คุณพระอาจารย์อ้าง อาจสู้สาครฯ

23 เม.ย. 2565 | 04:54 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2565 | 11:59 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เบื้องหลังชีวิตคนใหญ่ในโลกภพนี้ หากศึกษาให้ดีจะพบว่าล้วนมีพลังหนุนหลัง อย่างที่ฝรั่งเรียกว่าลมใต้ปีก_wind beneath one’s wings มาวันนี้ก็จักขอนำเสนอ กรณีศึกษาคุรุปุชนียคุณแห่ง พระเทพมงคลรังษี หลวงปู่ดี วัดเหนือ ผู้เปนลมใต้ปีกแห่งสมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงฯ พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  สมเด็จพระญาณสังวรฯ   
 

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก(เจริญ สุวัฒนะมหาเถระ) ผู้ซึ่งภายหลังรับสถาปนาพระอัฐิเปน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงฯพระองค์นี้ แม้นทรงถือกำเนิดมาในครอบครัวที่พระชนกเปนข้าราชการมหาดไทยระดับอำเภอ ก็ทรงกำพร้าพระชนกเสียแต่ยังทรงพระเยาว์ มีแต่พระชนนี และคุณโยมป้า คอยอุปถัมภ์ดูแล

บนเส้นทางสายธรรมนั้น พระชาติภูมิ ต.ปากแพรก จ.กาญจนบุรี ได้เหหันเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร ด้วยเหตุโยมพระชนนีบนบานศาลกล่าวยามพระองค์เมื่อคราวหนึ่งประชวรหนักว่า “ถ้าหาย จะให้บวช” 
 

การณ์ก็เปนดังแรงสินบน 
 

เมื่อแรกเข้าเปนสามเณร หลวงพ่อดี พุทธโชติ สมภารวัดเหนือ รับธุระเปนอุปัชฌาย์ ในฐานะคุรุ ผู้มีหน้าที่อุปัฏฐากค้ำชู สมณะผู้เคร่งครัดในวินัย พระบ้านที่ไม่ธรรมดาสืบวิชามาแต่หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาสรณะ ให้การศึกษาเล่าเรียนชี้ช่องส่องตะเกียงให้สามเณรเจริญในวัยสิบสี่ เห็นความงดงามฉ่ำเย็นของพระธรรมรส ซึ่งกำกับพรหมจรรย์เพศภายใต้ศีลสิกขา ท่านสอนวิชาการศาสนากิจ ต่อวิชาเทศนา พระสูตรพุทธมนต์ต่างๆ ด้วยวาจากรรมบท ทุกค่ำ

การ “ต่อ” วิชา “ต่อ” คาถา นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ประเพณีโบราณฝึกสติ ฝึกสมอง ใช้วิธีจำ ห้ามจด จะมาง่ายๆอย่างมือถือถ่ายรูปแชะๆเปนปัจจุบันหาได้ไม่ขี้คร้านสมองจะฝ่อและสติคอมพิวเตอร์ (AI)กลับแข็งแรงแทน หลวงพ่อสมภารนั้นเปนที่ลือนามในความเข้มงวด ปฏิบัติตรง ผู้คนขนานนามว่าท่านดุนัก ดูจากรูปถ่ายจะเข้าใจเอง แม้ท่านจริงจัง แต่วิสัยวัตรก็เปี่ยมได้ด้วยเมตตา ท่านมีจิตเด็ดเดี่ยว เมื่อประสงค์จะกราบสักการะ เคยได้ดั้นด้นธุดงค์ไปถึงเกศธาตุ สุวรรณมหาเจดีย์ ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง มาแล้ว 
 

การ “ต่อ” หนังสือค่ำๆ ทุกคืน ท่านสมภาร ต่อ ด้วย อริยะทรัพย์ 7 ประการ คราวละวรรค ได้แล้ว เริ่มใหม่ซ้ำวรรคที่ได้ แล้วค่อยต่อวรรคใหม่ เปนลำดับอนุกรมซ้ำทวีต่อไปๆ อาศัยอำนาจสมานัตตตาความสม่ำเสมอ สามเณรผู้ศิษย์ สามารถรับถ่ายทอดได้ครบทุกวรรคตอนไม่ขาดหาย ได้เข้าใจซึมทราบในความหมายของข้อธรรมโดยละเอียดกระจ่างแจ้ง เพียงบวชเณรพรรษาแรก ท่านสมภาร ก็ให้ ลองวิชา เทศนาปากเปล่าให้อุบาสกอุบาสิกาสดับฟัง_ ได้ผลสำเร็จสัมฤทธิ์เกินวัย ยามศิษย์ปรารถนาวิชาบาลีอันที่จะทำให้แตกฉานในพุทธพจน์ แม้นท่านครูได้เคยเรียนเพียรศึกษาบาลีปาฏิโมกข์ ทว่าความก้าวหน้าทางวิทยาการอักษรศาสตร์ภาษาทันสมัยสำนักท่านครูอาจไม่สู้สำนักอื่น เนื่องเพราะเจ้าสำนักปรารถนาปฏิเวธ มุ่งวิปัสสนาธุระบำเพ็ญเพียรฝึกจิตเดินญาณมีสมาบัติเปนทิพย์สมบัติที่ปรารถนา 
 

ทว่าความเปนพ่อในทางธรรม สัทธิวิหาริก_อันเตวาสิก  สมภารผู้ครู ไม่ทอดธุระ หอบศิษย์สามเณร โนงเนงขึ้นรถไฟ ไปสถานีปลายทางวัดเสนหา (อ่าน_สะเหน่หา) พระปฐมเจดีย์ โรงเรียนพระปริยัติธรรม สำนักพร้อมบาลีไวยากรณ์ ใช้คอนเนกชั่นส่วนตัวหาที่อยู่ที่เรียนให้ศิษย์ นำตัวไปฝากฝังกับพระครูสังวรวินัยเจ้าอาวาสประธานสำนักลือนามหมายให้แตกฉานในทางบาลีปกรณ์ ท่านครูตั้งปรารถนามุทิตายินดี มั่นใจในสมองปัญญาศิษย์ต้องเรียนสำเร็จไม่ช้าเอ่ยปาวารณา จะสร้างโรงเรียนไว้คอยท่า ยามศิษย์สำเร็จกลับมาจะมีที่ทำการเดินงานสอนศาสนาปาลีไวยากรณ์ ข้างศิษย์สามเณรผู้ต่อมาได้เปนประมุขสงฆ์ทั่วสากลภายหน้าข้าง ก็สนองคุณกตัญญุตา ตั้งหน้าพากเพียร


 

เวลาผ่านไปสองปี ท่านพระครูวัดเสนหา มรณภาพกะทันหัน สมภารวัดเหนือจับรถไฟเข้านครปฐม ร่วมการปลงศพ ณ ที่นั้น สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์สมเด็จเจ้าอาวาสวัดหลวงบวรนิเวศวิหาร เสด็จมาในการพระราชทานเพลิงศพ ท่านครูได้โอกาส รีบนำสามเณรน้อยเข้าเฝ้าขอประทานพระวโรกาสถวายตัว
 

ช้างเผือกในดงจึงได้เข้าเมือง ถึงยังเล็กนักแต่ก็นับเปนที่ช้างหลวง ด้วยพระเมตตารับไว้ในพระอุปการะปกครองใช้เวลาเพียงอีกสองปี สามเณรเจริญรูปนี้ก็สำเร็จขั้นเปรียญ ถึง 4 ประโยค
 

2474 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชทานผ้าไตร ณ วัดบวรฯ จำเพาะให้แด่ภิกษุสามเณรสำเร็จเปรียญ ก็ปรากฏ สามเณรเจริญ รูปเดียวเท่านั้นที่ได้สิทธิเข้ารับพระราชทาน ยังความปลาบปลื้มใจให้แก่คุรุปูชนียาจารย์ทุกท่าน
 

2476 ครบวัย 20 อุปสมบทได้ ณ พัทธสีมาวัดเหนือเทวสังฆาราม สามเณรเจริญ สำเร็จภิกขุภาวะ เปนสมณะมหานิกาย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พระครูอดุลยสมณกิจ (สมภารดี) ครูพระคนแรกนั่นเองเปนอุปัชฌาย์ พระลูกศิษย์จำพรรษาที่วัดเหนือเปนเวลา 1 ปี ปฏิบัติสังฆกิจหน้าที่เปนอาจารย์พระปริยัติธรรม ในโรงเรียนที่ “หลวงพ่อสร้างไว้คอยท่า” ฉลองศรัทธาอาจารย์พระครู 
 

เพื่อการศึกษาที่สูงขึ้นไป แม้จะอาลัย แต่เพื่อความก้าวหน้าของศิษย์ การศึกษาที่สำนักวัดบวรนั้นจะให้เหมาะต้องญัตติอุปสมบทซ้ำเปนธรรมยุติ คราวนี้สมเด็จเจ้าอาวาส ได้เลื่อนขึ้นดำรงสมณศักดิ์ เปนสมเด็จพระสังฆราชเจ้าแล้ว ประทานอุปสมบท ทัฬหีกรรม ญัตติซ้ำเปนพระธรรมยุติ ณ พัทธสีมาวัดบวรนิเวศวิหารรับประทานฉายา สุวัฑฒโน แปลว่า ดี_เจริญ/ สุ = ดี/  วัฒน = เจริญ ผูกวากยสัมพันธุ์ ครูดี_ศิษย์เจริญ ซึ่งร่วมบุพกรรมหนุนเนื่องกันมาแต่หนหลัง ให้มีทั้งเจริญและ “ดี”
 

ไม่รอให้สำเร็จเปรียญสูงสุดก่อนจึงจักกลับมารับหน้าที่วิธีพระปริยัติธรรมให้วัดเหนือ พระสุวฑฺฒโน แบ่งเวลาแวะเวียนกลับไปกาญจนบุรี  สนองคุณปูชนียาจารย์ สร้างชื่อลือไกลว่าบ้านเหนือนี้ไซร้แม้ห่างบ้านไกลเมือง ยังมีโรงเรียนพระเผยแผ่ศาสนา มีครูเปนมหาบาเรียญจากบางกอกมาสอน ใช่ว่าบ้านนอกคอกนอก และพระมหาผู้มีกตัญญุตาคุณรูปนี้ ในเวลาไม่นานสำเร็จเปรียญเอกสูงสุดชั้นที่ 9 ! ทั้งที่เรียนไปทำงานไป


 

หลังสำเร็จเปรียญเอก ท่านรับหน้าที่เปนสมาชิกสังฆสภาโดยวุฒิตำแหน่ง เปน ผ.อ. สำนักเรียนวัดบวรฯ เปนพระวินัยธรศาลสงฆ์ชั้นอุทธรณ์ และเลขานุการในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
  

6 ปี ให้หลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกพระมหาเจริญ ขึ้นเปนพระราชาคณะที่ พระโศภน คณาภรณ์ ในวัย 34 ท่านเจ้าคุณหนุ่ม พระโศภนคณาภรณ์ รับธุระหน้าที่ กรรมการมหามงกุฏราชวิทยาลัย, กรรมการมหาเถรสมาคมในปีเดียวกันนั้น พระราชทานเลื่อน พระครูอดุลยสมณกิจผู้เฒ่าหลังดำรงสมณศักดิ์พระครูมา 32 ปี ขึ้นเปนพระราชาคณะที่ พระวิสุทธิรังษีฯ เปนเจ้าคุณพร้อมๆกันทั้งครู 74 ศิษย์ 34
 

ปี 2495 พระราชทานเลื่อนพระโศภนคณาภรณ์ เปนพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม (แปลว่า ผู้เปนอาภรณ์อันงามของหมู่คณะ)
 

ปี 2498 พระราชทานเลื่อนพระโศภนคณาภรณ์ เปนพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม 
 

ปี 2499 พระราชทานเลื่อนพระโศภนคณาภรณ์ เปนพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมวราภรณ์ปีถัดมา จึงพระราชทานเลื่อน เจ้าคุณพระวิสุทธิรังษีผู้เฒ่าเปนพระราชาคณะชั้นราช ที่พระมงคลรังษีวิสุทธิ์
 

ปี 2504 พระราชทานเลื่อนพระธรรมวราภรณ์ เปนพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ (ปากชาวบ้านเรียกชั้นพรหม) ที่ พระสาสนโสภน (ผู้ยังพระศาสนาให้งาม)
 

อีกสามปี พระราชทานเลื่อน เจ้าคุณพระมงคลรังษีวิสุทธิ์ เปนพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพมงคลรังษี กาญจนบุรีธรรมธัช รัตตัญญูสุนทรฯ ครานั้นเจ้าคุณผู้เฒ่าชนมายุได้ 91 ปี มิทันได้เห็นศิษย์รักรับพระราชทานเปนสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวรฯ ท่านครูเฒ่า เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีผู้ไม่มีใบปริญญาบาเรียญวุฒิ ก็จำต้องพ่ายแพ้แก่กายสังขารตามกฎพระไตรลักษณ์อนิจจังไม่เที่ยงพุทธพจน์บรมศาสดา ท่านลมใต้ปีกผู้หนุนเนื่องส่งสายสุดกำลัง อยู่เสวยมุทิตาสุขชมบารมีลูกศิษย์ได้ เพียงสามปี ถึงวัย 94 ก็ล่วงเข้าแดนนฤพาน 
 

หากทราบได้โดยญาณวิถีใดๆว่าสามเณรลูกพระที่ท่านอุปฐาก อุปถัมภ์ ด้วยจริงใจหมายให้บินไปสู่ที่สูง หลังจากก้าวหน้าในราชการพระชั้นธรรม สามารถเดินหนบนอากาศไต่ระดับเพดานได้ถึงพิกัดสูงสุด ที่สกลมหาสังฆปรินายก ทั้งยังได้รับสักการะจากชาวสากลพุทธศาสนิกทั่วโลก คงจะต้องมีความปีติปลื้มยินดีเปนล้นพ้นล้นประมาณเปนแน่แท้  ท่านเจ้าคุณผู้เฒ่าสำเร็จภาระหน้าที่ทางโลกย์แล้ว มีลูกนัยน์ตาสุกใสดั่งแก้ว
 

ท่านสมเด็จผู้ศิษย์ แม้รับภาระทางโลกย์หลายปี ก็เปนที่ทราบชัดถึงคุณวิเศษสมบัติอรหันตธรรม สู้อดทนอุตส่าห์สงเคราะห์พุทธบริษัทแม้สังขารจะต้องตกที่ยากทั้งที่หมดภาระส่วนตนมานานแ ยังแผ่เมตตาสงเคราะห์สรรพสัตว์จนชนมายุ ครบ 100
 

สองพ่อ_ลูก ครู_ศิษย์ เเสดงแบบอย่างสูงสุดของการกระทำหน้าที่เชิงมนุษย์ หมดจดครบถ้วนทั้งทางโลกทางธรรม ซ้ำท่านครูนั้นยังทรงคุรุหน้าที่บินตรงโบกปีก ล่วงนำทางผู้ศิษยาสู่แดนนฤพาน คุณพระอาจารย์อ้างอาจสู้สาครฯ


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,777 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2565