การทำงานกับสมาชิกในครอบครัวเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก เพราะหากลูกชายไม่พอใจที่พ่อแม่บอกให้เขาทำความสะอาดห้องที่บ้าน เขาก็จะไม่ชอบให้พ่อแม่มาบอกว่าควรจะปรับปรุงการทำงานอย่างไร ดังนั้นทันทีที่สมาชิกในครอบครัวเข้ามาทำงานในธุรกิจ ต้องแจ้งให้เขาทราบว่าจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานหลังจาก 30 วันแรกและทุก ๆ 6 เดือนหลังจากนั้น โดยต้องทำการประเมินในที่ทำงานไม่ใช่ที่บ้าน และไม่นำเรื่องอื่นนอกที่ทำงานมาปนกับการประเมินผลการปฏิบัติงานนั้น
กำหนดบทบาทที่ควรปฎิบัติของสมาชิกครอบครัว เรื่องครอบครัวไม่ควรอยู่ในที่ทำงานและเรื่องของที่ทำงานไม่ควรอยู่ในบ้าน วางการเป็นมืออาชีพเมื่อเดินออกจากประตูสำนักงานและเป็นคุณเป็นพ่อแม่ที่พร้อมรับฟังไอเดียของลูกๆ ด้วยความเข้าใจ และเมื่ออยู่ที่บ้านหรืองานสังสรรค์ในครอบครัว ก็พยายามอย่าพูดถึงเรื่องงานมากเกินไป
ที่มา: Abrams, R. May 18, 2022. Family businesses: 8 rules for working with your relatives that will keep you on speaking terms. Special to USA TODAY [On-line] Available: https://www.usatoday.com/story/money/business/smallbusiness/2022/05/18/family-businesses-8-rules-for-working-with-relatives/9808454002/
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,838 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565