ธุรกิจครอบครัวมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของเกือบทุกประเทศ สำหรับในสหรัฐอเมริกาธุรกิจเหล่านี้ถูกเรียกว่า “กระดูกสันหลัง ของอเมริกา” เนื่องจากธุรกิจครอบครัวเหล่านี้สร้างงานใหม่ได้ถึง 2 ใน 3 และจ้างงานเกือบ 48% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากธุรกิจล้มเหลวก็ย่อมจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศชาติ สังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกในครอบครัวของพนักงานที่ว่าจ้างด้วย
อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยก่อนนี้มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ เช่น 90% ของธุรกิจสตาร์ทอัพล้มเหลวภายในปีแรก ขณะที่ธุรกิจ 70% ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านจากรุ่นที่ 1 สู่รุ่นที่ 2 ได้ หรือเพียง 10% ที่สามารถรอดไปสู่รุ่นที่ 3 ได้ และมีเพียง 3% ของธุรกิจที่เหลือเท่านั้นสามารถเปลี่ยนผ่านจากรุ่นที่ 3 ไปสู่รุ่นที่ 4 ได้
ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นว่าความน่าจะเป็นของบริษัทที่จะประสบความสำเร็จในการส่งต่อธุรกิจได้หลายชั่วอายุคนนั้นมีไม่มากนัก ทั้งนี้การเป็นเจ้าของและบริหารธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นมีความซับซ้อนในบางครั้ง และมาพร้อมกับปัญหามากมายที่ทั้งคุ้มค่าและท้าทาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความผิดพลาดของธุรกิจครอบครัวในประเด็นต่างๆ โดยในที่นี้จะเน้นในยุคของเจ้าของรุ่นที่ 2 ดังต่อไปนี้
ประการแรก เสียเวลาในการสร้างการเติบโตของธุรกิจ ความผิดพลาดมากที่สุดของธุรกิจรุ่นที่ 2 คือการเสียเวลาไปกับการเรื่องส่วน แทนที่จะไปมุ่งเน้นทำในสิ่งที่ธุรกิจต้องการเพื่อสร้างการเติบโต ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้แก่
1.ความสับสนในเรื่องตำแหน่ง บทบาท และความรับผิดชอบ
2.เน้นเรื่องส่วนตัวในวัยเด็ก เช่น แม่พ่อรักใครมากกว่า ลูกคนไหนก้าวร้าวกว่ากัน ใครได้รับเงินค่าใช้จ่ายสูงสุดตอนอายุ 13 ปี สุนัขของครอบครัวรักใครมากที่สุด เป็นต้น แม้อาจดูเป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย แต่เป็นเรื่องจริงที่มักพบในบริษัทที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัว
3.มัวสนใจว่าใครทำงานมากหรือน้อย ใครใช้จ่ายมากหรือน้อย ใครมีรายได้มากหรือน้อย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ซับซ้อนซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม
ประการที่สอง ไม่ได้วางแผนถ่ายโอนกิจการที่เหมาะสม เจ้าของธุรกิจรุ่นแรกส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ยังมีรายได้ 1-5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ไม่ได้ถ่ายโอนความเป็นเจ้าของให้กับลูกของตนอย่างเหมาะสมเนื่องจากความซับซ้อนของครอบครัว สิ่งที่ตามมาคือความไม่เป็นทางการและการไม่สามารถคาดการณ์ปัญหาในอนาคตได้นี้ อาจนำไปสู่หายนะทางการเงินและครอบครัวในอีกหลายปีต่อมา
ประการที่สาม การมีโมเดลธุรกิจเพื่อการเติบโต เมื่อวางแผนที่จะถ่ายโอนบริษัทไปสู่รุ่นต่อไป สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องตระหนักว่าการจะประสบความสำเร็จตั้งแต่รุ่นแรก ไปถึง รุ่นที่ 2 ถึงรุ่นที่ 3 จะต้องพัฒนาและสร้างการเติบโต สำหรับเจ้าของรุ่นที่ 2 ต้องเริ่มต้นด้วยการละอีโก้และความคับข้องใจในวัยเด็กออกไป ทั้งนี้การแบ่งความเป็นเจ้าของบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพี่น้อง อาจทำให้เส้นแบ่งระหว่างธุรกิจและครอบครัวไม่ชัดเจน
ดังนั้นการสร้างระบบที่กำหนดบทบาทอย่างชัดเจนเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการแยกปัญหาครอบครัวและธุรกิจออกจากกัน ซึ่งมีองค์ประกอบทางกฎหมายที่เรียกว่าข้อตกลงผู้ดำเนินการซื้อ/ขาย แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องมีการสื่อสารที่เปิดเผยและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติต่อกันและการปฏิบัติตนในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจ
นอกจากนี้เมื่อกำหนดบทบาทภายในบริษัทสำหรับรุ่นที่ 2 ให้พิจารณาว่าใครเก่งในเรื่องใด เช่น ใครมีวิสัยทัศน์มากที่สุด ใครคือพนักงานขายที่ยอดเยี่ยม ใครมีความสามารถในการดำเนินงานหรือการเงินบ้าง เป็นต้น ซึ่งทักษะและแพชชั่นของผู้ก่อตั้งอาจไม่ได้ส่งต่อไปยังลูกๆ เสมอไป แต่ไม่จำเป็นสำหรับบริษัทที่จะประสบความสำเร็จต่อไป เพราะเมื่อถึงเวลาที่รุ่นที่ 2 และ 3 เข้ามารับช่วงต่อ
บริษัทก็มักจะมั่นคงแล้ว ซึ่งคนรุ่นอนาคตเหล่านี้จำเป็นต้องรู้วิธีการเพิ่มหรือลดสิ่งที่ใช้ได้ผลเป็น 2 เท่าหรือ 3 เท่าและปรับตัวไปพร้อมกัน โชคดีที่เจ้าของรุ่นที่ 2 ไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนผู้ก่อตั้งตราบเท่าที่มีแพชชั่นและตัดสินใจอย่างชาญฉลาด อย่าลืมว่าการหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดทางการเงินครั้งใหญ่มีความสำคัญพอๆ กับการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
ประการสุดท้ายความสำเร็จของเจ้าของรุ่นที่ 2 มาจากการต่อสู้ คนรุ่นที่ 2 อาจต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ในครอบครัวกับความสำเร็จทางธุรกิจ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่าที่คาดไว้ก่อนที่จะรับช่วงต่อจากพ่อแม่ ทั้งนี้ความสำเร็จของธุรกิจขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่ง คือ การปฏิบัติต่อกันอย่างเป็นธรรม เป็นมืออาชีพ และด้วยความรัก และจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น
ที่มา: Finaldi, V. 2021. Best practices (and pitfalls to avoid) in second-generation businesses. Available:
https://blog.eonetwork.org/2021/05/best-practices-and-pitfalls-to-avoid-in-second-generation-businesses/
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,794 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565