ธุรกิจครอบครัวอาจมีความแตกต่างกันบ้างในเรื่องของขนาดและประเภทธุรกิจ แต่ก็มีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ Paul Sessions ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวและอดีตผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว ของมหาวิทยาลัย New Haven เชื่อว่าธุรกิจที่ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดจะต้องมีชุดค่านิยมร่วมกัน เช่น ในเรื่องความซื่อสัตย์และคุณภาพ หรือในเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
รวมถึงมีสายใยบางอย่างที่ยึดเหนี่ยวครอบครัวและธุรกิจไว้ด้วยกัน และสามารถรวมคนหลายรุ่นเข้าด้วยกันได้อีกด้วย ซึ่งค่านิยมที่เด็กๆในครอบครัวได้รับการเลี้ยงดูจะติดตัวเขาไปจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และไปจนถึงวิธีการบริหารจัดการธุรกิจเลยทีเดียว
สิ่งที่พบคือความแตกต่างระหว่างวัยมักจะไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวหยุดชะงักหรือล้มเหลว แต่เป็นความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านบุคลิกภาพและอารมณ์ต่างหาก นอกจากนี้ Sessions ได้จำแนกความแตกต่างของวัฒนธรรมธุรกิจครอบครัว ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1) ประเภท “คุณจะมีงานที่นี่ให้ทำเสมอ”
2) ประเภท “ทำงานให้ดีไม่งั้นคุณจะไม่ได้ทำงานที่นี่”
ซึ่งประเภทที่สองนั้นจะนำธุรกิจไปสู่ประสบความสำเร็จมากกว่า ขณะที่ประเภทแรกอาจเป็นคำตอบว่าทำไมจึงมีธุรกิจเพียงไม่กี่แห่งที่อยู่รอดได้หลังจากผ่านไปเพียงสองชั่วอายุคน
อย่างไรก็ตามในประเภทที่สองอาจต้องใช้ความฉลาดทางอารมณ์อย่างมาก เพื่อให้ทุกคนอยู่ในสภาพการณ์ที่เป็นมิตรต่อกัน เนื่องจากบ่อยครั้งที่ต้องรักษาความปรองดองในครอบครัวไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือต้องตั้งคำถามว่าคือ “เราเป็นธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจหรือครอบครัวเป็นอันดับแรก”
สำหรับการพิจารณาว่าสมาชิกรุ่นใหม่ควรรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวหรือไม่นั้นเป็นความท้าทายที่จะต้องพบเสมอ Sessions ยกตัวอย่างกรณีเจ้าของธุรกิจครอบครัวรายหนึ่งที่มีวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ โดยผู้เป็นพ่อทำเช็คลิสท์ 15 ข้อที่ลูกสาวจะต้องฝึกฝนให้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจได้
โดยเช็คลิสท์ครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่การจัดการด้านการเงินไปจนถึงด้านเทคนิคทางธุรกิจ ผู้เป็นพ่อนั้นซื่อสัตย์อย่างยิ่งต่อมาตรฐานระดับสูงที่ตัวเองตั้งไว้ แต่ก็ยังแสดงความเห็นใจในแรงกดดันของลูกสาวที่รู้สึกว่าต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น
ขณะที่ลูกสาวแสดงความกังวลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความสำเร็จของธุรกิจ และเปิดใจกว้างยอมรับการฝึกอบรมเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อดำเนินการตามกระบวนการแล้วในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็พึงพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าการสื่อสารที่มีความฉลาดทางอารมณ์มีความสำคัญต่อธุรกิจครอบครัวเพียงใด
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเลือกใช้คำอย่างระมัดระวัง เช่น ลูกที่โตแล้วซึ่งกำลังสืบทอดธุรกิจมักจะรู้สึกอายเมื่อพ่อแม่เรียกตัวเองว่า “เด็ก” ในขณะเดียวกันพนักงานก็อาจรู้สึกไม่พอใจเมื่อลูกเจ้าของที่โตแล้วเรียกเจ้านายว่า “แม่” หรือ “พ่อ” ในสำนักงาน ซึ่งคำเหล่านี้จะเพิ่มความแตกต่างระหว่างครอบครัวและพนักงาน
โดยทั่วไปแล้วพนักงานตระหนักดีว่าตนไม่ใช่คนในครอบครัว แต่ครอบครัวมักไม่ค่อยตระหนักว่าการตัดสินใจของตนส่งผลกระทบต่อพนักงานอย่างไร ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการสื่อสาร
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือเจ้าของและพนักงานต้องมีช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง ซึ่งพนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกได้ โดยเจ้าของสามารถรับฟังได้ Sessions ยกตัวอย่างธุรกิจครอบครัวแห่งหนึ่งที่อดีตประธานบริษัทเป็นผู้ฟังที่ยอดเยี่ยม เขาดำรงตำแหน่งสูงสุดนานหลายทศวรรษ และสนใจรับฟังความคิดเห็นของพนักงานอย่างมากในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง
ผลลัพธ์คือพนักงานเปิดใจรับเขาและเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างครอบครัวและพนักงาน ขณะที่ผู้นำรุ่นต่อมาค่อยไม่สนใจหรือไม่ถนัดในการฟังมากนัก และความไว้วางใจจากพนักงานก็ลดลง ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้ครอบครัวจึงจ้างที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวเพื่อสอนทักษะที่สำคัญให้กับคนรุ่นใหม่ เช่น การสื่อสาร การสร้างความเชื่อมั่นของพนักงาน และการบริหารความยั่งยืน เป็นต้น
ที่มา: MassMutual, MARCH 09, 2023. Family businesses need shared values and effective communication.Available: https://blog.massmutual.com/work-business/family-business-value
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,904 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2566