“Accessibility” หรือ “ความสามารถในการเข้าถึง”ได้กลายมาเป็น 1 ใน 10 digital marketing trends ของปี 2022 จะเห็นได้ว่าแบรนด์หรือองค์กรชั้นนำหลายองค์กร เริ่มที่จะใส่ใจและสื่อสารกับกลุ่มคนหลากหลายกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้พิการ
ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายนี้ ประเทศไทยคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้พิการ ก็ถือเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ปัญหาสำคัญคือ พวกเขายังต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านการเข้าถึงสิทธิอยู่หลายด้าน เช่น สถานที่ ขนส่งสาธารณะ สินค้า และบริการ
ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการ และการบริการที่ไม่ตอบโจทย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของกลุ่มผู้พิการ แต่จะดีกว่าไหมหากพวกเขาได้รับโอกาสในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าและบริการอย่างเท่าเทียมมากขึ้น ?
กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เผยจำนวนผู้พิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวผู้พิการ จำนวน 2,102,384 คน คิดเป็นร้อยละ 3.18 ของประชากรทั้งประเทศ โดยแบ่งประเภทความพิการที่มากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ
ลำดับที่ 1 การเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จำนวน 1,054,786 คน คิดเป็นร้อยละ 50.17
ลำดับที่ 2 การได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 393,027 คน ร้อยละ 18.69
ลำดับที่ 3 การเห็น จำนวน 187,546 คน ร้อยละ 8.92 ตามลำดับ
แม้ตัวเลขจำนวนของผู้พิการในปัจจุบันคิดเป็นเพียง 3.18% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ตัวเลขเหล่านี้กลับน่าสนใจและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่ Aging Society ซึ่งอายุที่เพิ่มขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดความพิการ และอาจนำไปสู่ Disabled Society ได้ในอนาคต
หากมองในมุมของธุรกิจแล้ว แนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้พิการ อาจเรียกได้ว่าเป็นโอกาสหนึ่งที่องค์กรจะปรับตัวเป็นตัวเชื่อมให้กลุ่มผู้พิการสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการขององค์กรได้อย่างเท่าเทียม ถือเป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น และพวกเขาเหล่านี้จะกลายมาเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อ อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต
สิ่งสำคัญที่องค์กรต้องคิดต่อคือจะพัฒนาอย่างไรให้สินค้าหรือบริการสามารถรองรับและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้พิการได้มากที่สุด การดึงกลุ่มผู้พิการเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาเป็นวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ เพื่อให้องค์กรเข้าใจถึงข้อจำกัดทางด้านร่างกาย อุปสรรคของการใช้งาน และออกแบบผลิตภัณฑ์
โดยคำนึงถึงข้อจำกัดของกลุ่มผู้พิการโดยเฉพาะ ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปทรง ขนาด น้ำหนัก วิธีการใช้งาน และส่วนอื่น ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ ผู้พิการเข้าถึงได้ และมีประโยชน์ต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง
ท่ามกลางความตระหนักรู้ของผู้คนในเรื่องความเท่าเทียมและความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคม ลูกค้ายุคใหม่ไม่เพียงแต่มองหาสินค้าหรือบริการที่ดีมีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังมองหาองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมอีกด้วย หากองค์กรใดสามารถเสนอขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้ ก็มีโอกาสที่จะชนะใจลูกค้าได้เช่นกัน
ในอนาคตเราอาจจะเห็นองค์กรจำนวนมากหันมาผลักดันการผลิตสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุมากขึ้น เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าและได้รับบริการอย่างเท่าเทียม
อ้างอิง : https://dep.go.th/images/uploads/files/Situation_dep64.pdf
https://www.wordstream.com/blog/ws/2022/01/13/digital-marketing-trends-2022
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,768 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2565