มวยปล้ำอย่างซูโม่ที่โด่งดังไปทั่วโลกนั้น เขาถือกันนักว่าเปนศิลปะการต่อสู้ชั้นสูงของญี่ปุ่น การจะดูซูโม่สู้กันให้บันเทิงเริงใจมันไม่ยาก กติกาการแข่งขันของซูโม่ออกจะเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มีอยู่เพียง 2 ข้อเท่านั้นเอง
1. นักมวยปล้ำคนใดล้มลงโดยเท้าทั้งสองข้างไม่ติดพื้น(หงายเก๋ง) ถือว่าแพ้กับ
2. นักมวยปล้ำคนใดล้มลงนอกเขตวงล้อม ถือว่าแพ้ ง่ายๆเท่านี้
เวทีการแข่งขันเขาจะจัดเปนวงล้อมเรียกว่า โดเฮียว เอาฟางมาฟั่นถักเปนเชือกเกลียวๆ ฝังลงในดินหน่อยนึงพอสวย_ล้อมไว้ ตามมาตรฐานแล้วเขาจะให้มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดสัก 4.55 เมตร ส่วนพื้นผิวทำให้เรียบด้วยดินผสมทรายหนาประมาณ 50 เซนติเมตร นอกวงล้อมนี่เองเขาจะโปรยด้วยทรายละเอียด เมื่อนักมวยปล้ำก้าวเท้าออกไปหรือล้มลงนอกวง ทรายก็จะติดตามเนื้อตัวเป็นที่สังเกตได้ชัด จัดว่าแพ้ตามหลักการข้อ 2. ข้างต้น
อีทีนี้การจะเปนซูโม่นั้นก็ไม่ง่ายไม่ใช่ว่าสักแต่อ้วนใหญ่แล้วเปนซูโม่กันได้ มันต้องอ้วนแต่คล่องและมีกำลังวังชา จะมาเปนซูโม่นี่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตนภายใต้กฎของสมาพันธ์ซูโม่แห่งชาติของเขา เช่น ต้องไว้ผมมวย (ทรงคล้ายซามูไร)ไม่ขับรถขับรา และแต่งกายตามลำดับศักดิ์ของซูโม่
ริคิชิ_ ซูโม่เด็กจะต้องสวมแต่เสื้อคลุมผ้าฝ้ายที่เรียกว่า ยูคาตะ ไม่ว่าจะถูดูจะร้อนหรือหนาว และสวมรองเท้าเกตะที่ทำจากไม้เท่านั้น รูปทรงอย่างที่เราเรียกว่าเกี๊ยะละมั้ง นักมวยปล้ำลำดับชั้นถัดมา ได้รับอนุญาตให้สวมเสื้อคลุมทับยูคาตะอีกชั้นหนึ่ง และสวมรองเท้าโซริที่ทำจากฟางสานได้ นุ่มหน่อย
ส่วนเซคิโทริ ถือว่าเปนนักมวยปล้ำระดับสูงจะใส่เสื้อคลุมผ้าไหมและประดับผมมวยอย่างงามเมื่อออกงาน ซูโม่ทั้งหลายใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในโรงซูโม่ ซึ่งแต่ละแห่งควบคุมโดยครูฝึกซึ่งมักเปนอดีตนักมวยปล้ำ
นักมวยปล้ำเด็กมีศักดิ์ต่ำจะต้องตื่นแต่ตี 5 มารับใช้ท่านอาวุโสทำมันหมดแหละ ทั้งงานครัว ล้างห้องน้ำ หรือแม้แต่คอยถือผ้าขนหนูให้ในขณะที่รุ่นใหญ่อาบน้ำ ทุกคนที่โรงซูโม่นี้ไม่ได้รับอนุญาตให้กินข้าวเช้า เขาจะให้กินมื้อใหญ่ไปเลยตอนเที่ยง และจะต้องนอนกลางวันหลังอาหารเที่ยงมื้อใหญ่นั้น_เรียกเนื้อ ตลอดวันที่เหลือหลังจากนั้นก็เปนชั่วโมงการเรียนและฝึกฝน
ส่วนเซคิโทริรุ่นใหญ่นอนตื่นได้สายสักชั่วโมงมีหน้าที่เพียงฝึกฝนมือตวัดให้ลายเซ็นแฟนคลับ หรือไปออกงานกับสปอนเซอร์ตอนเย็นๆ (อันนี้คนหมั่นไส้ก็ชอบนินทา)
ข้างอาหารการกินที่เรียกเนื้อดีชะมัดก็คือ จังโกะนาเบะ_หม้อไฟใส่เนื้อใส่ผักที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง ซึ่งแต่ละสำนักซูโม่ ก็จะมีสูตรต้มเคี่ยวแตกต่างกันไป บางเจ้าใช้น้ำซุปกระดองตะพาบ บางเจ้าเน้นถั่วและมิโสะ บางเจ้าใช้กระดูกอ่อนไก่มาเคี่ยวทำ ส่วนใครเปนคนปรุงและเก็บล้างนั้นหรือ?
ก็คือริกิชิ_ซูโม่เด็ก
นักมวยปล้ำชั้นธรรมดารุ่นเล็กนี้ไม่ได้รับเงินเดือนนอกจากค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ จนกว่าจะได้เลื่อนลำดับชั้นเปนเซคิโทริ ซึ่งก็ถูกเขาแบ่งระดับอีกแหละจากจุเนียร์ (จูเรียว) เมื่อก่อนนี้ได้รับเงินเดือนสักล้านเยน ไปจนสูงสุดระดับแชมป์(โกซึนะ) ได้รับเงินเดือนราวสองสามล้านเยน
ส่วนโบนัสจากการแข่งทัวร์นาเม้นต์แยกต่างหากจะแบ่งแจกใครบ้างที่มีอุปการะ_คุณ แต่หนหลังก็จัดแจงกันไป ส่วนเงินรางวัลที่จะได้รับในการแข่งขันดิวิชั่นสูงๆก็ราว 10-20 ล้านเยน
แบบธรรมเนียมของวงการซูโม่นี่ก็มิใช่ธรรมดา ตรงเวทีซูโม่นั้นเขานับเปนสถานศักดิ์สิทธิ์ ห้ามผู้หญิงเหยียบย่างเข้าไปข้างใน ก็คงมีคติคล้ายๆเจดีย์ดอยสุเทพและพระธาตุเมืองเหนือบ้านเรา ที่เขาฝังพระธาตุไว้ใต้พื้น จึงห้ามผู้หญิงเข้าเหยียบย่างจะเหมือนว่าโดนมาตุคามของคนที่ไม่ใช่แม่มาคร่อมหัว
เคยมี Grand tournament ครั้งหนึ่งจัดที่โอซาก้า โดยกติกาเกียรติยศแล้ว ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเปนผู้มามอบรางวัลด้วยตัวเอง เผอิญว่าปีนั้นท่านผู้ว่าเปนสตรี ไม่มีสิทธิย่างเข้าเขตเวทีซูโม่ จึงต้องหาผู้แทนมามอบให้ ฝ่ายสิทธิสตรีไม่เข้าใจว่าซูโม่มีที่มายาวนานและเกี่ยวพันล้ำลึกกับการศาสนาชินโตมาถึงยุคนี้แล้วไม่ปรับปรุงแก้ไข? สมาคมซูโม่เขาก็ว่า ไม่เปนไรไม่แก้หรอกคงไว้ตามเดิมนี่แหละ ให้รองผู้ว่ามาแทนก็ได้ หรือไม่ก็ใครก็ได้ที่ใหญ่กว่าผู้ว่า แค่ขอให้เปนผู้ชายอธิบดีกรมการปกครองก็ได้ รองปลัดก็ได้ (ถ้ามี)
ที่นี้ถ้าหากว่าท่านใดอยากไปซึมซับแนวคิดและชีวิตวิถีซูโม่ หมดโควิดก็ต้องไปแถวย่านเรียวโกกุอันเมืองซูโม่แห่งนี้จะเห็นแต่นักซูโม่เดินกันเต็มไปหลายอย่างในเมืองเปนไปเพื่อซูโม่ อาหารจานใหญ่ เสื้อผ้า//รองเท้า ขนาดใหญ่ oversize ตู้โทรศัพท์สมัยยังไม่ฮิตมือถือก็ใหญ่กว่าปกติมีพื้นที่ให้ยืนกว้างขึ้นกว่าตู้ธรรมดา
สนามแข่งจริงก็มี จุคนได้ตั้งหมื่น
ทีนี้ว่าของศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างของซูโม่ ก็คือเข็มขัด เขาใส่กันไม่ซัก เหมือนทนายบ้านเราใส่ครุย แถบเนติบัณฑิตต้องเก่าหมองสยองคร่ำ เอาไว้ขู่ทนายเด็กกว่า ว่าข้านี่เก๋าจริง เข็มขัดซูโม่นี้ท่านเจ้าของตายแล้วไม่ทิ้ง_เอาใส่พิพิธภัณฑ์
เคยมีนักมวยปล้ำระดับสูงสุดคนหนึ่งชื่อ อาสะโชริว แกเปนคนถนัดซ้ายใส่เข็มขัดแก่เฒ่าหราหรู ปล้ำชนะรางวัลมาหลายคราว มีอยู่คราวหนึ่งได้แชมป์แต่ดันเผลอขึ้นไปรับรางวัลด้วยมือซ้ายอันเปนมือต้องห้ามตามกฎธรรมเนียมดั้งเดิม ซึ่งผู้ชนะจะต้องรับรางวัลด้วยมือขวาเท่านั้น
พลันความบรรลัยก็เกิดขึ้นในชีวิตโยโกซึนะคนนี้ แฟนคลับและประดาคนทั่วไปคาดหวังว่าเขาควรมีสติ และเคร่งครัดรักษาวินัย ใช้ชีวิตกับกฎระเบียบให้เปนตัวอย่างสังคม และแล้วคะแนนเสียงยอดไลค์ก็หายวูบลง แม้ว่าจะแข็งแกร่งมากสุดในปฐพีก็แค่นั้นเถอะ
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,785 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565