ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

05 มิ.ย. 2565 | 22:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มนุษย์ทุกคนล้วนมีสัญชาตญาณของการดิ้นรน เพื่อความอยู่รอดด้วยกันทุกคน เมื่อมีภัยกล้ำกรายเข้ามาสู่ตัว ไม่มีใครที่จะยอมนอนงอมืองอเท้า ไม่ยอมดิ้นรนเหมือนกันหมดทุกคน แม้กระทั่งยาจกหรือคนข้างถนน ถึงแม้จะดูเหมือนว่าเขาจะอยู่นิ่งเฉย เหมือนทองไม่รู้ร้อน แต่โดยแท้ที่จริงแล้ว เราก็อาจจะเห็นเขาดิ้นรนเหมือนกัน เพียงแต่วิถีทางการดิ้นรนของเขา เราอาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ หรือช่องทางในการดิ้นรนของเขา อาจจะเป็นสิ่งที่ปุถุชนคนธรรมดาเขาอาจจะไม่คิดเหมือนเขาก็ได้ สำคัญที่การเอาชีวิตรอดของเขานั้น นอกเหนือความคาดหมายของเราเท่านั้นเองครับ 
 

วันนี้หากเรามองไปที่ประเทศเมียนมา เราจะเห็นมีอะไรแปลกๆ เข้ามาสู่ชีวิตของเขาค่อนข้างจะเยอะกว่าคนไทยเราทุกคน แต่ต้องมองว่านั่นคือการดิ้นรนเอาตัวรอดของเขาครับ ผมจึงมองเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ด้วยสถานะหน้าที่ของผม ทำให้ผมได้มีโอกาสพบเจอกับแทบจะทุกกลุ่มชนชั้นของเขา ยิ่งทำให้ผมได้มีโอกาสเห็นสไตล์การดิ้นรนของเขาเกือบจะทุกรูปแบบครับ ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและต้องเอามาเป็นบทเรียนให้เราเห็นและดูเป็นตัวอย่างไว้ครับ ว่าการหมดสิ้นประชาธิปไตยนั้นย่ำแย่แค่ไหน ดังนั้นเรายังถือว่าโชคดีมาก ที่ได้เกิดมาบนพื้นแผ่นดินไทย เราจึงควรจะต้องรักษาไว้ให้ดีครับ 

 

ถ้าเรามาดูตั้งแต่ระดับล่างสุดของประชาชนชาวเมียนมา เราจะเห็นภาพที่น่าเห็นใจกับชะตาชีวิตของเขาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะข่าวที่ปรากฎทางหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ที่ช่วงสองวันมานี้ เห็นภาพแม่อุ้มลูกน้อยเดินผ่านลำน้ำที่ภาคใต้ของเรา เพื่อเข้ามาหางานทำในประเทศไทย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ไทย ซึ่งเขาก็ต้องทำตามหน้าที่ในการปกป้อง มิให้มีการผ่านแดนอย่างผิดกฎหมาย แต่แม่ที่อุ้มลูกหนีและพลัดหล่นลงไปในแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว เจ้าหน้าที่ทหารที่ทำหน้าที่อยู่ ได้ลงไปช่วยชีวิตเด็กน้อยขึ้นมาก่อน และจึงตามไปช่วยแม่
 

นี่เป็นภาพที่สะเทือนใจผมมาก จนต้องเปลี่ยนช่องหนี ไม่อยากเห็นภาพนั้นเลย เป็นบทละครชีวิตที่แสนเศร้าจริงๆ ยังมีอีกหลายภาพหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมผู้ที่เล็ดรอดเข้ามาทางพรมแดนไทย-เมียนมา ที่เป็นแรงงานถูกจับกุม ถามว่าแล้วทำไมเขาไม่เข้ามาแบบถูกต้องตามกฏหมายละ เราก็อย่ามองข้ามว่า รายได้ประชากรต่อคนต่อหัวของเขาในวันนี้ มีอยู่เพียง 1,245 US$ เท่านั้น หรือประมาณสามพันกว่าบาทต่อเดือน ซึ่งน้อยมากๆ แต่ถ้าเขาเดินทางเข้ามาแบบถูกต้องตามกฎหมาย คนจนจะต้องทำงานกันเป็นปีโดยไม่ต้องดื่มกินหรือบริโภคสินค้าจากเงินที่หามาได้ทั้งปีเลย ถึงจะมีโอกาสเดินทางเข้ามาหางานที่บ้านเราได้ แล้วเขาจะมีปัญญาที่ไหนเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายละครับ จึงจำต้องดิ้นรนหาทางรอดด้วยการทำผิดกฏหมายเข้าเมือง เสี่ยงภัยเดินเท้าเข้ามาไงละครับ

 

 

หากมองขึ้นไปสูงอีกนิดหนึ่ง เราจะเห็นคนที่พอมีอันจะกินในเมียนมา พยายามดิ้นรนหาช่องทางเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อหางานทำ หรือไม่ก็เดินทางออกมาหาช่องทางในการศึกษากันที่ต่างประเทศ ประเทศที่ง่ายที่สุดในวันนี้ ก็หนีไม่พ้นไทยละครับ ปัจุบันนี้ต้องยอมรับว่าแรงงานต่างด้าวที่มากที่สุดในประเทศไทย ก็คือแรงงานชาวเมียนมานี่แหละครับ
 

ผมจึงอยากจะให้ภาครัฐเรา มีการคัดกรองกลุ่มแรงงานที่มีทักษะกับแรงานไร้ทักษะออกมาให้ชัดเจน เราจึงจะได้ประโยชน์จากงานนี้อย่างมหาศาล เพราะอย่าลืมว่าแรงงานที่มีทักษะนั้น รัฐบาลต้องลงทุนไปกับประชาชนมากน้อยเพียงใด กว่าจะได้ผู้ที่จบการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลา เงินทุนและสติปัญญาอีกมากมาย ทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่ถ้าเราคัดกรองจากกลุ่มที่เข้ามาในฐานะแรงงาน เราจะมีแต่ได้ไม่มีเสียเลยครับ
 

ถ้ามองไปที่กลุ่มเศรษฐีเมียนมา วันนี้ได้มีกลุ่มเศรษฐีเมียนมาเข้ามาแสวงหาช่องทางในการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอยู่เยอะมาก เท่าที่ผมได้สัมผัสและพบเจอ ก็หลายสิบรายไปแล้ว และที่ยังไม่ได้มาพบผม ผมเชื่อว่ามีมากกว่าที่มาพบผมเยอะมาก ผมเชื่อว่าคนกลุ่มนี้เป็นนักลงทุนที่มีศักยภาพสูงไม่แพ้นักลงทุนชาติอื่นๆ เลยครับ
 

ทางรัฐบาลเราเองก็มีสถาบันส่งเสริมการลงทุน ที่ปีๆหนึ่งต้องออกมากระตุ้นให้มีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่บ่อยๆ เพียงแต่นักลงทุนกลุ่มนี้จะแตกต่างจากนักลงทุนต่างชาติที่เราต้องการอยู่บ้าง เพราะนักลงทุนที่เราต้องการนั้น เราต้องการให้เขามาลงทุนพร้อมทั้งเทคโนโลยี่ใหม่ๆ ที่สามารถมาถ่ายทอดเทคโนโลยี่ให้เราได้ ไม่ได้มาลงทุนด้วยเงินเพียงอย่างเดียว ในขณะที่นักลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มนี้ ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านหรือเทคโนโลยี่ใหม่ๆน้อยกว่านักลงทุนชาวไทยเราเยอะ เขาจะมีเพียงเงินทุนเท่านั้น ดังนั้นหากเราจะต้องการให้เขาเข้ามาลงทุน รัฐบาลจะต้องมีนโยบายหรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ว่าเราต้องการอะไรจากเขา หรือเราจะได้อะไรจากเขาบ้างนั่นเองครับ
 

ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าการดิ้นรนเอาตัวรอดของประชาชนชาวเมียนมาในวันนี้ มีทุกสถานะทุกชนชั้น แม้จะยังไม่ได้ก้าวล่วงไปถึงกลุ่มชนชั้นบริหารประเทศหรือนักการเมืองต่างๆ แต่ผมก็เชื่อว่าเขาเหล่านั้น ก็มีการดิ้นรนเช่นเดียวกันครับ แต่ถ้าหากผมขืนวิเคราะห์ต่อไปอีกนิด ผมคิดว่ารถทัวร์ต้องลงที่ผมแน่นอนครับ