สภาพจิตของคนไทยภายหลังการเปิดประเทศ ต่างอยู่ในอารมณ์ของความหวัง เป็นความคาดหวังว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจะกระเตื้องขึ้นมาจากความซบเซาเหงาหงอย
ระยะเวลา 2 ปี ที่ประเทศจมอยู่กับไวรัสวายร้าย ได้ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวพันกับการบริการ การท่องเที่ยว โรงแรมได้แปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่มีการแพร่ระบาด รายได้จากการท่องเที่ยวไทยรวม 2.73 ล้านล้านบาท
พอถึงปี 2563 รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงเหลือแค่ 7.9 แสนล้านบาท หดตัวลงมากถึง 71%
8 เดือนแรกของปี 2564 รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยทำได้แค่ 1.4 แสนล้านล้านบาท หดตัวลง 92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
หากรวม 20 เดือน นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (มกราคม 2563-สิงหาคม 2564) พบว่า รายได้จากการท่องเที่ยวไทยลดลงไปแล้วกว่า 3.55 ล้านล้านบาท หรือลดลงมากถึง 79%
มีการประเมินกันว่า เฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลงไปแล้ว 2.38 ล้านล้านบาท รายได้จากจากนักท่องเที่ยวคนไทยลดลง 1.17 ล้านล้านบาท
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ โรงแรมและที่พักลดลง 8.8 แสนล้านบาท
ร้านอาหารและเครื่องดื่มลดลง 7.7 แสนล้านบาท
ร้านขายของที่ระลึกลดลง 7.0 แสนล้านบาท
สถานบันเทิงลดลง 4.7 แสนล้านบาท
บริการรับส่งนักท่องเที่ยวลดลง 3.4 แสนล้านบาท
ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ลดลง 2.7 แสนล้านบาท
รายได้ของธุรกิจบริการอื่น ๆ ลดลง 1.2 แสนล้านบาท
ผลการศึกษาของสกว.ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการท่องเที่ยวของไทยที่เจอมรสุมโควิด ที่ศึกษาโดย ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการแผนการศึกษาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยพบว่าเฉพาะกลุ่มโรงแรม ที่พักและอาหารนั้นมีผู้ว่างงาน 1.29 ล้านคน รายได้ลดลง 46%
นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 1 คน ทำให้รายรับของโรงแรมลดลงเฉลี่ย 1,365 บาท และพบว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 คน เท่ากับ คนไทยเที่ยวไทยถึง 5 คน
นี่คือ เหตุผลที่รัฐบาลต้องเร่งเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม หากดูในภาพรวมพบว่าโควิด-19 ทำให้คนไทยกลายเป็นคนจน และคนเกือบจนมากขึ้นจาก 9.8 ล้านคนเป็น 13.8 ล้านคน (ระลอกแรก) และเพิ่มเป็น 17 ล้านคนในระลอก 2
นอกจากนี้ ยังพบว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐยังเข้าไม่ถึงผู้คนที่เป็นแรงงานในภาคการท่องเที่ยวมากนัก
นี่คือผลกระทบที่กระจายตัวไปทุกหย่อมหญ้า
มีการประเมินกันว่า หลังจากรัฐบาลคลายล็อกด้วยการเปิดประเทศ จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวกลับมาได้บ้าง เนื่องจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นช่วงไฮซีซั่น ประกอบกับการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐผ่านมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และ “ทัวร์เที่ยวไทย” ซึ่งเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิจองโรงแรมที่พักยาวมาตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 จนถึง 23 มกราคม 2565 จะดึงดูดให้คนไทยกลับมาท่องเที่ยวได้บ้าง
แต่เชื่อเถอะใน ปีนี้นักท่องเที่ยจะมาในประเทศไทยได้ไม่น่าจะเกิน 1-1.5 แสนคน รายได้จากการท่องเที่ยวจากคนไทยและต่างชาติไม่น่าจะถึง 3.5 แสนล้านบาท
นั่นแสดงว่า ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย จะนอนซมสลบยาวไปอีกระยะหนึ่ง และกว่าจะฟื้นตัวคาดว่าต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี
ประเด็นที่ต้องชวนกันขบคิดคือ ธุรกิจเหล่านี้จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไรในเมื่อหนี้สินท่วมหัว
ttb analytics ประเมินว่า การคลายล็อกดาวน์จะส่งผลทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวกลับมาได้บ้าง แต่ไม่มาก ปี 2565 คาดว่า รายได้นักท่องเที่ยวโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 แสนล้านบาท และอัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยอยู่ที่ 23.8% ภายใต้สมมติฐานไม่มีการล็อกดาวน์อีก และนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปและสหรัฐอเมริกา จะหวนกลับมา โดยประเมินว่าจะเข้ามาไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรหันมาดึงนักท่องเที่ยวไทยให้มากขึ้น ในระหว่างที่รอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา
ในสถานการณ์แบบนี้ ผมเห็นว่ารัฐบาลต้องกระโจนเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดการดูแลช่วยเอกชนให้ลุกขึ้นจากเตียงไอซียูให้ได้ เมื่อผู้ประกอบการเดินได้ ก็จะกลายเป็นกลไกหลักในการจ้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
แล้วรัฐบาลจะช่วยอะไรต่อไปละครับ ก็ต้องหากรรมวิธีไปช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการที่ยังพอดำเนินกิจการได้ จัดหาวิธีการพักชำระหนี้ให้ขยายวงกว้างขึ้น เพื่อรอวันที่ผู้ประกอบการกลับมาทำธุรกิจได้เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
การเติมเงินลงไปผ่านกรรมวิธีกระตุ้นให้ผู้ประกอบการจ้างงานต่อไปในระยะ 1-2 ปีนี้ จะเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับประคับประคองธุรกิจเหล่านี้ให้เดินหน้าต่อไป เมื่อการท่องเที่ยวหวนคืนกลับมารัฐบาลจึงค่อยปล่อยมือจากการอุ้ม
เพราะอะไรนะหรือ เพราะธุรกิจนี้เกี่ยวพันกับผู้คนมากมาย จำนวนแรงงาน ผู้ให้บริการด้านที่เกี่ยวพันกับการท่องเที่ยว โรงแรมและขนส่งมีอยู่ราว 3.5-4 ล้านคน คนเหล่านี้จะได้กลับมาเดินหน้าชีวิตกันต่อไป
ผมเชื่อและเห็นด้วยกับ คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เคยเสนอให้รัฐบาลสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นในประเทศในยามที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมใน 7 ด้าน
1. มีการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศที่ดีขึ้น มีการบูรณาการของข้อมูลและองค์ความรู้ เพื่อให้สามารถพิจารณาสถานการณ์กรณีเลวร้ายได้อย่างรอบด้าน
2. ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต เช่น การไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว การเปลี่ยนเทคโนโลยี สังคมสูงวัย และภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป โดยภาครัฐออกนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืน
3. เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่เพื่อให้กระจายความเสี่ยงดีขึ้น
4. นำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ และสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในยามวิกฤต
5. รัฐบาลต้องตัดสินใจลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำเชิงโอกาสในการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา การประกอบอาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม
6. รัฐต้องสร้างโครงข่ายความคุ้มครองในทุกระดับเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤติ
7. ต้องลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่น สร้างสายป่านที่ยาวพอ ให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้และจ้างงานต่อเนื่อง ฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤต สร้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ และล้มละลายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
มรสุมไวรัสวายร้ายที่กัดกินคนไทยมา 2 ปีนั้น แรงกว่าที่หลายคนคิดมากๆ ถ้ารัฐบาลยืนเฉย แล้วรอให้สถานการณ์ดีขึ้น ผู้ประกอบการและครัวเรือนไทยจะตายกันมากกว่านี้แน่นอนครับ
หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,728 วันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564