สำหรับธุรกิจครอบครัวการสำนึกในเป้าหมายร่วมกันมีความสำคัญมากกว่าสิ่งใด เพราะหากไม่มีเป้าหมายชัดเจนที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนสามารถยอมรับได้ ธุรกิจครอบครัวก็อาจไม่ประสบความสำเร็จดังที่หวัง ทั้งนี้เป้าหมายของครอบครัวส่วนใหญ่คือการรักษาทรัพย์สินมรดก สร้างการเติบโต และสามารถส่งต่อสู่รุ่นต่อไปได้ ซึ่งต้องอาศัยการกำกับดูแลที่ดีด้วย
อย่างไรก็ตามมีการศึกษาพบว่าการให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลมักมีความสัมพันธ์กับอายุและขนาดของธุรกิจ โดยยิ่งครอบครัวมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีสมาชิกครอบครัวหลายรุ่นในธุรกิจมากเท่าไร ก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการกำกับดูแลอย่างเป็นทางการมากขึ้นเท่านั้น
และการกำกับดูแลมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญสำหรับธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่มากกว่าขนาดเล็ก โดยเฉพาะธุรกิจที่อายุกิจการตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปและยังคงดำเนินการโดยผู้ก่อตั้ง แต่กระนั้นธุรกิจขนาดเล็กก็ตระหนักดีเช่นกันถึงข้อดีของการกำกับดูแลที่ดี
ทั้งนี้จากรายงานการสำรวจ Family Business Survey 2020/21 โดย Smith & Williamson เมื่อสอบถามว่า โครงสร้างการกำกับดูแลในปัจจุบันของครอบครัวเหมาะสมสำหรับเป้าหมายหรือไม่ พบว่า 69% ของผู้ถูกสำรวจคิดว่าการจัดการด้านกำกับดูแลในปัจจุบันของตนเหมาะสมสำหรับเป้าหมาย “ทั้งหมด”
ขณะที่มีเพียง 1% ที่คิดว่าที่มีอยู่ “ทั้งหมด” ไม่เหมาะสมสำหรับเป้าหมายและ 6 % ไม่รู้ว่าเหมาะสมสำหรับเป้าหมายหรือไม่ ส่วนสาเหตุของการไม่ใช้ธรรมนูญครอบครัว (ภาพที่ 1) สำหรับผู้ที่ยังไม่มีธรรมนูญครอบครัวพบว่า เหตุผลหลัก (40%) คือครอบครัวมีขนาดเล็กมาก
รองลงมาคือ ผู้ก่อตั้งยังคงทำงานได้ดีอยู่และเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเพียงคนเดียว ซึ่งเมื่อผู้ก่อตั้งยังคงดูแล “แบรนด์” ของครอบครัวอยู่ จึงดูเหมือนว่าจะมีความเป็นไปได้น้อยที่ค่านิยมครอบครัวจะหายไป
แม้ผู้ถูกสำรวจไม่ถึง 1 ใน 3 จะบอกว่าปัจจุบันมีธรรมนูญครอบครัวแล้ว แต่กว่า 2 ใน 3 คิดว่าการกำกับดูแลของตนเพียงพอแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ดูเหมือนจะพอใจกับสภาพการณ์ปัจจุบันของตนแล้ว อย่างไรก็ตามมากกว่าครึ่งของผู้ที่ไม่มีธรรมนูญครอบครัวคิดว่าจะต้องใช้โครงสร้างการกำกับดูแลอย่างเป็นทางการในอีก 2 ปีข้างหน้า
ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในรายการ “สิ่งที่จำเป็นต้องทำ” ของครอบครัวส่วนใหญ่ เนื่องจากธรรมนูญครอบครัวที่เป็นทางการและขั้นตอนการกำกับดูแลที่ชัดเจนเป็นวิธีการกำหนดและปลูกฝัง ค่านิยมของครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญแม้ในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ
นอกจากนี้ธรรมนูญครอบครัวยังสามารถเป็นรากฐานของการกำกับดูแลครอบครัวได้ แต่ต้องมีเนื้อหาและการประยุกต์ใช้ที่เหมาะสม ทั้งนี้ธรรมนูญควรเป็นเอกสารแนวทางที่ครอบครัวสร้างขึ้นเพื่อประมวลค่านิยม ขั้นตอนและกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งหลายครอบครัวอาจรวมเอาพฤติกรรมที่คาดหวังทั้งจากสมาชิกในครอบครัวและพนักงานเอาไว้ด้วย
อย่างไรก็ตามพบว่า 55% ของผู้ที่มีธรรมนูญแล้วระบุว่ามีการริเริ่มจัดทำโดยคนรุ่นที่ 1 หรือรุ่นที่ 2 แต่หากถูกเสนอโดยคนรุ่นหลังจากนั้น (รุ่นที่ 3 ขึ้นไป) ครอบครัวอาจไม่ทำตาม แต่มีแนวโน้มที่จะหันไปใช้สภาครอบครัวแทน ทั้งนี้สำหรับผู้ที่มีธรรมนูญอยู่แล้ว จุดเน้นอยู่ที่พันธกิจ ค่านิยม และการกำกับดูแลมากกว่าขั้นตอนการแก้ไขข้อพิพาท
สำหรับวิธีการเขียนธรรมนูญครอบครัวนั้น จะต้องไม่ใช่แค่การคัดลอกมาจากครอบครัวอื่น แต่จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละครอบครัวและสะท้อนให้เห็นว่าสร้างขึ้นใหม่ตั้งแต่ต้น โดยทั่วไปที่ปรึกษามืออาชีพจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก และกระตุ้นให้ครอบครัวถามคำถามที่ถูกต้อง นอกจากนี้ธรรมนูญครอบครัวต้องสามารถยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อสะท้อนรูปแบบทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาด้วย
ที่มา: Smith & Williamson. 2022. Family Business Survey 2020/21: Guardians of the future. Available: https://smithandwilliamson.com/en/campaigns/family-business-survey-2021/governance-and-
getting-the-next-generation-involved/
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,790 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2565