เข้าโค้งสุดท้ายของปี 2564 การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดูแล้วยังไม่คลี่คลาย ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังทรงตัวอยู่ในระดับหมื่นคนต่อวัน แม้จะมีบางวันปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยต่ำหมื่นคนก็ตาม ซึ่งยังเป็นปัญหาหลักต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
แม้รัฐบาลพยายามจะค่อยๆ คลายล็อกกิจกรรม ประเภทกิจการ ที่สั่งถูกระงับไปให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ปกติ รวมถึงการมีแผนเปิดประเทศรับท่องเที่ยวต่างชาติใน 47 จังหวัด เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป เพื่อหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาเริ่มฟื้นตัวได้อีกครั้ง ควบคู่กับการควบคุมดูแลด้านสาธารณะสุข แล้วก็ตาม
แต่หลายฝ่ายประเมินกันว่าคงจะไม่ช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับคืนมาได้มากนัก โดยเฉพาะความหวังที่จะได้จากการเปิดประเทศ รับต่างชาติใน 20 ประเทศกลุ่มเสี่ยง ที่จะเดินทางเข้ามา อาจจะไม่ได้ตามที่คาดหวังตามที่ ททท. ประเมินไว้ที่ 1 ล้านคน
ด้วยเหตุผลที่ว่า นักท่องเที่ยวจะต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมที่จะเดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน และส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเป็นนักธุรกิจเสียส่วนใหญ่ อีกทั้ง บางส่วนยังไม่มีความมั่นใจจากตัวเลขการติดเชื้อที่ยังอยู่ในระดับสูง หากฝากความหวังการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศอย่างเดียวคงจะไม่พอ ที่จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศเป็นไปตามที่คาดหวังในระดับ 0-1 % ได้
ประกอบกับประเทศต้องเผชิญกับสภาพปัญหาน้ำท่วมกว่า 48 จังหวัด สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 5 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบกว่า 4.6 แสนครอบครัว หอการค้าไทยประเมินว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 1.5 หมื่นล้านบาท ฉุดการขยายตัวของจีดีพีราว 0.1 %
ขณะเดียวกันผู้บริโภค ยังต้องประสบปัญหาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อไปยังราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตาม ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้ จะเป็นตัวฉุดให้กำลังซื้อของผู้บริโภคต้องชะลดตัวลง
มุมมองของภาคเอกชน ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจ ในการอัดฉีดเม็ดเงินก้อนใหญ่ และต้องดำเนินการทันที ที่จะใช้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศให้กลับคืนมา
ข้อเสนอที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ โดยการอัดฉีดเม็เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้มีเงินเข้าระบบใช้ในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การเยียวยาลูกจ้างและนายจ้างเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน การเติมเงินให้ “คนละครึ่ง” จาก 3,000 เป็น 6,000 บาท นำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาใช้ รวมถึงการปรับเกณฑ์มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน2.5 แสนล้านบาท และพักทรัพย์พักหนี้วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้เข้าถึงแหล่งเงินได้จริง รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการรายเล็กอย่างค้าปลีก ร้านอาหาร ที่จะกลับมาฟื้นกิจการ เป็นต้น
หากรัฐบาลเร่งตัดสินใจอัดเม็ดเงินเข้าระบบโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดขึ้น เชื่อว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้กลับฟื้นมาได้ระดับหนึ่ง แล้วรอเห็นผลเศรษฐกิจฟื้นในปีหน้า