วันนี้ผมพาทุกท่านมาพิจารณาเรื่อง พิลึกกึกกือในประเทศสยามเมืองยิ้มแก้มตุ่ยกัน เรื่องนี้มีความพยายามทำคลอดมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา กระทรวงคมนาคม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT พยายามออกแรงผลักดันโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) เงินลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
เป็นการผลักดันโครงการ ขณะที่มีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากหน่วยงานรัฐ และองค์กรวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เพราะวิตกกังวลว่า จะเป็นตัวสร้างปัญหาในเรื่องเงินลงทุน การจราจรที่จะติดขัด
ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความเห็นสำหรับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ มีหนังสือคตัดค้านไปยัง บริษัท ทอท. และกระทรวงคมนาคม อย่างน้อย 2-4 ครั้ง
ครั้งแรก ส่งหนังสือคัดค้านการก่อสร้าง North Expansion ลงวันที่ 19 ธ.ค.2561 ถึงบริษัท ทอท.
ครั้งที่สอง ส่งหนังสือลงวันที่ 16 ม.ค.2562 ถึงกระทรวงคมนาคม
ครั้งที่สาม ส่งหนังสือคัดค้านการก่อสร้าง North Expansion ลงวันที่ 7 ต.ค.2563 ถึงบริษัท ทอท.
ครั้งที่สี่ ส่งหนังสือคัดค้านลงวันที่ 29 ต.ค.2563 ถึง กระทรวงคมนาคม
เหตุผลหลักที่สภาพัฒน์คัดค้าน เพราะเห็นว่า การก่อสร้าง North Expansion ไม่สอดคล้อง กับแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Master Plan) ฉบับปี 2546 และผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางจาก North Expansion ไปยังอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่จะเปิดให้บริการในปี 2565 นอกจากนี้จะ ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดบนมอเตอร์เวย์ขาเข้า ขาออกจากสนามบินสุวรรณภูมิในอนาคต
นอกจากสภาพัฒน์แล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็มีหนังสือทักท้วงในเรื่องนี้ไปยังรัฐบาลให้พิจารณา โดยจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 กรณีการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
หนังสือข้อเสนอแนะของป.ป.ช. ระบุว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ควรชะลอการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) วงเงินลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท และควรเร่งดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2553 ให้เป็นไปตามแผนเดิมโดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี 2565
นอกจากนี้ ทอท.ควรดำเนินโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (West Expansion) ในคราวเดียวกัน เพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 75 ล้านคน/ปี เพื่อลดความแออัดของอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน
ป.ป.ช. ยังทำความเห็นไปอีกว่า ทอท. ควรดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามคำแนะนำของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นควรให้ดำเนินการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ เพื่อรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 120 ล้านคนต่อปี เป็นลำดับแรกก่อน แล้วจึงนำโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) มาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง
หนังสือของ ป.ป.ช.ชี้โพรงไปในหนังสือที่ส่งไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2564 ว่า “การก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ เพื่อรองรับผู้โดยสารสูงสุด 30 ล้านคนต่อปี ตามที่ทอท.เสนอ นั้น จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท มีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมต่อระหว่างอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือกับพื้นที่กลุ่มอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินอื่นๆ เช่น ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ และระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร ฯลฯ.......
ขณะที่การก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออกและทิศตคะวันตก (East & West Expansion) ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท แต่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เช่นเดียวกับอาคาร North Expansion ซึ่งทำให้ประหยัดงบลงทุนได้ได้ถึง 3 หมื่นล้านบาท”
ชัดเจน....ตรงประเด็น...ไม่อ้อมค้อมในความเห็นของการทักท้วง...
เดือน มี.ค.2564 ที่ประชุม ครม. จึงมีมติรับทราบข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. กรณีการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ...ซึ่งตามปกติเท่ากับจบเกม
หากเป็นภาวะปกติ “ตีมือ” ขนาดนี้เท่ากับ ปิดประตูโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ North Expansion ของ ทอท. ที่เรียกขานกันในวงการว่า “ส่วนต่อขยายตัดแปะ” ไปโดยปริยาย
แต่ช้าแต่ วันที่ 24 พ.ค.2564 มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแผนดำเนินงาน (Action Plan) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีโครงการลงทุนหลัก 3 โครงการพ่วงเข้าไปด้วยกัน
1.โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักหลังที่ 1 ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) เวลาก่อสร้าง 29 เดือน เริ่ม เม.ย.2565 แล้วเสร็จ ส.ค.2567
2.โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือน เริ่ม ม.ค.2566 แล้วเสร็จ มิ.ย.2568
3.โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก West Expansion ซึ่งอยู่ระหว่างรอความจัดเจนจากผลการศึกษาของ IATA และ ICAO
โดยให้บริษัท ทอท. นำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต กรณีศึกษาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 กรณีการก่อสร้าง North Expansion ไปประกอบการพิจารณาตามแผนลงทุนต่อไป
มติแค่นี้แหละครับ แต่เป็นมติของการวิ่งฝ่าไฟแดง แบบเมินข้อเสนอแนะจากป.ป.ช.เหมือนกรณีข้อเสนอแนะและทักท้วงในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนิดพิมพ์เดียวกัน...
ประเด็นอยู่ที่จะคิกออฟลงทุนกันเมื่อไหร่ เพราะถึงตอนนี้ข้าไม่สนใจใครใน ปฐพี....ข้าจะเอาแบบนี้ ใครไม่เกี่ยวก็ถอยไป....
เรื่องที่คิดว่าจะเงียบก็ฉาวโฉ่ร้อนฉ่ากลางหน้าฝนขึ้นมา เมื่อ 5 ต.ค.2564 “กีรติ กิจมานะวัฒน์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ทำหนังสือที่ ทอท 13700/2565 ถึง ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แจ้งนำส่งรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) โครงการก่อสร้าง North Expansion ......
ที่ฉาวโฉ่เพราะหนังสือฉบับนี้ มีการ “ขายเหล้าพ่วงเบียร์” กล่าวคือ มีการระบุว่า “ทอท.ได้ว่าจ้าง บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จํากัด เป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและจัดทํารายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สําหรับโครงการ กิจการ หรือการดําเนินการ ที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง....” ในโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ : โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยาย ด้านทิศเหนือ” ....โปรดอ่านอีกครั้งหนึ่ง!
บัดนี้ ได้จัดทํารายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ ดังกล่าว เรียบร้อยแล้ว ทอท.จึงขอนําส่งรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ ให้สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ….แอ่นแอ๊น...สวยงาม
หนังสือฉบับนี้ร้อนแรงขนาดไหน ขนาดที่บรรดาองค์กรวิชาชีพที่ไม่เห็นด้วยในการก่อสร้างทำหนังสือด่วน ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ไปถึง เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมกับทำสำเนาไปถึง เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานวิเคราะห์ EIA/EHIA โครงการ North Expansion สนามบินสุวรรณภูมิ โดยตั้งข้อสังเกตเพียบ
1. การดําเนินการในโครงการนี้ น่าจะเป็นการดําเนินการที่ขาดความโปร่งใสเพราะส่อพฤติกรรมที่ขัดหลักธรรมาภิบาล เพราะโครงการนี้ถูกปิดบังข้อมูลและข้อเท็จจริงที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการให้บริการด้านการบิน และการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยสิ้นเชิง
แม้ สมาคม วิชาชีพ หรือ กลุ่มผู้คัดค้าน จะมีการทําหนังสือติดตามและทวงถามข้อมูลในประเด็นเทคนิค ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะ และร้องขอให้ ทอท. จัดทํารายการคํานวณต่างๆ แต่ก็มิได้รับการชี้แจงหรือแสดงถึงหลักการและเหตุผลใดๆ ที่ชัดเจนตามหลักวิชาการ แต่ ทอท.กลับมีการหลบเลี่ยงเปลี่ยนแปลงแม้กระทั่งชื่อโครงการ (ณ ตําแหน่งนี้ ชื่อ เดิมเรียกโดยสาธารณชนว่าอาคาร “ตัดแปะ”) มาโดยตลอด
ทั้งนี้ ล่าสุด ทอท. ได้มีการจัดส่งเอกสารฉบับหนึ่ง
ให้สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกแปลงปกและเนื้อหาสาระสําคัญของโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือให้แอบแฝงอยู่ในเรื่อง “รายงานการเปลี่ยนแปลง รายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสําหรับโครงการ กิจการ หรือการดําเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของ ประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4 ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ : โครงการ ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ” ซึ่งเป็นการผูกติดชื่อแอบแฝงไปกับคนละโครงการและสถานการณ์ และเป็นโครงการก่อสร้างอาคารที่มีผลกระทบ EIA/EHIA สูงมากและเป็นการ ดําเนินการคนละเรื่อง คนละสาระกับทางวิ่ง (Runway) โดยสิ้นเชิง....ชัดแจนตรงเป้า
2. การดําเนินการเช่นนี้ ล้วนบ่งบอกถึงการทําลายหลักการสําคัญของรายงาน EIA หรือ EHIA อันเป็นเครื่องมือที่ต้องจัดทําขึ้นตามหลักวิชาการ มาตรฐาน และคํานึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และครอบคลุม สาระ และความสําคัญที่สุด คือ ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ เป็นที่สังเกตได้ว่า ในการฟ้องร้องใดๆ ที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับกรณีเช่นนี้ในอดีต ส่วนใหญ่จะมาจากการจัดทํารายงาน EIA หรือ EHIA ที่ไม่ถูกต้องและไม่ได้มี กระบวนการลดผลกระทบอย่างแท้จริงเป็นเพียงการดําเนินการตามธงที่ได้ตั้งไว้เพื่อให้เป็นไปอย่างที่หน่วยงาน ต้องการ
3. ดังนั้น การจัดทํารายงาน EIA หรือ EIA จึงต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้อง มีกระบวนการ และมีความเป็นอิสระ โดยผู้กํากับดูแล ผู้อนุญาต และผู้ขออนุญาต ต้องมีธรรมาภิบาลในการเปิดเผยข้อมูลที่สําคัญใน แต่ละช่วงเวลาก่อสร้างและการดําเนินการ (Operation) อีกทั้งต้อง มีกระบวนการที่คํานึงถึงและชดเชยผู้มีส่วน ได้ส่วนเสียอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการและธรรมาภิบาล
ดังนั้น รายงาน EIA หรือ EHIA จึงถือเป็น เครื่องมือที่จะยังความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยเครื่องมือนั้นต้องจัดทําขึ้นเพื่อขอความเห็นชอบตามเส้นทาง กฎหมายและนําไปใช้ ผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง เป็นธรรม และยึดหลักวิชาการ
4. ประเด็นเสนอเพื่อพิจารณา...ขอให้ท่านพิจารณาดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3 ให้เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 58 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ พรบ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 46-51/7 มาตรา 55-58 มาตรา 96-97 และ มาตรา 97 พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มาตรา 48
ทั้งนี้ หากมีการบิดเบือนใดๆ ในเรื่องนี้ ผลที่จะตามมาอาจเกิดคดีความขึ้นทั้งทางด้านแพ่งและอาญา และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต
ทัศนาเรื่องราวพิลึกกึกกือนี้แล้ว...ท่านคิดอย่างไร....1.ทำไมลุยไฟ... 2.ลุยไปแล้วเสี่ยงผิดมั้ย… 3.ใครสั่งให้ลุย... 4.อะไรทำให้กล้าหาญตัดแปะ เปลี่ยนปก...!
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3730 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 11-13 พ.ย.2564