ตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และขยายวงกว้างออกไป จนเกิดการคว่ำบาตรรัสเซียจากสหภาพยุโรปและสหรัฐ จนเกิดปัญหาราคาแกส น้ำมัน พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับราคาสินค้าที่อั้นต้นทุนไม่ไหว
คำถามคือ เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อสูงครัวเรือนไม่มีเงินตกอยู่ในอาการฝืดเคืองเหมือนกันหมดหรือไม่
ใครที่ติดตามเรื่องเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่า เราไปถึงจุดนั้นแน่ ถ้าไม่มีการแก้ไขอย่างทันท่วงที
แม้จะมีเสียงยืนยันจาก ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่ายภาวะ Stagflation แต่การเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว การฟื้นตัวไปสู่ระดับเดิมนั้น อาจเห็นได้ในต้นปีหน้า
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่ทั่วถึง เป็นลักษณะ K-Shaped Recovery แต่จะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง หรือภาวะ Stagflation แน่นอน เพราะการจะเกิดภาวะนั้นได้ เศรษฐกิจไทยต้องชะลอตัวและเข้าสู่ถดถอย แต่หากมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังมีสตอรี่ของการฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า ซึ่งไม่ใช่ภาวะถดถอย
เอาละ ไม่ถดถอยก็ไม่ถดถอย ไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation ก็โชคดีไป
แต่การที่ธนาคารพาณิชย์ สำนักเศรษฐกิจต่างออกมาปรับการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจของไทยลงมาแทบทั้งหมดเหลือแค่ 2.8% นั้นเป็นสัญญาณว่าเราอัตคัด เพราะปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยโตได้แค่ 1.6% เท่านั้นไม่พอยาไส้ ปีนี้คาดว่าจะโตได้ 3.8-4.0% แต่คงไปไม่ถึงฝัน
ล่าสุด ธปท.ยอมรับแล้วว่า จะต้องทบทวนการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลดลงเช่นกัน เพราะมีความความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงในช่วงครึ่งปีแรก และจะทยอยลดลงในครึ่งปีหลัง แต่หากน้ำมันขึ้นไปถึง 140-150 ดอลลาร์ต่อบารเรล จะทำให้ทุกอย่างแย่ลงมากกว่าที่ทุกคนคิด
“ตอนนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ต้องมีการประเมินภาพใหม่พอสมควร แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่ Game Changers ด้านเศรษฐกิจ แต่เป็น Game Changers ด้านเงินเฟ้อ ที่จะเปลี่ยนไปจากมุมมองเดิมค่อนข้างมากโอกาสที่จะเกินกรอบ 1-3% นั้นมีสูง จึงต้องปรับรอบเพิ่มจากระดับ 3%”
สถานการณ์ตอนนี้ผมขอบอกว่า ไม่ปรับเป้าเงินเฟ้อไม่ได้แล้ว เพราะทะลุเพดานมากล่าสุดทะลุ 5.7% เดือนหน้าขึ้นอีก
เงินเฟ้อในปัจจุบันของไทยนั้น มิได้ปรับตัวจากเศรษฐกิจที่ร้อนแรง หากแต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากซัพพลายช็อคจากต่างประเทศ ที่มาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและไม่มีเวลาที่แน่ชัด
ดังนั้น ผมจึงฟันธงไปเลยว่า เงินเฟ้อของไทยที่สะท้อนออกมาในรูปราคาสินค้ามีโอกาสเกินกรอบเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ทั้งปี 1-3% แน่นอน..รับมือกันไว้ให้ดีพี่น้อง
คำถามต่อมา....แล้วประเทศไทยนั้นจะอยู่กันในสภาพอย่างไร
ผมไม่มีคำตอบในตัว แต่ขอพามาดูงานวิจัยของสำนักเศรษฐกิจที่มีการทำนายไว้แต่ละคราวแม่นไม่น้อยนั่นคือ KKP Research ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร ที่รายงาน “เศรษฐกิจไทยเปราะบางแค่ไหนเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น”
เขาฉายภาพไว้แบบนี้ “สถานการณ์ความความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในปัจจุบัน ทำให้ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น และเศรษฐกิจไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเนื่องจากพึ่งพาพลังงานในสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
KKP Research ได้ปรับการคาดการณ์จีดีพีของไทยในกรณีฐานเหลือ 3.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 3.9% เพราะมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก จากผลกระทบของสถานการณ์ยูเครนและรัสเซีย จึงปรับประมาณการเงินเฟ้อเฉลี่ยจากเดิม 2.3% ขึ้นเป็น 4.2% เพราะต้นทุนราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น
KKP Research ประเมินว่า ราคาน้ำมันจะแตะระดับสูงสุดที่ค่าเฉลี่ย 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 2 และราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีน่าจะยืนในระดับ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความเชื่อมั่นและเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลง เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบ ใน 3 ด้านทันที
ด้านเศรษฐกิจในประเทศ ในช่วงไตรมาส 2 ของปี เงินเฟ้อคาดว่าจะแตะระดับสูงสุดที่ 5.5% ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง
ด้านการส่งออก การส่งออกชะลอตัวลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเศรษฐกิจยุโรปจะรับผลกระทบหนักกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจรัสเซียมาก
ด้านนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ จากการเปิดประเทศที่ทำได้ช้ากว่าคาด และเศรษฐกิจยุโรปที่ได้รับผลกระทบกว่าคาดนับเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย
ในกรณีเลวร้ายสุดนั้น มีโอกาสที่มาตรการคว่ำบาตรอาจจะรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปีที่ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์และเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น ซึ่งจะดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวสูงขึ้นเป็น 5.1% และเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้เพียง 2.7%
คำถามคือทำไมน้ำมันแพงจึงกระทบไทยมากกว่าประเทศอื่น?
เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการใช้น้ำมันสูงไม่ต่างจากในอดีต ขณะที่ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง แต่ตัวเลขอัตราการบริโภคพลังงานต่อ GDP หรือ Energy intensity ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเพื่อการผลิตสินค้าและบริการของไทยยังสูงโด่ง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและอ่อนไหวค่อนข้างมาก เพราะโครงสร้างนโยบายยังไม่ได้แก้ไข
ประการต่อมาไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าพลังงานสุทธิมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ไทยต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อนำเข้าน้ำมัน ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลเพิ่ม โดยทุก ๆ 10% ของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลราว 0.3%-0.5% ของ GDP เท่ากับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยถึง 1 - 1.6 ล้านคน
ประการต่อมาเมื่อ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกลายเป็นโอกาสที่ราคาสินค้าอื่น จะสูงขึ้นตามมา
ราคาน้ำมันนอกจากทำให้ภาระทางการคลังสูงขึ้น จากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลค้าปลีกไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร และพยายามคงราคาก๊าซ LPG ผ่านเงินสมทบกองทุนน้ำมัน
แต่เมื่อราคาดีเซลหน้าโรงกลั่นปรับเพิ่มขึ้นทำให้เงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นตาม กรณีฐานที่ราคาน้ำมันโลกอยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หากไม่มีการปรับนโยบาย ภาครัฐอาจต้องใช้เงินสูงถึงเดือนละกว่า 2 หมื่นล้านบาท (หรือกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็น 1.8% ของ GDP)
แต่เชื่อว่า ด้วยราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อาจทำให้ภาครัฐต้องลดระดับการอุดหนุนราคาน้ำมันและปล่อยราคาน้ำมันขึ้นบางส่วน
ทว่าหากไม่มีการอุดหนุนเลย ราคาน้ำมันดีเซลอาจเพิ่มขึ้นเป็น 38-40 บาทต่อลิตร จากที่ตรึงไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร
ขณะที่ราคาก๊าซ LPG อาจปรับเพิ่มขึ้นเป็น 430 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จากปัจจุบันที่รัฐบาลตรึงราคาไว้ 313 บาท นอกจากนี้ ราคาค่าไฟฟ้าและราคาสินค้าอื่นๆที่เป็นสินค้าควบคุม จะปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน
ใครไม่เชื่อไปตรวจสอบช่วงปี 2004-2008 ไทยเคยเผชิญสถานการณ์เงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่เร่งตัวขึ้นโดยเฉลี่ย 28% ปรากฏว่า แม้ว่ากลุ่มสินค้าจำเป็นส่วนใหญ่จะถูกควบคุมราคาตามมาตรการของกรมการค้าภายใน
แต่เชื่อหรือไม่ ราคาสินค้าหมวดอาหาร หมวดเครื่องดื่มปรับราคาเพิ่มขึ้นราว 6% ผักผลไม้เพิ่มขึ้นถึง 14% ข้าว 9% เนื้อสัตว์ 7%
สะท้อนภาพว่าราคาพลังงานเป็นต้นทุนหลักของไทย ทั้งการขนส่งสินค้าเกษตร ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าอื่ปรับตัวสูงขึ้น และมากดดันอัตราเงินเฟ้อโดยรวมในขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
รับมือกันไว้ให้ดี เราเตือนท่านแล้ว