รัฐต้องกล้า เพิ่มเงินฟื้นเศรษฐกิจ

26 มี.ค. 2565 | 00:30 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์ อดีตรัฐมนตรีคลังหลายคนให้ความเห็นตรงกันว่าภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้เผชิญกับวิกฤติซ้อนวิกฤติ โดยวิกฤติแรกเป็นผลพวงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 2 ปี ได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก กระทบไปทั้งวงจรในทุคภาคส่วน ตั้งแต่ภาคบริการ ภาคการผลิต ภาคเกษตร การบริโภคหดหาย กำลังซื้อถดถอย ยังไม่มีทีท่าของการฟื้นตัวโดยเศรษฐกิจติดลบในรอบปีก่อน 6-7% และปีนี้ประมาณการเศรษฐกิจที่คาดการณ์ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเพียงพอ
 

ประเทศไทยเจอวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซ้อนเข้าไปอีกเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ โดยห่วงโซ่การผลิตชะงัก อันเนื่องมาจากการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก ส่งผลให้สินค้าที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากรัสเซียกว่า 200 รายการมีปัญหา ประกอบกับรัสเซียเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ ส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ ต่อเนื่องตามมาเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาพลังงานประกอบกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว

สถานการณ์แบบซึมเศร้าเหงาหงอย กระจายไปทั่วทุกที่ ภาวะการบริโภคของคนหลายสิบล้านคนหายไป กระทบกับนักลงทุนและธุรกิจ การลงทุนก็ไม่เกิด ผลิตสินค้าออกมาแล้วขายไม่ออก กำลังการผลิตคงเหลือ เป็นระบบเศรษฐกิจทั้งการบริโภคและการลงทุนถดถอยตลอดเวลา แม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ ทั้งการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร การช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซที่พยายามดำเนินการ หรือกระทั่งการเยียวยาผ่านโครงการคนละครึ่งไป 3-4 เฟส ล้วนแต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
 

3 อดีตรัฐมนตรีคลังรวมทั้งภาคเอกชนได้เสนอทางออกทางรอดเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรรับฟังและนำไปปรับใช้เป็นนโยบาย โดยเฉพาะการกู้เงินก้อนใหม่วงเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท หรือการรีวิวงบประมาณปี 64/65 หรือการจัดทำงบประมาณปี 65/66 ใหม่ ให้มีเป้าหมายที่เด่นชัดในการฟื้นเศรษฐกิจ สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดกำลังใจในการทำงานใหม่ สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เตรียมประเทศให้พร้อมรองรับการท่องเที่ยวที่จะกลับมาหลังโควิด
 

รัฐบาลต้องก้าวข้ามปัจจัยทางการเมืองใช้ความกล้าหาญในการกู้เงินเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายการใช้เงินที่ตรงจุด โปร่งใสและตรวจสอบได้และไม่ได้เป็นการแจกเงินเหมือนที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ แต่ต้องเป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมและเร่งความเร็วในการรีบูทเศรษฐกิจ ทั้งรองรับการท่องเที่ยว เติมเงินให้เอสเอ็มอีเพิ่มความสามารถในการลงทุนเพิ่มผลผลิต สร้างงาน เพิ่มการบริโภครวมทั้งฝึกทักษะและมองหาเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่จะขับเคลื่อนอนาคตประเทศ