Organic Social Content มีความน่าสนใจอย่างไร

22 ม.ค. 2566 | 05:14 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2566 | 05:20 น.

ผู้นำวิสัยทัศน์ ธนภัทร ศรีบุญเรือง Corporate Communication Manager ของ IPG Mediabrands Thailand

ก่อนหน้านี้การสร้างคอนเทนต์ลง social media เพื่อสร้าง engagement จากยอดไลค์ ยอดแชร์ และคอมเมนท์นั้นจะต้องมีการวางแผนการตลาดที่ค่อนข้างละเอียด มีขั้นตอนและทีมงาน graphic หรือ production ที่มีฝีมือสูงๆ ในการผลิตสื่อการตลาดที่สวยงามตามลักษณะของสินค้าหรือบริการ รวมถึงการยิงโฆษณาหรือการบูสต์โพสต์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตามที่ธุรกิจได้ตั้งไว้ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างต้นทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งในการว่าจ้างทีมงานที่มีทักษะและคุณภาพสูง และการยิงโปรโมทโฆษณาต่างๆ

จากการว่าจ้างทีมงาน จึงมักมีความคาดหวังในผลงานสื่อการตลาดที่มีรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการใส่เนื้อหาสาระที่มาก การจัดทำ graphic ด้วยโปรแกรมขั้นสูง หรือการจัดทำ production ที่มีการตัดต่อและใส่เอฟเฟค หากแต่ผลลัพธ์ด้าน engagement ที่ได้จากยอดไลค์ ยอดแชร์ และคอมเมนท์ อาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุนดังกล่าว รวมถึงอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุนยิงโฆษณาหรือการบูสต์โพสต์ เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบัน หันมาเลือกดูเลือกชม content ที่มีเนื้อหาหรือความยาวไม่มากนัก และมีความสนุกอยู่ในสื่อนั้นๆ

 

ในระยะหลังเราจึงจะเห็น content ในรูปแบบและแพลตฟอร์มที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น มีเนื้อหาหรือความยาวไม่มากเกินไป และมีการใช้เพลงหรือการแสดงอย่างง่ายๆ ประกอบร่วมด้วย ยกตัวอย่างแบรนด์ Anelaa แบรนด์ครีมบำรุงผิวและเครื่องสำอางค์ที่มักมีการลง content และไลฟ์สดผ่านสตอรี่บน Instagram เพจ Facebook และ TikTok เพื่อพูดคุยและอัพเดทสินค้า นำเสนอและขายสินค้า รวมถึงสอบถามรีวิวและคอมเมนท์จากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสร้างการรับรู้ในกลุ่มลูกค้าจำนวนมากได้โดยไม่มีการยิงโฆษณาหรือการบูสต์โพสต์ใดๆ

Organic Social Content มีความน่าสนใจอย่างไร

แบรนด์ Anelaa คือตัวอย่างของการทำ organic social content รายหนึ่งด้วยการทำสื่อการตลาดอย่างง่าย เช่น การทำภาพและรายละเอียดสินค้าแบบเรียบง่าย การทำคลิปหรือวิดีโอแบบสนุกสนาน การสื่อสารกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งวันที่จะเริ่มปล่อยสินค้าซึ่งทำให้กลุ่มลูกค้าคอยติดตาม การอธิบายคุณลักษณะและคุณสมบัติของสินค้า คำแนะนำสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีผิวบอบบางหรือผิวปกติ รวมถึงการทดลองใช้สินค้าในขณะการไลฟ์สด ซึ่งแสดงถึงความจริงใจในการนำเสนอสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้ทำการตัดสินใจก่อนซื้อได้อย่างถูกต้อง

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า content ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมี production ที่ใส่ข้อมูลหรือใช้โปรแกรมการตัดต่ออะไรที่มากมาย เพราะลูกค้าปัจจุบันหันมาเลือกติดตาม content ที่เข้าถึงง่ายและมีความเป็นกันเองมากขึ้น มีความจริงใจและความต่อเนื่องในการนำเสนอสินค้า ซึ่งจะช่วยให้ engagement ของสินค้าที่มาจากยอดไลค์ ยอดแชร์ และคอมเมนท์ ค่อยๆ มีเพิ่มมากขึ้น การรับรู้และการบอกต่อกันในกลุ่มลูกค้าที่สนใจในผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวก็จะมีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดยอดขายและผลกำไรตามมาโดยที่ไม่ต้องทำการยิงโฆษณาหรือการบูสต์โพสต์ใดๆ

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,852 วันที่ 12 - 14 มกราคม พ.ศ. 2566